เลิกบุหรี่อย่างไรให้ได้ผล

การเลิกบุหรี่จะส่งผลดีต่อทั้งตัวผู้สูบบุหรีเองและคนรอบข้าง เนื่องจากบุหรี่เป็นต้นเหตุของโรคร้ายสารพัดโรค โดยเฉพาะมะเร็งปอด ยิ่งสูบมากก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากเท่านั้น และยังอาจส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างที่ได้รับควันบุหรี่อีกด้วย ซึ่งการเลิกบุหรี่สามารถทำได้ด้วยการบำบัดรักษาที่มาพร้อมกับความตั้งใจอย่างแท้จริง โดยการติดบุหรี่หมายถึงการติดนิโคติน (Nicotine) ที่เป็นสารหลักที่อยู่ในบุหรี่ที่จะกระตุ้นการทำงานของสมองส่งผลให้หลั่งสารสื่อประสาทที่ทำให้รู้สึกดี ซึ่งผู้ที่ติดติดนิโคตินนั้นโดยมากแม้จะรู้ว่าไม่ดีต่อสุขภาพแต่ก็ยังสูบต่อไป

นิโคตินเป็นสารที่ทำให้ร่างกายรู้สึกดีและอารมณ์ดีในชั่วขณะ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้ติดบุหรี่อยากสูบต่อไปเรื่อย ๆ และนำมาสู่การติดบุหรี่ในที่สุด ในขณะเดียวกัน หากผู้ที่ติดบุหรี่หรือนิโคตินหยุดสูบบุหรี่กะทันหัน จะส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงหรืออาการถอน เช่น หงุดหงิดและมีความวิตกกังวล เป็นต้น

 เลิกบุหรี่

นอกจากผู้ที่สูบบุหรี่จะได้รับสารนิโคตินแล้ว ยังได้รับสารพิษอื่น ๆ จากบุหรี่ เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ ทาร์หรือน้ำมันดิน และสารหนู ซึ่งล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดโรคร้ายต่าง ๆ อย่างโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคมะเร็ง

อาการติดนิโคตินที่ควรได้รับการเลิกบุหรี่

สัญญาณที่บ่งบอกว่าติดสารนิโคตินหรือติดบุหรี่ มีดังนี้

  • ไม่สามารถหยุดสูบบุหรี่ได้ แม้ว่าเคยพยายามเลิกอย่างจริงจังแต่ก็ไม่สำเร็จ
  • เคยมีอาการถอนจากการพยายามเลิกบุหรี่ หากหยุดสูบบุหรี่แล้วมีอาการวิตกกังวล หงุดหงิด กระสับกระส่าย ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นาน ๆ มีภาวะซึมเศร้า ความวุ่นวายใจ ฉุนเฉียว รู้สึกหิวง่าย นอนไม่หลับ ท้องผูก หรือท้องเสีย
  • ไม่หยุดสูบบุหรี่แม้ว่าจะมีปัญหาสุขภาพ ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับปอด หัวใจ หรือเจ็บไข้ได้ป่วยต่าง ๆ แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะหยุดสูบได้  
  • เลิกเข้าสังคมหรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมสันทนาการบางอย่าง ปฏิเสธการเข้าร้านอาหารที่ห้ามสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการเข้าสังคมกับเพื่อนหรือคนในครอบครัว หรืออยู่ในสถานการณ์ใดที่ทำให้ไม่สามารถสูบบุหรี่ได้

วิธีการเลิกบุหรี่ให้ได้ผล

เมื่อตัดสินใจและมีความตั้งที่จะเลิกบุหรี่แล้ว สิ่งที่ควรทำเป็นสิ่งแรกคือการตั้งเป้าหมายและวางแผนการรักษา สิ่งที่จะส่งผลให้บรรลุเป้าหมายนั้นคือใจ การยับยั้งชั่งใจ ความพยายาม และตัวช่วยเสริมที่สำคัญคือกำลังใจและการสนับสนุนจากคนรอบข้าง โดยอาจปรึกษาเภสัชกรด้วยตนเอง เข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในการเลิกบุหรี่ ซึ่งการรักษาที่ถูกวิธีจะช่วยลดการเกิดอาการถอนจากการหยุดสูบบุหรี่ได้ 

โดยวิธีเลิกบุหรี่นั้นมีให้มีหลายวิธีดังต่อไปนี้ 

ใช้ตัวช่วยที่ให้สารนิโคตินทดแทน (Nicotine Replacement Therapy: NRT) 

จะช่วยให้มีการใช้นิโคตินในปริมาณที่น้อยลง โดยที่ไม่ต้องได้รับสารพิษและสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอื่น ๆ ที่อยู่ในบุหรี่ นอกจากนั้นยังช่วยลดอาการถอนที่ไม่พึงปรารถนา เช่น อาการที่เกี่ยวกับอารมณ์และอาการอยากบุหรี่มาก ๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อหยุดสูบบุหรี่ โดยยาที่ให้นิโคตินทดแทนมีให้เลือกใช้หลากหลายรูปแบบ ได้แก่ แผ่นแปะ ยาเม็ด หรือสเปรย์ที่ใช้พ่นทางปากและจมูก

ใช้ยาที่ไม่มีส่วนผสมของนิโคติน

แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาที่ไม่มีส่วนผสมของนิโคติน เช่น 

  • ยา Varenicline ซึ่งจะช่วยให้มีความอยากบุหรี่น้อยลงและช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ในที่สุด สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาขนาดใหญ่ เป็นกลุ่มยาที่ไม่มีนิโคตินเป็นส่วนประกอบ แต่จะไปปรับที่สารสื่อประสาท นิโคตินออกฤทธิ์ที่สมองได้น้อยลง ทำให้ลดความอยากลง ซึ่งควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
  • ยาบูโพรพิออน (Bupropion)เดิมทีแล้วเป็นยาที่ใช้ในการรักษาภาวะซึมเศร้า ต่อมาพบว่าสามารถนำมาใช้ช่วยเลิกบุหรี่ได้ เป็นกลุ่มยาที่ทำให้นิโคตินออกฤทธิ์ที่สมองได้น้อยลง และต้องใช้ยาตามแพทย์สั่งเท่านั้น

เข้าร่วมปรึกษาศูนย์บริการเลิกบุหรี่ 

ผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่สามารถเข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการอบรมมาเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่โดยเฉพาะ เป็นเหมือนการบำบัดรักษาทางจิต เมื่อผู้ติดบุหรี่ได้รับการอบรมหรือได้รับการชี้แนะวิธีที่ถูกต้องของการเลิกบุหรี่ ก็จะเป็นตัวช่วยที่มีประสิทธิภาพให้เลิกบุหรี่สำเร็จ ในบ้านเรามีศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ (ศบช.) โทร. 1600

นอกจากนั้น ที่ผู้ติดบุหรี่อาจใช้วิธีที่ฝึกทำเองได้ง่าย ๆ  อย่างการหาความท้าทายใหม่ ๆ ซึ่งในขณะที่กำลังติดบุหรี่ไม่กล้าทำหรือหลีกเลี่ยงที่จะไปในสถานที่นั้น ๆ เช่น ไปที่ที่สูบบุหรี่ไม่ได้ อย่างห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ หรือพิพิธภัณฑ์

เลิกบุหรี่ ทางเลือกสู่ชีวิตใหม่ที่ดีต่อสุขภาพ

เมื่อใช้ชีวิตที่ปลอดบุหรี่ได้ นับว่าเป็นโอกาสดีที่จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีสุขภาพดีขึ้น และอาจหมายถึงมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น รายงานวิจัยหนึ่งได้ระบุว่า หลังเลิกบุหรี่ได้นาน 1 ปี โอกาสเสี่ยงเป็นโรคหัวใจจะลดลงถึงครี่งหนึ่งจากเดิม และหากหยุดได้นาน 15 ปี โอกาสเสี่ยงเป็นโรคหัวใจจะเทียบเท่ากับคนที่ไม่สูบบุหรี่

ชีวิตใหม่ที่ไร้บุหรี่ย่อมนำมาสู่คุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ทำให้มีพลังในการใช้ชีวิตมากขึ้น ร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงขึ้น ระบบหายใจที่ดีขึ้น ความสามารถในการรับรู้รสและกลิ่นดีขึ้น และยังทำให้สมรรถภาพทางเพศดีขึ้นอีกด้วย นอกจากสุขภาพโดยรวมที่ดีขึ้นแล้ว ผลที่ได้ตามมาอีกอย่าง คือช่วยให้หน้าดูไม่แก่ก่อนวัยหรือชะลอการเกิดริ้วรอยก่อนวัย รวมไปถึงประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมายจากการเลิกบุหรี่ ล้วนแล้วแต่นำมาสู่ชีวิตที่ดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม ชีวิตที่ไร้บุหรี่นั้น ไม่ได้หมายความว่าจะไร้ซึ่งความเครียด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคนที่สูบบุหรี่มักจะใช้เป็นข้ออ้างในการกลับมาสูบใหม่ เช่น ความเครียด เพื่อเข้าสังคม โดยจุดนี้เองที่คนติดบุหรี่ควรให้ความสำคัญ 

แทนที่จะใช้นิโคตินในการรับมือกับความเครียด ควรเรียนรู้หรือหาวิธีอื่น ๆ ในการรับมือกับความเครียดแทน ซึ่งมีหลากหลายวิธีและหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะทางออนไลน์ ห้องสมุด ปรึกษาแพทย์ หรือปรึกษาผู้ให้คำปรึกษาสุขภาพทางจิต การแก้ไขที่ต้นเหตุน่าจะเป็นวิธีที่ช่วยให้การเลิกบุหรี่ของคุณมีประสิทธิภาพและสำเร็จได้ในที่สุด