ยากดภูมิคุ้มกัน

ยากดภูมิคุ้มกัน

ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) เป็นกลุ่มยาที่ใช้ลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันเพื่อไม่ให้ทำงานมากเกินไป โดยตัวยาจะออกฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันในร่างกายให้อ่อนแอลง ลดการต่อต้านอวัยวะที่ได้รับการปลูกถ่ายใหม่ ช่วยให้อวัยวะดังกล่าวไม่ถูกทำลาย ซึ่งสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยหลายโรค เช่น โรคภูมิต้านทานตนเอง อย่างโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคสะเก็ดเงิน หรือโรคลูปัส อีกทั้งยังใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็งและป้องกันการต่อต้านอวัยวะใหม่ 

แพทย์จะพิจารณาให้ใช้ยาแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละโรค เนื่องจากยากดภูมิคุ้มกันแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม มีทั้งรูปแบบยารับประทานและยาฉีด เช่น  

  • กลุ่มยายับยั้ง (Inhibitor) อย่างยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) 
  • กลุ่มยาสเตียรอยด์ อย่างเพรดนิโซน (Prednisone) 
  • กลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี้ (Monoclonal Antibody) อย่างยาดาคลิซูแมบ (Daclizumab) หรือยาอะดาลิมูแมบ (Adalimumab) 

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยา เนื่องจากยากดภูมิคุ้มกันบางชนิดอาจทำให้ทารกเกิดความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด

ยากดภูมิคุ้มกัน

คำเตือนในการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน 

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แจ้งข้อมูลทางสุขภาพให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยากดภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาในกลุ่มนี้ เพราะอาจเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยากลุ่มนี้ และก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากผู้ป่วยมีประวัติความเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น โรคงูสวัด โรคไต หรือโรคตับ เป็นต้น
  • ผู้ป่วยอาจต้องตรวจเลือดขณะที่ใช้ยาในกลุ่มนี้เป็นประจำตามคำสั่งของแพทย์ เพื่อดูประสิทธิภาพของยาในร่างกายและปรับปริมาณยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด
  • ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามปริมาณและตรงเวลาที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และไม่หยุดยา ลดหรือเพิ่มปริมาณยาด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้อาการของผู้ป่วยโรคภูมิต้านทานตนเองกำเริบ หรือไปกระตุ้นให้ร่างกายต่อต้านอวัยวะที่ปลูกถ่ายใหม่ 
  • หากลืมรับประทานยาควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • ในกรณีที่ผู้ป่วยอาเจียนยากดภูมิคุ้มกันออกมาหลังรับประทานทันที ควรรอให้อาการดีขึ้นแล้วจึงรับประทานยาใหม่อีกครั้ง แต่หากอาเจียนออกมาโดยไม่เห็นเม็ดยา ไม่ควรรับประทานยาซ้ำ แต่ควรปรึกษาแพทย์
  • ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนชนิดเชื้อเป็น (Live Vaccines) ระหว่างการใช้ยาในกลุ่มนี้ เช่น วัคซีนป้องกันหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส วัคซีนป้องกันโรคเริม เป็นต้น   

ผลข้างเคียงจากการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน

การใช้ยากดภูมิคุ้มกันแต่ละกลุ่มจะก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ต่างกันไป เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น นอกจากนี้ อาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอกว่าปกติ จึงป้องกันการติดเชื้อได้น้อยลงและยังยากต่อการรักษาให้หายดี โดยสัญญาณของการติดเชื้อที่พบได้ คือ มีไข้ ปวดหลังส่วนหลัง ปัสสาวะลำบาก เจ็บขณะปัสสาวะปัสสาวะบ่อยครั้ง อ่อนเพลียหรืออ่อนล้าอย่างผิดปกติ 

อย่างไรก็ตาม หากพบความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ หรือมีอาการแย่ลงหลังรับประทานยากดภูมิคุ้มกันชนิดใดก็ตามควรหยุดใช้ยา แล้วแจ้งให้แพทย์ทราบทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วนและรับการรักษาที่เหมาะสม