ห้องน้ำสาธารณะ ใช้ถูกวิธี ไม่เสี่ยงต่อโรค

ห้องน้ำสาธารณะเป็นสถานที่ที่มีคนใช้ร่วมกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งการขับถ่ายของเสียทั้งหนักและเบาอาจทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนตามของใช้ต่าง ๆ ห้องน้ำสาธารณะที่ขาดการดูแลอย่างเหมาะสมก็อาจกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคได้ หลายคนจึงกังวลเรื่องการติดเชื้อ โดยเฉพาะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากอวัยวะเพศและท่อปัสสาวะเป็นส่วนที่เสี่ยงต่อการสัมผัสกับเชื้อโรคมาจากห้องน้ำสาธารณะมากที่สุด

ไม่เพียงแต่ชักโครกเท่านั้นที่เป็นแหล่งรวมเชื้อโรค แต่ส่วนอื่น ๆ ในห้องน้ำ อย่างลูกบิดประตูและก๊อกน้ำ ก็อาจเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคและทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้เช่นกัน บทความนี้จะพาคุณไปทำความเข้าใจถึงความเสี่ยงและข้อเท็จจริงของการติดเชื้อจากห้องน้ำสาธารณะ พร้อมแชร์เทคนิคง่าย ๆ ในการใช้ห้องน้ำสาธารณะได้ปลอดภัยมากขึ้น

ห้องน้ำสาธารณะ

เข้าห้องน้ำสาธารณะเสี่ยงต่อโรคติดต่อจริงหรือไม่?

แม้ไม่ต้องอ้างอิงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ หลายคนคงทราบดีว่าห้องน้ำสาธารณะเป็นแหล่งรวมของเชื้อโรค ซึ่งการติดเชื้อโรคและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นหนึ่งสิ่งที่หลายคนกังวลเกี่ยวกับการใช้ห้องน้ำสาธารณะ โดยเฉพาะห้องน้ำที่ไม่ได้รับการทำความสะอาดอย่างเหมาะสม แต่ในความเป็นจริงแล้ว การติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากการใช้ห้องน้ำร่วมกันนั้นเกิดได้น้อยมาก

จากผลของการศึกษาจำนวนหนึ่งพบว่า โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือ STIs (Sexual Transmitted Infections) อย่างหนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส เริม เอชพีวี เอดส์ โรคไวรัสตับอักเสบเอและบี และการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอด ไม่สามารถติดต่อผ่านการใช้ห้องน้ำร่วมกันได้ ดังนั้น ผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางและต้องใช้ห้องน้ำสาธารณะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็อาจสบายใจขึ้นในระดับหนึ่ง

แม้ว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่มักไม่ติดต่อผ่านการใช้ห้องน้ำร่วมกัน แต่พยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis) อาจเป็นหนึ่งในข้อยกเว้น เพราะพยาธิอาจติดต่อผ่านการสัมผัสจากฝารองนั่งที่เปียกชื้นและสกปรก และสามารถพบในเพศชายได้ด้วย 

พยาธิในช่องคลอดอาจทำให้เกิดอาการคัน ระคายเคือง อักเสบบริเวณอวัยวะเพศ รู้สึกเจ็บปวดขณะปัสสาวะ ตกขาวมีกลิ่นเหม็นคาวและมีสีที่เปลี่ยนไปในเพศหญิง มีหนองหรือของเหลวไหลจากท่อปัสสาวะในเพศชาย หากมีอาการดังกล่าวควรไปพบแพทย์เพื่อรักษา เพราะเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อยและรักษาให้หายได้

สิ่งที่ควรใส่ใจเมื่อต้องเข้าห้องน้ำสาธารณะ

การเช็ดทำความสะอาดฝารองนั่งก่อนใช้ห้องน้ำสาธารณะเป็นสิ่งที่หลายคนทำเป็นปกติ และมักจะมีพนักงานทำความสะอาดอยู่เป็นประจำ แต่สิ่งที่ควรระวังมากกว่านั้น คือ สิ่งสกปรกใต้ฝารองนั่งที่พนักงานอาจทำความสะอาดได้ไม่ทั่วถึง โดยผู้ชายอาจเสี่ยงต่อเชื้อโรคที่ติดมากับมือได้จากการยกฝารองนั่งขึ้นเพื่อปัสสาวะ และแม้ว่าห้องน้ำจะดูสะอาด ไม่มีรอยเปื้อน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่

ไม่เพียงการสัมผัสกับฝารองนั่งที่เสี่ยงต่อการสัมผัสกับเชื้อโรค แต่ส่วนอื่น ๆ ในห้องน้ำก็อาจมีเชื้อโรคได้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นที่กดชักโครก ลูกบิด สายชำระ หรือราวจับในห้องน้ำ ซึ่งหากไม่ได้ล้างมือด้วยสบู่อย่างเหมาะสมแล้วนำมือนั้นมาหยิบอาหารรับประทานหรือไปสัมผัสกับเยื่อบุตา จมูก ใบหน้า ก็อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเจ็บป่วยได้ ส่วนมากเชื้อโรคที่อาจได้รับจากการใช้ห้องน้ำมักมากับอุจจาระ คือ เชื้อซาลโมเนลล่า (Salmonella) ที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ปวดท้อง และมีไข้

นอกจากนี้ การกดชักโครกและการใช้สายชำระแต่ละครั้งอาจทำให้เกิดการกระเซ็นของน้ำในชักโครก ทำให้เกิดละอองน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคลอยฟุ้งในอากาศและติดตามพื้นผิวที่อยู่ใกล้เคียงได้ ดังนั้น การล้างมือหลังเข้าห้องน้ำอย่างถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและขาดไม่ได้ อีกทั้งผู้ที่เป็นโรคหืดและโรคภูมิแพ้ยังอาจเสี่ยงต่อการสัมผัสกับเชื้อราภายในห้องน้ำ ซึ่งอาจไปกระตุ้นอาการของโรคให้กำเริบได้ด้วย

เข้าห้องน้ำสาธารณะอย่างไรให้ปลอดภัย

การระมัดระวังและการดูแลความสะอาดเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่ควรละเลยในการใช้ห้องน้ำสาธารณะ เพื่อลดการสัมผัสกับเชื้อโรคให้ได้มากที่สุด สามารถทำตามคำแนะนำได้ดังนี้ 

1. ทำความสะอาดฝารองนั่งก่อนใช้ทุกครั้ง บางสถานที่อาจมีแอลกอฮอล์ทำความสะอาดไว้ให้ใช้ แต่หากไม่มี ควรพกกระดาษชำระที่มีสารฆ่าเชื้อโรคและใช้เช็ดก่อนนั่งเสมอ

2. พกกระดาษชำระติดตัวเสมอเพื่อใช้สัมผัสพื้นผิวในห้องน้ำ เช่น ลูกบิดประตูและที่กดชักโครก

3. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำเปล่าอย่างน้อย 20 วินาทีทุกครั้งหลังใช้ห้องน้ำ เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจติดมากับมือ

4. หลังล้างมือควรใช้กระดาษที่แห้งและสะอาดในการซับมือ หากใช้เครื่องเป่ามือ ควรระมัดระวังไม่ให้มือสัมผัสกับพื้นผิวของอุปกรณ์

5. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำจากสาเหตุต่าง ๆ ควรเลี่ยงการใช้ห้องน้ำสาธารณะ หากจำเป็นต้องใช้ก็ควรเลือกห้องน้ำที่สะอาดและระมัดระวังในการใช้ เพราะเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรง

เพียงเท่านี้ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อโรค ทั้งบริเวณอวัยวะเพศและมือ อย่างไรก็ตาม ควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการผิดปกติ อย่างคัน ระคายเคืองบริเวณอวัยวะเพศ ตกขาวมีกลิ่น รู้สึกเจ็บปวดขณะปัสสาวะ หรือมีไข้