เท้าลอก รู้จักสาเหตุและวิธีรักษาเท้าลอกอย่างเหมาะสม

เท้าลอกเกิดขึ้นได้ทั่วไปกับทุกคน โดยผู้ที่มีอาการเท้าลอกจะสังเกตได้ว่าผิวหนังบริเวณฝ่าเท้ามีลักษณะนุ่มหยุ่นผิดปกติ และสามารถลอกออกมาได้เป็นแผ่นหรือเป็นขุย ส่วนใหญ่อาการเท้าลอกไม่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อร่างกาย เพียงแค่สร้างความรำคาญและอาจทำให้เท้าดูไม่สวยงามเท่านั้น แต่หากดูแลรักษาไม่ถูกวิธี ก็อาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บอื่น ๆ ตามมาได้

เท้าลอกสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากสาเหตุทั่วไปที่ไม่เป็นอันตรายและสามารถหายได้เองภายในเวลาไม่นาน หรืออาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพบางอย่างที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ก็ได้เช่นกัน หากรู้สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเท้าลอกและรู้วิธีดูแลอาการอย่างเหมาะสม ก็จะทำให้เราสามารถรับมือเมื่อเกิดอาการเท้าลอกได้ดีมากยิ่งขึ้น

เท้าลอก รู้จักสาเหตุและวิธีรักษาเท้าลอกอย่างเหมาะสม

สาเหตุที่อาจทำให้เท้าลอก

อาการเท้าลอกสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • ปัญหาผิวหนังทั่วไป เช่น ผิวแห้ง โดยอาจมีสาเหตุมาจากอุณหภูมิของอากาศ การเดินเท้าเปล่าบนพื้นที่ร้อนเกินไป การอาบน้ำร้อนเกินไป ภาวะขาดน้ำ ความเครียด หรือการสูบบุหรี่
  • ปัญหาผิวหนังที่รุนแรง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) หรือโรคผิวหนังลอก (Peeling Skin Syndrome)
  • การติดเชื้อราที่เท้า หรือที่รู้จักกันในชื่อโรคน้ำกัดเท้าหรือฮ่องกงฟุต (Athlete's Foot) เป็นโรคติดต่อที่มักเกิดจากการหมักหมมของเชื้อราในรองเท้า รวมถึงการสัมผัสกับพื้นที่อื่น ๆ ที่มีความชื้นด้วย
  • ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ (Hyperhidrosis)
  • ภาวะแทรกซ้อนจากปัญหาสุขภาพอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยากันชัก รวมถึงยาเคมีบำบัดด้วย

เท้าลอก ดูแลรักษาได้ไม่ยากอย่างที่คิด

หากมีอาการเท้าลอกไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะโดยส่วนใหญ่อาการเหล่านี้ไม่รุนแรงและสามารถหายได้เองภายในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งหากรู้วิธีดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมก็อาจช่วยให้อาการบรรเทาลงได้อย่างรวดเร็วด้วย ส่วนในกรณีของอาการเท้าลอกที่มีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพที่รุนแรงมากขึ้น ก็มีวิธีทางการแพทย์มากมายที่สามารถรักษาอาการให้ดีขึ้นหรือหายขาดได้ การดูแลรักษาอาการเท้าลอกมีดังนี้

1. รักษาความสะอาดของเท้า 

 

การรักษาความสะอาดของเท้าเป็นการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อราหรือเชื้อโรคต่าง ๆ ซึ่งอาจช่วยให้อาการเท้าลอกบรรเทาลงและไม่กลับมาเป็นซ้ำได้ การรักษาความสะอาดของเท้าสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

  • เช็ดเท้าให้แห้งเสมอหลังจากการอาบน้ำ ว่ายน้ำ หรือทุกครั้งหลังจากเท้าเปียก
  • หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าที่ระบายอากาศได้ไม่ดี อย่างรองเท้าคัทชู รองเท้าผ้าใบ หรือรองเท้าที่คับมากจนเกินไปติดต่อกันเป็นเวลานาน เพื่อลดการเสียดสีของผิวหนังและการหมักหมมของเหงื่อ
  • สวมถุงเท้าคู่ใหม่ที่แห้งและสะอาดอยู่เสมอ ไม่ควรสวมถุงเท้าซ้ำและไม่ควรสวมถุงเท้าร่วมกับผู้อื่น
  • หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าในที่สาธารณะที่มักเป็นแหล่งของเชื้อโรคหรือเชื้อรา เช่น สระว่ายน้ำ ห้องน้ำสาธารณะ 

 

2. รักษาความชุ่มชื้นของผิวหนัง 

การรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนังทั้งบริเวณฝ่าเท้า ส้นเท้า และหลังเท้า อาจช่วยให้อาการเท้าลอกที่มีสาเหตุมาจากผิวแห้งบรรเลาลงได้ โดยควรใช้ครีมบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของมอยส์เจอร์ไรเซอร์ในการบำรุงผิวหนังหลังจากอาบน้ำเสร็จอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงการอาบน้ำด้วยน้ำที่มีอุณหภูมิสูงเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวแห้งด้วย

3. รักษาด้วยยาที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป

 

อาการเท้าลอกที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อรา โรคสะเก็ดเงิน หรือโรคผื่นผิวหนังอักเสบ อาจรักษาด้วยยาที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปได้ เช่น ยาต้านเชื้อรา ยาแก้แพ้หรือยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) รวมถึงกลุ่มยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดทาเฉพาะที่ด้วย แต่หากมีอาการรุนแรงหรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

4. รักษาด้วยวิธีทางการแพทย์

 

หากอาการเท้าลอกที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด ปัญหาสุขภาพที่รุนแรง รวมถึงมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น หรือมีเงื่อนไขสุขภาพอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ มีปัญหาเกี่ยวกับผิวหนังที่รุนแรง หรือเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการเท้าลอกเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์

การรักษาอาการเท้าลอกทางการแพทย์มีหลายวิธีแตกต่างกันออกไปตามสาเหตุของการเกิดอาการ ความรุนแรงของอาการ และเงื่อนไขสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน ตัวอย่างวิธีการรักษา เช่น การให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน ยากดภูมิคุ้มกัน ยากลุ่มแอนติโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic) รวมถึงการรักษาด้วยการส่องไฟ (Phototherapy) ด้วย

อย่างไรก็ตามควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอ หากมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นนอกเหนือจากอาการเท้าลอก เช่น เกิดผื่นหรือแผลพุพอง มีอาการคัน บวม ปวด หรือชาร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ ไม่ควรใช้ของมีคมในการแกะ ดึง หรือตัดหนังเท้าที่ลอกออกมา เพราะอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ เลือดออก ติดเชื้อ และอาจนำไปสู่การเกิดปัญหาผิวหนังที่รุนแรงขึ้นตามมาได้