อาการขมปาก รู้จักสาเหตุและแนวทางการรับมือ

อาการขมปาก คืออาการที่รู้สึกเหมือนลิ้นได้รับรสขมอยู่ในปาก อาการนี้สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยในบางครั้งอาจเป็นเพียงอาการที่เกิดขึ้นชั่วคราวหลังจากรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มบางชนิดที่มีรสขม ซึ่งในกรณีนี้ อาการขมปากก็มักจะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปได้เองหลังจากบ้วนปากด้วยน้ำสะอาดหรือแปรงฟัน

อย่างไรก็ตาม หากอาการนี้ไม่หายไปเอง ก็อาจเป็นไปได้ว่าอาการขมปากที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณของโรคบางชนิดได้ เช่น กรดไหลย้อน ไซนัสอักเสบ หรือไวรัสตับอักเสบบี นอกจากนี้ ในบางคนอาการขมปากยังอาจนำไปสู่ปัญหาอื่นได้อีกด้วย เช่น อาจส่งผลให้ผู้ที่มีอาการเกิดเบื่ออาหารจนขาดสารอาหารบางชนิด

อาการขมปาก

สาเหตุของอาการขมปาก

อาการขมปากสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งอาจเพียงเป็นผลมาจากรสชาติของอาหารหรือเครื่องดื่มบางชนิด แต่ในบางครั้งก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาทางสุขภาพบางอย่างได้  เช่น

1. กรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD)

กรดไหลย้อนเป็นภาวะที่เกิดจากการที่หูรูดส่วนปลายของหลอดอาหารที่มีหน้าที่คอยป้องกันกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับขึ้นไปทางหลอดอาหารทำงานผิดปกติไป จนส่งผลให้กรดในกระเพาะไหลย้อนขึ้นไป

นอกจากอาการขมปากแล้ว ผู้ป่วยภาวะนี้ยังมักพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการแสบร้อนกลางอก โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารและขณะนอนราบ และอาการกลืนลำบาก

2. ไซนัสอักเสบ

ไซนัสอักเสบเป็นภาวะที่เกิดจากการที่เยื่อบุไซนัสเกิดการอักเสบเนื่องจากมีการติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือบางครั้งอาจเป็นสารก่อภูมิแพ้ก็ได้เช่นกัน โดยอาการอื่นที่อาจพบได้จากภาวะนี้ก็เช่น รู้สึกปวดบริเวณใบหน้า คัดจมูก น้ำมูกไหล ปวดฟัน ปวดหู ปวดศีรษะ และมีไข้

3. ภาวะปากแห้ง

ภาวะปากแห้งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการที่ร่างกายผลิตน้ำลายออกมาน้อยลงผิดปกติ โดยนอกจากจะส่งผลให้เกิดภาวะปากแห้งแล้ว การที่ร่างกายผลิตน้ำลายออกมาน้อยลงยังอาจส่งผลให้การรับรู้รสของร่างกายผิดปกติไปด้วย

ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้ก็เช่น รู้สึกเหนียวในช่องปาก น้ำลายเหนียวข้น เจ็บคอ คอแห้ง เสียงแหบ ลิ้นแห้ง และมีกลิ่นปาก 

4. การตั้งครรภ์

ในช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนรับรสของร่างกาย มักเกิดการเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้ว คุณแม่ที่มีภาวะนี้มักพบว่าอาการขมปากจะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากที่คลอดบุตรเรียบร้อยแล้ว

5. วัยทอง

ผู้หญิงที่เข้าสู่ช่วงวัยทองเป็นกลุ่มหนึ่งที่พบอาการขมปากได้บ่อย เนื่องจากเมื่ออายุเพิ่มขึ้นหรือเข้าสู่ช่วงวัยทอง ผู้หญิงมักมีโอกาสเกิดภาวะปากแห้ง ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของอาการขมปากได้ง่าย

นอกจากนี้ วัยทองยังเป็นภาวะที่ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายของผู้หญิงเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่อาจพบได้ของอาการขมปาก ได้อีกด้วย โดยในกรณีนี้ ผู้ที่มีอาการขมปากอาจจะพบอาการแสบร้อนบริเวณปลายลิ้นร่วมด้วย

6. ไวรัสตับอักเสบ บี

ไวรัสตับอักเสบ บีเป็นโรคที่เกิดจากการที่ตับติดเชื้อไวรัส โดยหนึ่งในอาการแรก ๆ ที่อาจพบได้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็คือ อาการขมปาก

นอกจากนี้ อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้จากโรคนี้ก็เช่น เบื่ออาหาร ปัสสาวะมีสีเข้ม ปวดตามข้อ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีกลิ่นปาก ผิวหนังและดวงตามีสีออกเหลือง

7. การใช้ยาหรือกระบวนการรักษาทางการแพทย์บางชนิด

ในบางครั้งอาการขมปากอาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาหรือกระบวนการรักษาโรคบางอย่างได้เช่นกัน โดยตัวอย่างยาที่อาจเป็นสาเหตุก็เช่น ยาลิเทียม (Lithium) สังกะสี โครเมียม ทองแดง ยารักษาโรคหัวใจ ยาปฏิชีวนะ และยาในกลุ่มเตตราไซคลิน (Tetracycline)

ส่วนวิธีการรักษาทางการแพทย์ที่อาจส่งผลให้ผู้เข้ารับการรักษาเกิดอาการขมปากก็เช่น การทำเคมีบำบัดหรือคีโมwww.pobpad.com/เตรียมให้พร้อมก่อนรับค และการใช้รังสีรักษา เนื่องจากวิธีการรักษาเหล่านี้อาจส่งผลให้ต่อมรับรสของผู้ป่วยเกิดการระคายเคืองได้

คำแนะนำสำหรับผู้ที่มีอาการขมปาก

ในเบื้องต้นผู้ที่มีอาการขมปากอาจลองนำวิธีดังต่อไปนี้ไปใช้เพื่อบรรเทาอาการขมปาก

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • เคี้ยวหมากฝรั่งเพื่อเพิ่มการผลิตน้ำลายของร่างกาย แต่ควรเลือกสูตรไม่ผสมน้ำตาล
  • รักษาความสะอาดในช่องปาก โดยการแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง รวมถึงควรใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วย
  • สำหรับผู้ที่มีภาวะกรดไหลย้อน ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยาหรือการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง เช่น เลี่ยงอาหารรสเผ็ดและอาหารไขมันสูง เลี่ยงการสูบบุหรี่ และเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

ทั้งนี้ วิธีเหล่านี้เป็นเพียงการดูแลตัวเองจากอาการขมปากในเบื้องต้นเท่านั้น ผู้ที่มีอาการนี้ในลักษณะที่อาจเป็นสัญญาณของโรคผิดปกติยังคงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่ถูกต้อง เช่น อาการขมปากไม่ดีขึ้นหลังจากผ่านไปหลายวัน หรืออาการเกิดขึ้นร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ โดยเฉพาะในลักษณะที่ได้ยกตัวอย่างไป