ลิ้นแตก รู้จักสาเหตุและวิธีการรับมืออย่างถูกวิธี

ลิ้นแตก เป็นอาการที่มีรอยแตก รอยย่น หรือรอยแยกกระจายอยู่บนลิ้นหรือข้างลิ้น โดยลิ้นแตกมักเป็นอาการที่ไม่อันตราย เนื่องจากรอยแตกมักเกิดบนพื้นผิวของลิ้นเท่านั้น โดยลิ้นแตกมักเกิดขึ้นร่วมกับโรคหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น ลิ้นลายแผนที่ ดาวน์ซินโดรม หรือร่างกายขาดสารอาหาร 

ลิ้นเป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญภายในช่องปากที่มีหน้าที่ช่วยในการเคี้ยว การกลืนอาหาร การพูด และการหายใจ โดยลิ้นปกติมักมีสีชมพูและอาจมีลักษณะแตกต่างกันไป ซึ่งลิ้นแตกก็เป็นหนึ่งในลักษณะของลิ้นปกติที่สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย อย่างไรก็ตาม หากลิ้นหรือรอยแตกบนลิ้นมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

ลิ้นแตก

รู้จักสาเหตุที่ทำให้ลิ้นแตก

ลิ้นแตกถือว่าเป็นลักษณะของลิ้นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันยังคงไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดลิ้นแตกอย่างชัดเจน โดยรอยแตกหรือรอยแยกบนลิ้นอาจลึกหรือรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ลิ้นแตกมักเกิดขึ้นพร้อมกับอาการหรือปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น

นอกจากนี้ ลิ้นแตกอาจเกิดจากพันธุกรรม เนื่องจากผู้ที่มีอาการลิ้นแตกมักมีบุคคลภายในครอบครัวเป็นลิ้นแตกเช่นกัน

วิธีการรับมือลิ้นแตกอย่างถูกวิธี

ลิ้นแตกเป็นอาการที่ไม่อันตรายต่อร่างกาย และไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่ผู้ที่มีอาการลิ้นแตก ควรดูแลความสะอาดของลิ้นอยู่เสมอ เพราะอาจมีเศษอาหารเข้าไปติดตามร่องลิ้นหรือรอยแตกบนลิ้นได้ โดยเศษอาหารที่ติดอยู่อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพภายในช่องปาก เช่น ระคายเคืองลิ้น กลิ่นปาก และคราบหินปูน 

โดยการดูแลความสะอาดของลิ้นและช่องปากอาจทำได้หลายวิธี เช่น

  • แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง เพื่อขจัดเศษอาหาร เชื้อโรค หรือคราบหินปูนที่ติดอยู่ตามไรฟัน และป้องกันไม่ให้เศษอาหารหล่นไปติดตามรอยแตกบนลิ้น
  • แปรงลิ้นวันละ 2 ครั้ง โดยแลบลิ้นให้สุดความยาว จากนั้นใช้แปรงสีฟันเริ่มแปรงจากโคนลิ้นจนถึงปลายลิ้น และจากด้านซ้ายไปด้านขวา การแปรงลิ้นอาจช่วยให้เศษอาหารที่ติดอยู่ตามรอยแตกหลุดออก และช่วยลดอาการระคายเคืองจากการมีเศษอาหารติดอยู่บนลิ้นได้
  • ใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนช่วยในการต้านเชื้อแบคทีเรีย เพื่อช่วยลดคราบแบคทีเรียที่เกาะอยู่บนรอยแตกของลิ้น อีกทั้งการใช้น้ำยาบ้วนปากยังช่วยลดปัญหากลิ่นปาก และปัญหาสุขภาพช่องปากอื่น ๆ อีกด้วย
  • ใช้ไหมขัดฟันวันละ 1 ครั้งเพื่อขจัดเศษอาหารที่ติดอยู่ตามไรฟัน
  • ดื่มน้ำหลังจากกินอาหารทุกครั้ง น้ำอาจช่วยชะล้างเศษอาหาร หรือคราบเหนียวจากอาหารและเครื่องดื่มที่ติดอยู่ตามร่องลิ้นให้หลุดออก
  • ไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้งเพื่อตรวจสุขภาพช่องปาก และทำความสะอาดภายในช่องปากอย่างละเอียด 

โดยส่วนใหญ่แล้ว ลิ้นแตกมักไม่ก่อให้เกิดอาการอื่น ๆ แต่ถ้าหากมีลิ้นแตกร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น สีลิ้นเปลี่ยนไป แสบหรือเจ็บลิ้น ลมหายใจมีกลิ่น กินอาหารหรือกลืนอาหารลำบาก ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาอย่างถูกต้องต่อไป