ยาคลายกล้ามเนื้อ

ยาคลายกล้ามเนื้อ

ยาคลายกล้ามเนื้อ (Muscle Relaxants หรือ Skeletal Muscle Relaxants) คือ กลุ่มยาที่ใช้ลดหรือผ่อนคลายความตึงของกล้ามเนื้อ ยาส่วนใหญ่จะมีผลโดยตรงต่อกล้ามเนื้อ ในขณะที่ยาบางตัวมีผลต่อการทำงานของสมองและระบบประสาทบริเวณไขสันหลังที่ใช้ควบคุมกล้ามเนื้อ โดยตัวอย่างยารักษาที่อยู่ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ไดอะซีแพม (Diazepam) บาโคลเฟน (Baclofen) แดนโทรลีน (Dantrolene) ทิซานิดีน (Tizanidine) โบทูลินัม ท็อกซิน (Botulinum Toxin) และสารที่สกัดจากกัญชา ซึ่งเป็นยาในกลุ่มควบคุม ต้องใช้ภายใต้คำสั่งจากแพทย์เท่านั้น

ยาคลายกล้ามเนื้อ

ยาคลายกล้ามเนื้อแบ่งเป็น 3 ชนิดหลักด้วยกัน ได้แก่

  • ยาหย่อนกล้ามเนื้อ (Neuromuscular Blocking Agents) จะออกฤทธิ์กับตัวรับแอซิติลโคลีน (Acetylcholine) ไปกีดขวางการทำงานของสารสื่อประสาทที่มีผลต่อกล้ามเนื้อ อาจใช้ยากลุ่มนี้ร่วมในขั้นตอนการให้ยาสลบ เพื่อคลายกล้ามเนื้อไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหวในระหว่างที่แพทย์ทำการผ่าตัด
  • ยาคลายกล้ามเนื้อสูตรผสม (Skeletal Muscle Relaxant Combinations) เป็นยาที่มีส่วนผสมของยาคลายกล้ามเนื้อและยาแก้ปวดรวมกันอยู่ในเม็ดเดียว ยาจะช่วยลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อลาย ทำให้กล้ามเนื้อที่หดคลายตัวลง มักใช้รักษาภาวะกล้ามเนื้อหดตัว หรือภาวะที่เกี่ยวกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูก
  • ยาคลายกล้ามเนื้อหดเกร็ง (Skeletal Muscle Relaxants) เป็นยาที่ใช้ลดหรือผ่อนคลายความตึงของกล้ามเนื้อ ตัวยาจะออกฤทธิ์ปิดกั้นการทำงานของระบบประสาทสมองและไขสันหลัง ซึ่งจะลดและป้องกันการเกิดปฏิกิริยาของกล้ามเนื้อจนเกิดอาการกล้ามหดเกร็งหรือแข็งตัวจากการรับสารสื่อประสาท

การออกฤทธิ์ของยาคลายกล้ามเนื้อแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

รักษาอาการกล้ามเนื้อหดตัว (Muscle Spasm) ที่อาจเกิดขึ้นอย่างชั่วคราว หรือต่อเนื่องเรื้อรัง เช่น ปวดหัวจากความเครียด ปวดหลังเรื้อรัง โดยยาที่ได้รับอนุญาตให้ใช้รักษากล้ามเนื้อหดตัว ได้แก่ บาโคลเฟน (Baclofen) แดนโทรลีน (Dantrolene) และทิซานิดีน (Tizanidine)

รักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งหรือแข็งตัว (Spasticity) จากการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อและเส้นประสาท เช่น โรคปลอกประสาทอักเสบ (Multiple Sclerosis) โรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) เส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน โดยยาที่ได้รับอนุมัติให้ใช้รักษากล้ามเนื้อหดเกร็งหรือแข็งตัว ได้แก่ คาริโซโพรดอล (Carisoprodol) คลอร์ซ็อกซาโซน (Chlorzoxazone) ไซโคลเบนซาพรีน (Cyclobenzaprine) เมตาซาโลน (Metaxalone) เมโทคาร์บามอล (Methocarbamol) และออร์เฟเนดรีน (Orphenadrine)

ตัวอย่างรายชื่อยาในกลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ

  • ไดอะซีแพม (Diazepam) เป็นยานอนหลับชนิดหนึ่ง มีทั้งรูปแบบยารับประทาน ยาแบบฉีด และยาสวนทางทวาร แม้ไม่ได้ออกฤทธิ์โดยตรงต่อกล้ามเนื้อ แต่ออกฤทธิ์ต่อสารเคมีในสมอง ช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกผ่อนคลายและทำให้ง่วงนอน
  • โบทูลินัม ท็อกซิน (Botulinum Toxin) เป็นสารที่ใช้ในรูปแบบฉีด ใช้ปิดกั้นสารสื่อประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ นอกเหนือจากการใช้เพื่อศัลยกรรมความงาม ยังสามารถใช้รักษาในผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง (Cervical Dystonia) ภาวะกล้ามเนื้อหดตัวในบริเวณต่าง ๆ และภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ (hyperhidrosis)
  • บาโคลเฟน (Baclofen) เป็นยาคลายกล้ามเนื้อและแก้อาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ใช้ในรูปแบบรับประทานและสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป มักใช้รักษาอาการหดเกร็ง หรือกล้ามเนื้อแข็งตัวจากโรคปลอกประสาทอักเสบ หรือรักษาผู้ป่วยที่กล้ามเนื้อหดเกร็งจากการเจ็บป่วยหรือได้รับบาดเจ็บบริเวณไขสันหลังได้ด้วย
  • แดนโทรลีน (Dantrolene) ช่วยรักษาระดับแคลเซียมในกล้ามเนื้อให้เป็นปกติ ช่วยป้องกันหรือลดอุณหภูมิร่างกายไม่ให้เพิ่มสูงจนเกินไป เป็นยาในรูปแบบยารับประทานและยาฉีดเข้าเส้นเลือด ใช้ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น ใช้เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนเป็นอาการไข้สูงอย่างร้าย (Malignant Hyperthermia) ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตจากการใช้ยาสลบ โดยอาจใช้ก่อนหรือหลังการให้ยาสลบและการผ่าตัด หรืออาจใช้ในกรณีอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
  • ทิซานิดีน (Tizanidine) เป็นยาอันตรายที่ใช้รักษาภายใต้คำสั่งแพทย์ในระยะสั้น ออกฤทธิ์ปิดกั้นสารสื่อประสาทไม่ให้ส่งสัญญาณไปยังสมองที่จะกระตุ้นให้เกิดความเจ็บปวดได้ ใช้ผ่อนคลายความตึงตัวของกล้ามเนื้อเพียงชั่วคราว ต้องใช้ยาอย่างถูกต้องเคร่งครัดภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายตามมา
  • ออร์เฟเนดรีน (Orphenadrine) ใช้รักษาภาวะอาการเจ็บป่วยทางกล้ามเนื้อในระยะสั้น ๆ ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายและบรรเทาความเจ็บปวดจากกล้ามเนื้อหดเกร็ง โดยอาจใช้ยารักษาร่วมกับการทำกายภาพบำบัดและการให้ผู้ป่วยพักผ่อนอย่างเพียงพอ
  • ยาลดการอักเสบแบบไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Antiinflammatory Drugs: NSAIDs) ช่วยยับยั้งการอักเสบ และบรรเทาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากกระบวนการอักเสบ ตัวอย่างยาที่เป็นที่รู้จักและใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มนี้ คือ แอสไพริน ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค และนาพร็อกเซน เป็นต้น

คำเตือนของการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ

  • ในปัจจุบันมีข้อมูลและหลักฐานสนับสนุนประสิทธิภาพทางการรักษาของยาคลายกล้ามเนื้อน้อยมาก ดังนั้น ไม่ควรใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเป็นการรักษาหลัก แต่อาจใช้เมื่อรักษาด้วยวิธีการอื่นแล้วไม่ได้ผลเท่านั้น
  • ไม่ควรใช้ยาคลายกล้ามเนื้อในสตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้า และผู้ที่มีประวัติเคยใช้ยาเสพติดหรือเสพติดแอลกอฮอล์
  • ไม่ควรใช้ยาหากมีประวัติอาการแพ้ส่วนผสมใด ๆ ในตัวยาชนิดนั้น
  • ยาคลายกล้ามเนื้อส่วนใหญ่มักมีผลข้างเคียงเป็นอาการง่วงนอน และอ่อนเพลีย จึงควรระมัดระวังในการทำกิจกรรมใด ๆ ควรหลีกเลี่ยงการทำงานร่วมกับเครื่องจักร หรือการขับขี่ยานพาหนะในขณะใช้ยา
  • ยาคลายกล้ามเนื้อแต่ละชนิดมีส่วนผสมและการออกฤทธิ์แตกต่างกัน จึงควรศึกษาข้อมูลที่ระบุบนฉลากยาเกี่ยวกับวิธีการใช้ยา การเก็บรักษา และคำเตือนของยาแต่ละชนิดให้ดีก่อนใช้ยา
  • ต้องใช้ยาอย่างถูกต้องภายใต้คำแนะนำของแพทย์ ไม่ใช้ยาเกินขนาด และซักถามแพทย์หรือเภสัชกรเมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา
  • หากมีอาการแพ้ยา อย่างมีผดผื่นแดง ตัวบวมหน้าบวม หายใจติดขัด แน่นหน้าอก ควรไปพบแพทย์หรือขอความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ

โดยส่วนใหญ่ ยาคลายกล้ามเนื้อจะมีผลข้างเคียงหลังการใช้ยา คือ

  • อ่อนเพลีย เมื่อยล้า หมดแรง
  • ง่วงนอน ง่วงซึม
  • วิงเวียนศีรษะ
  • ปากแห้ง
  • ปัสสาวะไม่ออก
  • อาจเกิดการเสพติด หรือ ใช้ยาผิดจุดประสงค์ได้

อย่างไรก็ตาม ยาคลายกล้ามเนื้อแต่ละชนิดอาจมีผลข้างเคียงที่แตกต่างกันไป จึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการใช้ยาแต่ละชนิดให้ดีก่อนใช้ยาเสมอ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรรีบขอความช่วยเหลือหรือไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการที่เป็นสัญญาณของการแพ้ยา เช่น

  • มีไข้สูง
  • มีผดผื่นแดง หรือผื่นคัน
  • หน้าบวม ปากบวม แขนขาบวม
  • แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก
  • วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน