เหงื่อออกเท้าผิดปกติหรือไม่ เรียนรู้สาเหตุและเคล็ดลับการลดเหงื่อออกเท้า

เหงื่อออกเท้าโดยทั่วไปถือเป็นเรื่องปกติ แต่เหงื่อออกเท้าที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดกลิ่นเท้า รู้สึกกังวลใจจนไม่อยากออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน หรือในบางกรณีอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ควรได้รับการรักษา ในบทความนี้จึงอยากชวนทุกคนมาเรียนรู้สาเหตุ รวมทั้งวิธีลดเหงื่ออย่างถูกต้อง เพื่อลดความไม่สบายเท้าและเสริมความมั่นใจให้กับตัวเองกัน

ฝ่าเท้าของคนเรานั้นมีจำนวนต่อมเหงื่อมากกว่าส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย เราจึงรู้สึกได้ว่ามีเหงื่อออกเท้ามากกว่าอวัยวะอื่น ซึ่งเหงื่อออกเท้าส่วนใหญ่ก็มักไม่ได้เกิดจากปัญหาสุขภาพ แต่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติตั้งแต่เรายังเด็ก โดยการมีเหงื่อออกเป็นกลไกที่จะช่วยให้ร่างกายเย็นลง ช่วยขับน้ำและโซเดียมออกจากร่างกาย และยังเป็นเกราะป้องกันผิวหนังจากเชื้อแบคทีเรียอีกด้วย

เหงื่อออกเท้าผิดปกติหรือไม่ เรียนรู้สาเหตุและเคล็ดลับการลดเหงื่อเท้า

เหงื่อออกเท้าเกิดจากอะไรบ้าง  

โดยธรรมชาติแล้ว เหงื่อออกเท้าอาจเกิดขึ้นจากการถูกกระตุ้นจากปัจจัยตามธรรมชาติหรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตในแต่ละวัน เช่น

  • ความร้อน อากาศร้อน 
  • การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมทางกาย 
  • การสวมรองเท้าหรือถุงเท้าที่คับแน่น ระบายอากาศได้ไม่ดี 
  • การอยู่ในท่ายืนติดต่อกันเป็นเวลานานหรือตลอดทั้งวัน 
  • ความเครียด วิตกกังวล หรือการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ 

ในกรณีที่มีเหงื่อออกเท้ามาก (Hyperhidrosis) อย่างน้อย 1 ครั้ง/สัปดาห์ ติดต่อกันอย่างน้อย 6 เดือน โดยไม่สัมพันธ์กับปัจจัยตามธรรมชาติอย่างความร้อนหรือการทำกิจกรรมที่เป็นเหตุให้มีเหงื่อออก อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • การถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากคนในครอบครัว 
  • ปัญหาสุขภาพ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด โรควิตกกังวลทั่วไป ไทรอยด์เป็นพิษ การติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง วัณโรค หรือการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง 
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะยารักษาโรคซึมเศร้าอย่างยานอร์ทริปไทลีน (Nortriptyline) หรือยาโพรทริปไทลีน (Protriptyline) 
  • สาเหตุอื่น ๆ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ วัยทอง 

เคล็บลับลดเหงื่อออกเท้าด้วยตัวเอง

ในเบื้องต้น เราอาจลดปริมาณการมีเหงื่อออกที่ไม่ได้เกิดจากปัญหาสุขภาพ รวมถึงความเสี่ยงของปัญหากลิ่นเท้าให้น้อยลงได้ด้วยการดูแลสุขภาพเท้าอย่างเหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น  

  • ทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำและสบู่ และควรซับเท้าให้แห้งสนิททุกครั้ง โดยเฉพาะตามซอกนิ้วเท้า เพื่อป้องกันการติดเชื้อราหรือแบคทีเรียในบริเวณดังกล่าว เช่น น้ำกัดเท้า หรือเชื้อราที่เล็บ 
  • ตัดเล็บเท้าให้สั้นและกำจัดเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วออกด้วยการขัดเท้า เพื่อลดความอับชื้นและการสะสมของเชื้อโรค 
  • เลือกถุงเท้าหรือถุงน่องที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติอย่างผ้าฝ้าย หรือมีคุณสมบัติช่วยในการดูดซับเหงื่อ โดยควรเปลี่ยนถุงเท้าหรือถุงน่อง 1–2 ครั้ง/วัน และไม่ควรนำกลับมาใส่ซ้ำ
  • หลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าที่ผลิตจากหนังเทียม และรองเท้าที่คับแน่นหรือพอดีเท้าจนเกินไป โดยอาจเปลี่ยนไปใส่รองเท้าแตะที่ระบายอากาศได้ดี หรือเดินเท้าเปล่าเมื่ออยู่ในสถานที่ที่เอื้ออำนวย 
  • แช่เท้าในน้ำอุ่มผสมเบคกิ้งโซดาปริมาณ 3–4 ช้อนชา ประมาณ 20 นาที/วัน  
  • ใช้ผลิตภัณฑ์ช่วยยับยั้งการขับเหงื่อที่มีส่วนประกอบของสารระงับเหงื่อ (Antiperspirant) อย่างอะลูมิเนียมคลอไรด์ (Aluminium Chloride) ความเข้มข้น 6–20% โดยแนะนำให้ใช้ก่อนนอนและล้างออกในตอนเช้า ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้เสมอ  

อย่างไรก็ตาม หากลองปฏิบัติด้วยวิธีเหล่านี้แล้วปัญหาเหงื่อออกเท้ายังไม่ลดลง เหงื่อออกเท้าจนกระทบต่อการใช้ชีวิต ก่อให้เกิดความกังวลใจหรือสูญเสียความมั่นใจ มีเหงื่อออกเท้ามากผิดปกติอย่างเฉียบพลัน มีเหงื่อออกตอนกลางคืน หรือมีเหงื่อออกร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม