Shisha (ชิชา) ภัยเงียบในความหอมหวาน

Shisha (ชิชา) คือวิธีการสูบยาสูบชนิดหนึ่ง โดยชื่อของชิชานั้นมาจากอุปกรณ์การสูบที่มีลักษณะกระบอก โดยจะประกอบด้วยเตาลักษณะพิเศษและหม้อเล็ก ๆ สำหรับใส่น้ำเพื่อช่วยในการสูบ ชิชามีอีกชื่อหนึ่งว่า บารากุ (Baraku) หรือฮุคคา (Hookah) และถึงแม้ว่าวิธีการสูบจะค่อนข้างแตกต่างจากการสูบยาสูบชนิดอื่น ๆ แต่ก็ส่งผลอันตรายไม่แพ้กับการสูบบุหรี่ เนื่องจากผู้สูบก็ยังคงได้รับสารพิษจากใบยาสูบและควันที่เผาไหม้ด้วยเช่นกัน

Shisha

การสูบชิชาเชื่อว่าเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของคนในตะวันออกกลางและประเทศอินเดียเมื่อกว่า 400 ปีก่อน จากนั้นก็แพร่กระจายอย่างรวดเร็วมายังประเทศในแถบทวีปเอเชียซึ่งมีวัฒนธรรมในการสูบยาที่คล้ายคลึงกัน การสูบชิชาได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบันโดยกลุ่มวัยรุ่น เนื่องจากชิชานั้นมักมีการแต่งกลิ่นหลากหลายก ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นแอปเปิล มินท์ เชอร์รี ช็อกโกแลต มะพร้าว ชะเอม กาแฟ หรือกลิ่นแตงโม อีกทั้งควันสูดดมนั้นยังอาจให้ความรู้สึกเย็นกว่า รวมทั้งมีความเชื่อว่าสูบชิชาแล้วจะไม่ติดเหมือนการสูบบุหรี่ จึงทำให้คนส่วนใหญ่ที่สูบชิชามักคิดว่าชิชาปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่

ชิชาประกอบด้วยอะไรบ้าง ?

ในการสูบชิชานั้นจะประกอบเตาชิชา ใบยาสูบผสมกับผลไม้อบแห้ง หรือกากน้ำตาล และใช้ไม้ ถ่าน หรือถ่านหินเป็นตัวเผาไม้ใบยาสูบเพื่อให้ได้ควัน ทั้งนี้ในการสูบชิชา น้ำจะเป็นส่วนประกอบทำให้เกิดความชื้นภายในเตาสูบ จึงทำให้ผู้สูบได้รับควันที่มีกลิ่นหอมมากกว่าการสูบบุหรี่

ชิชา มีประโยชน์หรือไม่ ?

แม้ว่าการสูบชิชาจะให้ผู้สูบได้รับกลิ่นควันที่หอมหวาน แต่การสูบชิชานั้นแทบจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย มิหนำซ้ำยังก่อให้เกิดอันตรายกับสุขภาพได้มากกว่า แม้ในปัจจุบันได้มีการผลิตชิชาในรูปแบบของแท่งยาสูบไฟฟ้าที่หลายคนเชื่อว่าปลอดภัยกว่าการสูบแบบดั้งเดิม เนื่องจากการสูบชิชาไฟฟ้าจะใช้พลังงานไฟฟ้าและความร้อนทำให้เกิดควันจึงทำให้ไม่เกิดควันออกมามาก แต่ก็ยังไม่มีผลการศึกษาใดที่ยืนยันเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน

ชิชา ปลอดภัยหรือไม่ ?

การสูบชิชานั้นมีอันตรายไม่แพ้การสูบยาสูบชนิดอื่น ๆ เพราะถึงการสูบชิชาจะใช้สมุนไพรเป็นส่วนประกอบ แต่ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าส่วนประกอบเหล่านั้นจะดีต่อสุขภาพ อีกทั้งในการสูบก็ต้องใช้ใบยาสูบร่วมด้วย หรือหากผู้สูบไม่ใช้ใบยาสูบ ก็ยังเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษจากการเผาไหม้ด้วยเช่นกัน

อันตรายจากชิชา มีอะไรบ้าง ?

ชิชาถือเป็นยาสูบอีกชนิดหนึ่งที่อันตรายไม่แพ้กับบุหรี่ เพราะควันของชิชาเป็นควันที่มีสารพิษอันตรายอยู่มากมาย โดยการสูบชิชาจะต้องใช้การเผาไหม้ของไม้ หรือถ่าน ซึ่งก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และสารพิษต่าง ๆ เช่น นิโคติน ทาร์ และโลหะหนักต่าง ๆ เช่น สารหนู และตะกั่ว และถึงแม้ว่าจะมีน้ำช่วยในการสร้างความชื้นภายในเตาสูบ แต่สารพิษก็ยังมีอยู่ในปริมาณมากอยู่ดี โดยอันตรายที่จะได้รับจากการสูบชิชา ได้แก่

  • อาจได้รับสารพิษมากกว่าการสูบบุหรี่ การสูบชิชาจะทำให้ได้รับสารพิษมากกว่าการสูบบุหรี่ เพราะควันของชิชามีกลิ่นหอมจึงทำให้ผู้สูบมักสูบนานกว่าบุหรี่ทำให้สูดควันเข้าไปมากกว่าบุหรี่นั่นเอง
  • นำพาไปสู่การเสพติด การสูบชิชาจะทำให้ร่างกายได้รับสารนิโคตินเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ ดังนั้นผู้ที่สูบชิชาเป็นประจำจึงมีแนวโน้มที่จะเสพติดได้
  • ก่อให้เกิดความเสี่ยงสุขภาพร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ มีบุตรยาก กระดูกพรุน โรคเหงือก หลอดลมอักเสบเรื้อรัง
  • เกิดริ้วรอยก่อนวัย เนื่องจากสารพิษจากควันของชิชาอาจทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นและเกิดริ้วรอยตามมาได้
  • เกิดความเสี่ยงสุขภาพต่อทารกแรกเกิด สตรีมีครรภ์ที่สูบชิชา ไม่ได้ส่งผลเสียต่อร่างกายของตนเองเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลถึงทารกในครรภ์ด้วย และทำให้มีความเสี่ยงสูงที่ทารกจะเกิดมามีน้ำหนักตัวที่น้อยผิดปกติ
  • เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ชิชาที่ใช้ร่วมกัน หากไม่ได้รับการทำความสะอาดที่ดี ก็อาจกลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคต่าง ๆ และนำมาสู่โรคติดเชื้อที่อันตรายได้
  • การทำงานของปอดลดลง การสูบชิชาติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้ปอดเสื่อมสภาพจากสารพิษ และก่อให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจตามมา เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด และหลอดลมอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น
  • เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง สารพิษและควันจากชิชาทำให้ผู้สูบมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้หลายชนิดเช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ เช่น โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งช่องปาก โรคมะเร็งหลอดอาหาร โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น

การสูบชิชาไม่ได้เพียงส่งผลต่อผู้สูบเองเท่านั้น แต่ควันจากการสูบชิชานั้นอาจส่งผลต่อคนรอบข้างได้ หรือที่เรียกกันว่าควันมือสอง โดยผู้ที่ต้องอยู่ใกล้บริเวณที่มีการสูบชิชา แม้ไม่ได้เป็นผู้สูบเอง แต่ก็ทำให้ได้รับสารพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ตามไปด้วย

ถึงการสูบชิชาจะดูเหมือนไม่มีพิษภัย แต่แท้จริงแล้วก็ถือได้ว่าอันตรายไม่ใช่น้อย ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยของสุขภาพ ควรหลีกเลี่ยงการสูบหรืออยู่ให้ไกลจากบริเวณที่มีการสูบจะดีที่สุด เพื่อจะได้ไม่ต้องเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษที่ทำลายสุขภาพและชีวิตในระยะยาว