เชื้อราในปาก

ความหมาย เชื้อราในปาก

เชื้อราในปาก (Oral Thrush) คืออาการติดเชื้อในภายในช่องปาก เกิดจากเชื้อราแคนดิดา (Candida) ซึ่งเป็นผลมาจากอาการเจ็บป่วย ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ หรือการใช้ยาบางชนิดที่ไปกระตุ้นให้เชื้อรา ชนิดนี้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เชื้อราในปากไม่ค่อยมีอันตรายและสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาฆ่าเชื้อรา

เชื้อราในปาก

อาการเชื้อราในปาก

แม้จะมีสาเหตุเกิดจากเชื้อราชนิดเดียวกัน แต่การแสดงออกของอาการเชื้อราในปากจะแตกต่างกันไปตามปัจจัยดังนี้

เด็กและผู้ใหญ่ในเบื้องต้นผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่าตัวเองเป็นเชื้อราในปาก ทั้งนี้การแสดงอาการนั้น อาจจะเกิดขึ้นทันทีหรือต้องใช้เวลาหลายวัน หลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน โดยลักษณะอาการมีดังนี้

  • มีคราบสีขาวที่ลิ้น กระพุ้งแก้ม หรือเพดานปาก ที่เหงือก และต่อมทอนซิล
  • ลักษณะคราบขาวจะมีลักษณะคล้ายกับฝ้าในปาก
  • ภายในช่องปากแดง หรือเป็นแผล จนส่งผลกระทบต่อการกลืนอาหารหรือการเคี้ยวอาหาร
  • อาจมีเลือดออกซิบ ๆ มาจากบริเวณนั้นหากไปถู หรือขูด
  • ผู้ที่ใส่ฟันปลอมอาจมีอาการปากแตกหรือเป็นรอยแดงที่มุมปาก
  • รู้สึกปากแห้ง
  • ลิ้นไม่ค่อยรับรู้รสชาติ

ในรายที่รุนแรงคราบเชื้อราอาจแพร่กระจายลงไปภายในหลอดอาหาร จนทำให้กลืนอาหารได้ลำบากและมีอาการเหมือนมีอะไรติดคออยู่ตลอดเวลา

ทารก และหญิงให้นมบุตร ทารกที่เกิดเชื้อราภายในช่องปากจะมีปัญหาเรื่องการดูดนม และมีอาการหงุดหงิดได้ง่าย นอกจากนี้ ยังอาจแพร่เชื้อไปยังมารดาได้ผ่านทางการดูดนมแม่ ทำให้มารดามีอาการติดเชื้อราที่บริเวณหัวนม และมีอาการดังต่อไปนี้

  • เกิดอาการคัน เจ็บ ที่บริเวณหัวนม
  • หัวนมมีลักษณะแดง หรือแห้งแตกผิดปกติ
  • ลานหัวนมมีลักษณะเงา เป็นขุย
  • มีอาการเจ็บขณะที่ขณะหัวนมขณะที่ให้นมบุตร
  • อาจมีอาการเจ็บร้าวลึกเข้าไปในหน้าอก

สาเหตุของเชื้อราในปาก

เชื้อราในปากมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อราแคนดิดา ซึ่งโดยปกติแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันจะช่วยป้องกันการติดเชื้อราดังกล่าวได้ แต่ถ้าหากสมดุลของระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ก็จะทำให้เชื้อราแคนดิดาเจริญเติบโตจนเกินการควบคุม และกลายเป็นอาการติดเชื้อรา โดยกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อเชื้อราในปาก คือ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อย่างเด็กทารก และเด็กเล็ก และผู้ที่มีประวัติการปลูกถ่ายอวัยวะ ส่วนสาเหตุที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเกิดความผิดปกติ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • การรักษาโรคมะเร็ง ด้วยเคมีบำบัดหรือฉายรังสี ซึ่งส่งผลกระทบให้เซลล์ที่ดีอ่อนแอลง และเซลล์บางส่วนถูกทำลายไปพร้อมกับเซลล์มะเร็ง
  • โรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อ HIV โรคเอดส์ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน โรคเบาหวาน ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันจนทำให้เชื้อราเจริญเติบโตขึ้น
  • การตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ และมีภาวะเชื้อราในช่องคลอด จะแพร่เชื้อราแคนดิดาไปยังเด็กทารกขณะที่คลอดบุตรได้ ทำให้เด็กทารกเกิดเชื้อราในช่องปาก
  • การใช้ยาปฏิชีวนะ ผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะในปริมาณมากติดต่อกันเป็นเวลานานอาจเกิดเชื้อราในปากได้
  • การใช้ยาพ่นสเตียรอยด์ในผู้ป่วยโรคหอบหืด ผู้ป่วยโรคหอบหืดที่ต้องใช้ยาพ่นสเตียรอยด์เป็นประจำอาจมีเชื้อราเกิดขึ้นในช่องปาก
  • การใส่ฟันปลอม หากใส่ไม่ถูกต้องหรือใส่ไม่พอดีก็อาจทำให้เกิดเชื้อราในช่องปากได้
  • การรักษาความสะอาดของช่องปากที่ไม่ดี ผู้ที่ดูแลสุขภาพช่องปากไม่ดี อาจเป็นสาเหตุของเชื้อราในช่องปากได้
  • อาการปากแห้ง ผู้ที่มีอาการปากแห้งจากการใช้ยา หรือปัญหาสุขภาพต่าง ๆ อาจไปกระตุ้นการเกิดเชื้อราได้
  • สูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ สารเคมีในบุหรี่จะกระตุ้นให้เชื้อราภายในช่องปากเจริญเติบโตมากขึ้น

การวินิจฉัยเชื้อราในช่องปาก

เชื้อราในปากถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งในเบื้องต้นหากผู้ป่วยเห็นคราบขาวภายในช่องปาก ควรไปพบแพทย์ หรือทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียด โดยแพทย์จะตรวจและนำตัวอย่างจากบริเวณแผลไปตรวจกับห้องปฏิบัติการอีกครั้งเพื่อยืนยันผล แต่หากอาการเชื้อรานั้นแพร่กระจายลงไปในหลอดอาหาร อาจต้องตรวจเพิ่มเติม เช่น

  • การเพาะเชื้อ โดยการนำสำลีก้านยาวป้ายเก็บตัวอย่างที่บริเวณคอด้านหลังแล้วนำไปเพาะเชื้อหาเชื้อราแคนดิดา
  • การส่องกล้อง โดยการสอดกล้องเข้าในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กเพื่อดูร่องรอยของเชื้อรา

ทั้งนี้หากแพทย์พบว่าผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อราในหลอดอาหาร แพทย์จะวางแผนการรักษาโดยเร็วที่สุด เพราะหากปล่อยไว้เชื้อราอาจลุกลามลึกลงไปในร่างกายมากขึ้น

การรักษาเชื้อราในปาก

เชื้อราในปากรักษาให้หายได้ด้วยยารักษาเชื้อรา ซึ่งในปัจจุบันมีให้เลือกใช้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นยาเม็ด ยาอม หรือยาน้ำ โดยต้องใช้ติดต่อกันอย่างน้อยประมาณ 7-14 วัน จึงจะหายเป็นปกติ จนกว่าอาการจะหายและครบตามที่แพทย์สั่ง โดยยาเหล่านี้มักเป็นยาที่ไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง แต่อาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ปวดท้อง หรือท้องเสียได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรระมัดระวังในการใช้

หากเชื้อราในปากเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือยาสเตียรอยด์ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางแก้ไข โดยแพทย์อาจเปลี่ยนยา หรือปรับขนาดยาให้เหมาะสมมากขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของเชื้อราในปาก

เชื้อราในปากมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้น้อยมาก โดยมักเกิดขึ้นได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ คือ

  • เชื้อราแพร่เข้าสู่กระแสเลือด และเป็นสาเหตุทำให้เกิดการติดเชื้อราที่อวัยวะอื่น ๆ
  • มีปัญหาในการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำ เชื้อราในปากที่กระจายไปยังหลอดอาหารจะทำให้กลืนลำบาก และอาจมีอาการเจ็บขณะรับประทานอาหาร
  • มีปัญหาในการดูดซึมสารอาหาร หากปล่อยให้มีอาการเชื้อราในปากโดยไม่รักษาอย่างจริงจัง จะทำให้เชื้อราแพร่กระจายลงไปถึงลำไส้ และอาจส่งผลให้ลำไส้ไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้อย่างเต็มที่

การป้องกันเชื้อราในปาก

ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดเชื้อราในปากได้ โดยวิธีที่จะช่วยให้ช่องปากสะอาดอยู่เสมอมีดังนี้

  • บ้วนปากทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร
  • แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันที่ผสมสารฟลูออไรด์ และใช้ไหมขัดฟันเป็นประจำ
  • พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะคนที่ใส่ฟันปลอม
  • ถอดฟันปลอมออกมาทำความสะอาดทุกคืน โดยควรทำความสะอาดด้วยยาสีฟัน หรือสบู่ และล้างน้ำให้สะอาด จากนั้นแช่ในน้ำยาสำหรับทำความสะอาดโดยเฉพาะ
  • แปรงเหงือก ลิ้น และภายในช่องปากด้วยแปรงสีฟันขนอ่อนนุ่มเป็นประจำเพื่อทำความสะอาด
  • ควรไปพบทันตแพทย์โดยทันทีหากฟันปลอมที่ใช้อยู่สวมใส่ได้ไม่พอดี
  • เลิกสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่กระตุ้นการเกิดเชื้อราได้
  • สำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืดที่ต้องพ่นยาสเตียรอยด์ ควรบ้วนปากทุกครั้งหลังจากใช้ยา
  • ควบคุมอาการของโรคที่เป็นสาเหตุของเชื้อราในปาก เช่น โรคเบาหวาน ให้อยู่ในระดับที่ดี จะช่วยลดการเกิดเชื้อราในช่องปากได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้สเปรย์พ่นปาก หรือน้ำยาบ้วนปากมากเกินจำเป็น เพราะหากใช้มากเกินไปอาจทำให้เกิดการเสียสมดุลของแบคทีเรียในช่องปากได้