7 วิธีแก้ปวดต้นคอ ท้ายทอยง่าย ๆ ก่อนสายเกินแก้

หากคุณมีอาการปวดต้นคอ ท้ายทอย ไม่ควรละเลย อาจลองหาวิธีรักษาอาการในเบื้องต้นที่ปลอดภัยและสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง เพราะหากอาการปวดต้นคอหรือท้ายทอยเกิดขึ้นแล้วไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมหรือเกิดขึ้นอย่างเรื้อรัง ก็อาจส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้

อาการปวดต้นคอบริเวณท้ายทอยมักมีสาเหตุมาจากท่านั่งหรือท่านอนที่ไม่ถูกต้องตามสรีระของร่างกาย ส่งผลให้กล้ามเนื้อคอเกิดอาการตึงเครียด และทำให้ปวดต้นคอตามมา นอกจากนี้ อาการปวดต้นคออาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ เช่น อาการปวดต้นคอจากเส้นประสาทอักเสบ (Occipital Neuralgia) โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) หรือเนื้องอกก็ได้เช่นกัน

วิธีแก้ปวดต้นคอ ท้ายทอย

วิธีแก้ปวดต้นคอและท้ายทอยที่ได้ผลและปลอดภัย

หากมีอาการปวดที่บริเวณต้นคอหรือท้ายทอย อาจลองทำตามวิธีต่อไปนี้เพื่อบรรเทาอาการ

1. งดทำกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวมาก

หากมีอาการปวดต้นคอและท้ายทอย ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายมาก เช่น การเล่นกีฬา การออกกำลังกาย การขยับศีรษะและใบหน้าแรง ๆ รวมถึงการยกของหนัก เพราะอาจส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ และทำให้อาการปวดต้นคอรุนแรงมากขึ้น โดยควรพักกล้ามเนื้อประมาณ 2–3 วัน หรือจนกว่าอาการปวดจะดีขึ้น

2. ปรับท่านั่งและท่านอนให้เหมาะสม

บ่อยครั้งอาการปวดต้นคอหรือท้ายทอยก็เป็นผลมาจากการนั่งผิดท่าหรือการนั่งท่าเดิมเป็นเวลานาน เช่น การนั่งทำงานในท่าทางที่ไม่เหมาะสมหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานติดต่อกัน รวมถึงการนอนในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การนอนคว่ำ การนอนหนุนหมอนที่สูงเกินไป หรือการนอนบนที่นอนที่ไม่ได้รองรับสรีระได้ดีเพียงพอ ก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดต้นคอได้เช่นกัน 

ดังนั้น หากมีอาการปวดต้นคอให้ลองปรับท่านั่งหรือท่านอนให้ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ และไม่ควรอยู่ในท่าทางเดิมเป็นเวลานานเกินไป เช่น หากจำเป็นต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ควรหาเวลาพักสายตาและออกไปเดินยืดเส้นยืดสาย หรือหาท่ายืดกล้ามเนื้อที่สามารถทำได้ง่าย ๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการได้

3. ใช้หมอนรองคอ

หากมีอาการปวดต้นคอ อาจจำเป็นต้องใช้หมอนรองคอหรือปลอกคอแบบนุ่ม เพื่อช่วยลดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณคอ ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอได้พักฟื้น และช่วยให้อาการปวดต้นคอหายได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ อาจลองเปลี่ยนหมอนที่ใช้ขณะนอนหลับให้เป็นหมอนที่ถูกออกแบบมาให้เข้ากับสรีระของคอมากยิ่งขึ้น เช่น หมอนที่มีส่วนส่วนงอหรือนูนขึ้นมาเล็กน้อยบริเวณใต้คอ

4. นวดหรือยืดกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอเบา ๆ 

การนวดหรือยืดกล้ามเนื้อเบา ๆ เป็นวิธีแก้ปวดต้นคอและท้ายทอยที่สามารถทำได้ง่ายอีกวิธีหนึ่ง โดยอาจใช้วิธีการขยับร่างกายด้วยตัวเอง เช่น การหมุนหัวไหล่เบา ๆ เป็นวงกลม การขยับศีรษะขึ้นลงไปมาช้า ๆ การ หันศีรษะจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง หรืออาจให้บุคคลอื่นเป็นผู้นวดบริเวณต้นคอให้ก็ได้ แต่ควรระมัดระวังไม่ให้นวดหรือยืดกล้ามเนื้อแรงและกะทันหันจนเกินไป

5. ประคบร้อนหรือเย็นบริเวณต้นคอ 

การประคบร้อนหรือประคบเย็นสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดต้นคอได้ โดยการประคบร้อนจะช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว และช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ส่วนการประคบเย็นจะช่วยลดอาการอักเสบและอาการบวม 

การประคบร้อนหรือประคบเย็นมีวิธีการคือนำผ้าชุบน้ำอุ่นที่บิดหมาดแล้วหรือผ้าที่ห่อน้ำแข็ง มาวางบริเวณที่ปวดประมาณ 15–20 นาที และทำซ้ำทุก ๆ 2–3 ชั่วโมง ทั้งนี้ ควรใช้การประคบเย็นก่อนภายใน 48–72 ชั่วโมงแรกเมื่อเกิดอาการปวด และหลังจากนั้นให้ใช้การประคบร้อนตามมา

6. รับประทานยาแก้ปวด

อาการปวดต้นคอหรือท้ายทอยสามารถบรรเทาได้ด้วยยาแก้ปวดที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป เช่น ยาในกลุ่มยาเอ็นเสด (NSAIDs) อย่างยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) แต่ควรรับประทานยาตามคำแนะนำบนฉลากหรือคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามมา

7. ทำกายภาพบำบัด

วิธีแก้ปวดต้นคอหรือท้ายทอยที่มีประสิทธิภาพอีกวิธีหนึ่งคือการทำกายภาพบำบัด โดยคุณอาจปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อหาวิธีจัดระเบียบร่างกายในท่าทางต่าง ๆ อย่างเหมาะสม หรือวิธีการยืดกล้ามเนื้อที่สามารถช่วยให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณต้นคอคลายความตึงเครียด และช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม หากวิธีแก้ปวดต้นคอหรือท้ายทอยข้างต้นนี้ไม่ได้ผล มีอาการปวดต่อเนื่องนานเกิน 1 สัปดาห์ มีอาการปวดรุนแรงมากขึ้น หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการชา เสียวแปลบ หรืออ่อนแรงบริเวณไหล่ แขน และขา รวมถึงการมีอาการปวดต้นคอที่เกิดขึ้นหลังจากประสบอุบัติเหตุ ควรไปพบแพทย์