น้ำกัดเท้า อาการที่ควรระวังช่วงน้ำท่วมและวิธีรักษาอย่างเหมาะสม

น้ำกัดเท้าเป็นปัญหาสุขภาพเท้าที่พบได้บ่อยในช่วงหน้าฝน โดยเฉพาะหากต้องลุยน้ำท่วมที่ปนเปื้อนไปด้วยเชื้อโรคกลับบ้านแล้วปล่อยให้เท้าเปียกชื้นเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่ทำความสะอาดหรือเช็ดให้แห้งสนิท แต่ปัญหาน้ำกัดเท้านั้นไม่ร้ายแรงและรักษาได้ไม่ยาก เพียงแค่ต้องดูแลตัวเองอย่างถูกวิธีร่วมกับการใช้ยาที่ถูกโรค สุขภาพเท้าก็จะกลับมาดีดังเดิม 

จริง ๆ แล้ว น้ำกัดเท้าเป็นการติดเชื้อราบริเวณเท้า ง่ามนิ้วเท้า หรือฝ่าเท้า พบได้มากในผู้ชายที่มีเหงื่อออกเท้ามาก สวมรองเท้าคับแน่น หรือสวมถุงเท้าที่เปียกเป็นเวลานานจนเกิดการอับชื้น โดยเฉพาะหลังการเล่นกีฬา จึงเป็นที่มาของชื่อโรคเท้านักกีฬา (Athlete's Foot) นั่นเอง โดยอาจก่อให้เกิดสัญญาณอาการต่าง ๆ เช่น มีผื่นเป็นขุยที่มีอาการคันและแสบร้อนร่วมด้วย ผิวหนังบริเวณง่ามนิ้วเท้าเปื่อย ลอกและแตก ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีขาวและบวมหนาขึ้น มีตุ่มน้ำหรือแผลที่เท้า หรือมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกมาจากผิวหนังที่ติดเชื้อ เป็นต้น 

น้ำกัดเท้า

ทั้งนี้ น้ำกัดเท้าสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสกับผู้ป่วยหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่ปนเปื้อนเชื้ออย่างผ้าขนหนู เสื้อผ้า หรือรองเท้า เราจึงควรหมั่นดูแลรักษาบริเวณที่เกิดการติดเชื้อตั้งแต่เนิ่น ๆ 

วิธีรักษาน้ำกัดเท้าด้วยตนเอง

อาการของน้ำกัดเท้าที่ไม่รุนแรงมักรักษาให้หายดีได้โดยไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ โดยใช้ยาทาต้านเชื้อราที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป อย่างยาไมโคนาโซล ยาเทอร์บินาฟีน หรือยาโคลไตรมาโซล ซึ่งผู้ป่วยควรปรึกษาเภสัชกรถึงความปลอดภัย ข้อควรระวัง และปริมาณการใช้ยาที่เหมาะสมก่อนการใช้ยาเสมอ รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี ดังนี้ 

  • ดูแลความสะอาดของเท้าให้มากยิ่งขึ้น โดยหลังทำความสะอาดเท้าแล้วควรใช้ผ้าซับเท้าหรือง่ามนิ้วเท้าให้แห้งทุกครั้ง หรืออาจโรยแป้งฝุ่นบริเวณง่ามนิ้วเท้าป้องกันเหงื่อออก
  • ไม่แกะหรือเกาผื่นคันหรือผิวหนังที่ติดเชื้อ เพราะอาจทำให้โรคน้ำกัดเท้าแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น ผู้ป่วยที่มีอาการคันมากอาจบรรเทาอาการด้วยการนำผ้าชุบน้ำเย็นมาประคบ
  • สวมถุงเท้าที่สะอาดและเปลี่ยนถุงเท้าทุกวัน หากมีเหงื่อออกที่เท้ามากให้เปลี่ยนถุงเท้าวันละ 2 ครั้ง 
  • ใช้สิ่งของในชีวิตประจำวันแยกกันกับคนในครอบครัวและไม่แชร์กันใช้ อาทิ ผ้าเช็ดเท้า ผ้าขนหนู ถุงเท้า หรือรองเท้า หลังใช้งานก็ควรซักให้สะอาดเป็นประจำ ไม่ใช้ซ้ำหลายครั้ง 
  • ควรสวมรองเท้าที่เบาสบายและระบายอากาศได้ดี เพื่อไม่ให้เท้ามีเหงื่อออกมาก รู้สึกอึดอัดหรือร้อนเท้าตลอดเวลาที่ใส่
  • ไม่ควรสวมรองเท้าคู่เดิมติดต่อกันเกิน 2 วัน เพราะรองเท้าอาจอับชื้นได้
  • ไม่ควรเดินเท้าเปล่าในสถานที่สาธารณะ อย่างห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าหรือสระว่ายน้ำ แต่ให้ปกป้องเท้าด้วยการสวมร้องเท้าแตะแบบกันน้ำแทน

อย่างไรก็ตาม หากทำตามคำแนะนำข้างต้นร่วมกับการใช้ยาต้านเชื้อราที่เภสัชกรแนะนำแล้ว แต่อาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์หรือมีความผิดปกติอื่นเกิดขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการ โดยผู้ป่วยอาจได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมและใช้ยาต้านเชื้อราที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ ซึ่งมีความเฉพาะเจาะจงกับอาการของแต่ละคนมากกว่า เช่นเดียวกันกับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควรไปปรึกษาแพทย์หากสงสัยว่าตนเองอาจเป็นโรคน้ำกัดเท้า เพราะอาจเกิดเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่รุนแรงได้