8 วิธีแก้คอเคล็ดแบบง่าย ๆ และปลอดภัย

คอเคล็ดอาจทำให้รู้สึกปวดคอหรือขยับคอไม่ได้ ดังนั้น วิธีแก้คอเคล็ดต่าง ๆ อาจช่วยให้อาการดีขึ้น โดยวิธีแก้คอเคล็ดมีหลากหลายวิธีที่ทำได้ง่าย ๆ ด้วยตนเอง เช่น การประคบเย็น การประคบร้อน การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ และการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวด

คอเคล็ดเป็นอาการที่กล้ามเนื้อบริเวณคอ ท้ายทอย หรือกระดูกสะบักเกิดอาการตึงหรือแข็งตัว ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การนอนตกหมอน การออกกำลังกายผิดท่า หรือการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ซึ่งอาการคอเคล็ดมักดีขึ้นได้จากการรักษาดูแลตัวเองด้วยวิธีแก้คอเคล็ดต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม หากอาการยังคงไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม

วิธีแก้คอเคล็ด

วิธีแก้คอเคล็ดง่าย ๆ และได้ผลด้วยตนเอง

วิธีแก้คอเคล็ดมีหลากหลายวิธีที่สามารถเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมเพื่อบรรเทาอาการปวดคอ เช่น

1. การประคบเย็น

วิธีแก้คอเคล็ดด้วยการประคบเย็น ควรเริ่มทำภายใน 72 ชั่วโมงแรกหลังจากเกิดอาการคอเคล็ด เพียงนำน้ำแข็งห่อด้วยผ้าสะอาด จากนั้นประคบให้ทั่วบริเวณที่ปวดประมาณ 10–20 นาที วันละ 3–5 ครั้ง เพื่อลดอาการปวดและบวม อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้น้ำแข็งประคบที่ผิวหนังโดยตรง เพราะอาจทำให้ผิวหนังถูกทำลายจากความเย็นจัด (Frostbite)

2. การประคบร้อน

การประคบร้อนเป็นอีกหนึ่งวิธีแก้คอเคล็ดที่ทำได้ง่าย โดยการประคบร้อนอาจใช้แผ่นแปะความร้อน หรือกระเป๋าน้ำร้อน เพื่อประคบทั่วบริเวณคอเคล็ดประมาณ 8–10 นาที ซึ่งอาจช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดบริเวณที่ปวด และลดอาการปวดตึงกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจช่วยให้ขยับคอได้มากขึ้น โดยการประคบร้อนควรทำหลังเกิดอาการคอเคล็ด 72 ชั่วโมง เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงกว่าเดิม

3. การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ

การยืดเหยียดกล้ามเนื้ออาจช่วยคลายกล้ามเนื้อ และลดอาการปวดกล้ามเนื้อได้ โดยวิธียืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อบรรเทาอาการคอเคล็ดมีหลายวิธี เช่น

  • การหมุนไหล่ไปข้างหน้าและข้างหลังเป็นวงกลม โดยชูแขนขึ้น แล้วหมุนไหล่ไปด้านหน้าเป็นวงกลม 6 ครั้ง จากนั้นหมุนไปด้านหลังเป็นวงกลมอีก 6 ครั้งเช่นกัน
  • การหันศีรษะอย่างช้า ๆ ไปด้านข้าง โดยอาจหันจนกว่าจะรู้สึกตึงบริเวณคอและไหล่ จากนั้นค้างไว้ประมาณ 15–30 วินาที และสลับข้าง

การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ควรทำอย่างช้า ๆ และระมัดระวัง เพราะการขยับคอหรือไหล่อย่างรวดเร็วอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ หากรู้สึกปวดอย่างรุนแรงขณะยืดเหยียดกล้ามเนื้อ ควรหยุดทำทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้อาการปวดรุนแรงขึ้น

4. การนวด

วิธีแก้คอเคล็ดเบื้องต้นอาจทำได้โดยการนวดเบา ๆ บริเวณที่ปวด หรืออาจไปนวดที่ร้านกับผู้เชี่ยวชาญ โดยการนวดอาจช่วยคลายกล้ามเนื้อคอหรือหลัง อีกทั้งยังช่วยให้รู้สึกสบาย ผ่อนคลาย และบรรเทาอาการปวดได้อีกด้วย

5. การปรับความสูงของคอมพิวเตอร์

อาการคอเคล็ดอาจเกิดจากการจ้องคอมพิวเตอร์นานเกินไป โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่สูงกว่าหรือต่ำกว่าระดับสายตา ซึ่งอาจทำให้ต้องก้มหรือเงยมองหน้าจอติดต่อกันเป็นเวลานาน ดังนั้น การปรับความสูงของเก้าอี้หรือโต๊ะที่วางคอมพิวเตอร์ เพื่อให้หน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับสายตาอาจเป็นวิธีแก้คอเคล็ดที่เห็นผล และอาจช่วยลดโอกาสเกิดคอเคล็ดในระยะยาวได้อีกด้วย

6. การปรับเปลี่ยนท่าทางการนอน

วิธีแก้คอเคล็ดด้วยการปรับเปลี่ยนท่าทางการนอนอาจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยบรรเทาไม่ให้อาการคอเคล็ดรุนแรงขึ้นและไม่ให้อาการคอเคล็ดกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งท่าทางการนอนที่เหมาะสม ผู้ที่มีอาการคอเคล็ดควรนอนให้ศีรษะและลำตัวอยู่ในแนวเดียวกัน โดยอาจทำได้หลายวิธี เช่น การนอนโดยไม่ใช้หมอน การนอนหมอนที่ช่วยซัปพอร์ตลำคอ 

7. การหยุดทำกิจกรรมที่ต้องใช้คอ

วิธีแก้คอเคล็ดอีกวิธีหนึ่งคือการหยุดใช้คอหรือการทำกิจกรรมที่เสี่ยงทำให้อาการคอเคล็ดแย่ลง โดยกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องใช้กล้ามเนื้อคอหรือต้องหันคอเยอะ ๆ อาจทำให้อาการปวดคอรุนแรงขึ้นได้ ดังนั้น ควรหยุดพักจนกว่าคอเคล็ดจะหายดี ซึ่งระยะเวลาในการรักษาอาจแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของอาการบาดเจ็บ 

8. การใช้ยารักษา

หากรักษาด้วยวิธีแก้คอเคล็ดต่าง ๆ แล้วแต่อาการยังคงไม่ดีขึ้น อาจลองกินยาแก้ปวดต่าง ๆ เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน ยานาพร็อกเซน หรือใช้ยาทาแก้ปวด เมื่อยกล้ามเนื้ออื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการปวดคอหรือท้ายทอยให้ดีขึ้น แต่ถ้าอาการคอเคล็ดรุนแรง อาจจำเป็นต้องใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัขกรเท่านั้น

อาการคอเคล็ดและสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

อาการคอเคล็ดส่วนใหญ่มักดีขึ้นได้เองด้วยวิธีแก้คอเคล็ดต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม บางครั้งอาการปวดคออาจไม่ได้เกิดจากอาการคอเคล็ด แต่อาจเกิดจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น โรคข้ออักเสบ กล้ามเนื้อฉีก หรือเส้นประสาทถูกกดทับ 

โดยควรไปพบแพทย์ หากมีอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • มีอาการคอเคล็ดรุนแรง
  • มีไข้ อ่อนเพลีย หรือง่วงซึม
  • อาการปวดร้าวลงแขนหรือขา
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • ชา อ่อนแรง หรือรู้สึกเหมือนมีเข็มทิ่มทั่วทั้งมือ แขน และขา
  • เกิดอาการปวดคอหลังจากได้รับบาดเจ็บรุนแรงหรือเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์

โดยการรักษาอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยในบางรายอาจจำเป็นต้องผ่าตัดรักษาอาการปวดที่เกิดขึ้น เพื่อให้อาการหายดีและสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้