ปากแห้ง ดูแลไม่ยาก

เมื่อชีวิตประจำวันของคนเราในแต่ละวันต้องสัมผัสกับสภาพอากาศที่หลากหลาย ทั้งอากาศร้อน หนาวเย็น ลมพัด และแสงแดด จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สภาพผิวพรรณมักมีปัญหาหรือเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอาการปากแห้ง ริมฝีปากของเราเสียความชุ่มชื้นได้ง่ายกว่าบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย เพราะไม่สามารถผลิตน้ำมันออกมาเพื่อปกป้องผิวจากการแห้งได้ จึงทำให้เกิดการแห้งแตก ลอกเป็นขุย ตกสะเก็ด เจ็บแสบ บวม หรือบางคนอดไม่ได้ที่จะดึงหรือกัดเล่นจนเลือดออกในที่สุด

ปากแห้ง

อย่างไรก็ตาม เราป้องกันและรักษาปากแห้งด้วยตนเองได้ง่าย ๆ จากหลากหลายวิธี แต่สำหรับผู้ที่มีอาการปากแห้งแตกอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ควรไปพบแพทย์โรคผิวหนังเพื่อหาสาเหตุและทางรักษาต่อไป

ปากแห้งมีสาเหตุมาจากอะไร?

ริมฝีปากของคนเราไม่มีต่อมน้ำมันเหมือนกับผิวหนังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จึงทำให้ริมฝีกปากเสียความชุ่มชื้นและทำให้ปากแห้งได้ง่าย โดยสาเหตุอาจมาจากปัจจัยทางสภาพแวดล้อมหรือตัวเราเองที่ละเลยการดูแลริมฝีปากให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอ

สาเหตุของปากแห้งที่พบบ่อย ได้แก่

 

  • สภาพอากาศ ปากแห้งมักเกิดขึ้นในสภาพอากาศหนาวเย็น มีลมพัดและแห้ง แต่อาจเกิดขึ้นได้แม้อยู่ในสภาพอากาศปกติหรือร้อน รวมไปถึงการสัมผัสกับแสงแดดมากเกินไปก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ปากแห้งมากขึ้นได้
  • การเลียริมฝีปาก บางคนชอบเลียริมฝีปากตนเองจนเป็นนิสัย หรือเลียริมฝีปากเวลาปากแห้ง พฤติกรรมนี้จะทำให้ปากแห้งยิ่งขึ้น เพราะน้ำลายจะดึงเอาความชุ่มชื้นจากริมฝีปากและทำให้ปากแห้งลง
  • ดื่มน้ำน้อย หรือภาวะขาดน้ำ ทำให้เกิดอาการได้หลากหลาย เช่น วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ท้องผูก รวมไปถึงปากแห้ง เพราะปกติร่างกายต้องได้รับน้ำอย่างเพียงพอเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของร่างกาย
  • ภาวะขาดสารอาหาร อาการที่มาจากการขาดสารอาหารนั้นเหมือนกันกับอาการที่เกิดขึ้นเมื่อร่างกายขาดน้ำ รวมไปถึงปากแห้ง แต่การขาดสารอาหารก่อให้เกิดอาการอื่น ๆ ได้อีก เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง กระดูกเปราะ ฟันผุ หรือท้องอืด นอกจากนั้น ผู้ที่มีภาวะขาดน้ำและภาวะขาดสารอาหารมีแนวโน้มปากจะแห้งได้ง่ายกว่าผู้ที่ไม่อยู่ในภาวะขาดน้ำ หากพบว่าอาการปากแห้งมีที่มาจากทั้ง 2 ภาวะนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการแก้ไข เพราะเป็นภาวะที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์โดยเร็ว
  • การรับประทานอาหารหรือสัมผัสกับอาหารบางชนิด บางคนจะมีความไวต่อส่วนผสมในอาหารบางชนิด หรือหากริมฝีปากต้องสัมผัสกับอาหาร เช่น ผลไม้ตระกูลส้ม มะม่วง และอบเชย ก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองและอักเสบได้
  • การใช้ผลิตภัณฑ์บางชนิด เช่น ลิปบาล์ม ลิปสติก ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก หรือครีมกันแดด ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้อาจมีส่วนผสมที่ระคายเคืองต่อริมฝีปากได้
  • การใช้ยารักษาโรคหรืออาหารเสริมบางชนิด การใช้ยารักษาโรคหรืออาหารเสริมบางชนิดอาจทำให้บางคนปากแห้งได้ เช่น วิตามิน เอ เรตินอยด์ (Retinoids) ยาลิเทียม (Lithium) หรือยาเคมีบำบัด
  • โรคเรื้อรังหรือภาวะทางผิวหนัง โรคเรื้อรังหรือภาวะทางผิวหนังบางชนิด อาจส่งผลให้ปากแห้ง แตก หรือระคายเคืองได้ เช่น โรคผิวหนังอักเสบ (Eczema) โรคไลเคนพลานัส (Lichen Planus) โรคพุ่มพวงหรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Lupus Erythematosus) โรคโครห์น (Crohn’s Disease) หรือซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis)

เมื่อไรที่ควรพบแพทย์?

หากพบว่าอาการปากแห้งเริ่มรุนแรง มีอาการเจ็บแสบหรือแดง ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อ  หากดูแลรักษาปากแห้งด้วยตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป รวมทั้งหากเกิดภาวะริมฝีปากอักเสบก็ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงมากขึ้น

ริมฝีปากอักเสบ (Cheilitis) อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราเข้าไปทางรอยแตกของริมฝีปากที่แห้ง โดยอาจทำให้เกิดอาการ เช่น

  • ปากแห้ง แตก หรือลอกอย่างรุนแรง
  • ริมฝีปากเป็นสีชมพูเข้มหรือสีแดง
  • ริมฝีปากมีผิวสัมผัสที่ไม่ราบเรียบ
  • เกิดเป็นแผลเปื่อย แผลอักเสบ หรือแผลพุพอง
  • เกิดเป็นคราบขาวที่ริมฝีปาก
  • มีอาการเจ็บแสบที่ริมฝีปาก

หากพบว่ามีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์โรคผิวหนัง ซึ่งแพทย์จะพิจารณาได้ว่าเป็นอาการของปากแห้งที่เกิดขึ้นทั่วไปหรือมาจากริมฝีปากอักเสบ

รักษาและป้องกันไม่ให้ปากแห้งได้อย่างไร?

เราดูแลรักษาริมฝีปากแห้งให้กลับมาดูดีได้ด้วยตนเองไม่ยาก เพียงดูแลให้ริมฝีปากมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ใช้ลิปบาล์มที่มีส่วนประกอบของปิโตรเลียม (Petroleum) และขี้ผึ้ง (Beeswax) หรือใช้ลิปสติกชนิดที่ให้ความชุ่มชื้นเป็นประจำ ควรลองใช้หลาย ๆ ยี่ห้อจนกว่าจะพบที่เหมาะกับตนเองที่สุด และหากต้องออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งซึ่งต้องสัมผัสกับแสงแดดเป็นเวลานาน ควรเลือกใช้ลิปบาล์มชนิดป้องกันแสงแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ (SPF) 15 ขึ้นไป โดยลิปบาล์มจะทำหน้าที่ให้ความชุ่มชื้นและเป็นเสมือนเกราะป้องกันจากแสงอาทิตย์ ลม หรือสภาพอากาศที่เย็นและแห้งได้ นอกจากนั้น ควรหลีกเลี่ยงใช้ลิปบาล์มแบบกระปุกหรือที่ต้องใช้นิ้วมือป้ายทาปาก เพราะอาจทำให้เกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย หรือควรหลีกเลี่ยงลิปบาล์มที่มีกลิ่นหอม เพราะทำให้ผู้ใช้โดยเฉพาะเด็ก อยากจะเลียริมฝีปากมากขึ้น ซึ่งยิ่งจะทำให้ริมฝีปากแห้งลง
  • หากต้องอยู่ที่ที่มีสภาพอากาศที่หนาวจัด ควรใช้ผ้าคลุมปากเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ริมฝีปากสัมผัสกับอากาศที่หนาวจัด
  • ไม่ควรเลีย เม้ม หรือกัดริมฝีกปากบ่อยเกินไป เพราะน้ำลายจะทำลายความชุ่มชื้นบนริมฝีปากและยิ่งทำให้ปากแห้งลง
  • หากปากแห้งแตกและลอกเป็นขุย ไม่ควรดึงหรือลอกออกมาเพราะจะยิ่งทำให้เป็นมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์หรือสิ่งที่อาจทำให้เกิดการระคายเคือง เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว น้ำหอม หรืออาหารบางชนิด ที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง
  • ใช้เครื่องทำความชื้นในอากาศ เพื่อปรับสภาพอากาศภายในบ้านพักหรือตามสถานที่ที่มีอากาศแห้งและเย็นให้มีความชื้นเพิ่มขึ้น
  • ควรดื่มน้ำให้มาก ๆ เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำและรักษาความชุ่มชื้นของผิวพรรรณและริมฝีปากเอาไว้

หากดูแลรักษาด้วยตนเองแล้วอาการไม่ดีขึ้นและปากแห้งต่อเนื่องไม่หาย ควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อหาสาเหตุและรักษาต่อไป