ไอมีเสมหะ หยุดอาการกวนใจเพียงแก้ไขให้ถูกวิธี

ไอมีเสมหะ คืออาการไอร่วมกับมีของเหลวเป็นเมือกเหนียวออกมาขณะไอด้วย ถือเป็นหนึ่งปัญหากวนใจคนทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะหน้าร้อนหรือหน้าฝนก็ตาม ซึ่งอาการไอลักษณะนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งภูมิแพ้ ไข้หวัดธรรมดา หรือไข้หวัดใหญ่ และอาจมีอาการอื่นเกิดขึ้นพร้อมกันด้วย เช่น ไข้ คัดจมูก น้ำมูกไหล อ่อนเพลีย เป็นต้น 

แท้จริงแล้ว อาการไอเป็นการตอบสนองของร่างกายเพื่อขจัดสิ่งที่อุดกั้นระบบทางเดินหายใจอย่างเสมหะหรือสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองในลำคอ และขับเชื้อโรคออกไป โดยอาการไอมีอยู่ 2 ประเภทหลัก คือ ไอแห้งซึ่งจะไม่มีเสมหะหรือสารคัดหลั่งอื่น ๆ ออกมาขณะไอ และไอแบบมีเสมหะซึ่งเป็นการไอที่มีของเหลวที่เปฺ็นเมือกเหนียวออกมาด้วย โดยทั่วไปแล้ว อาการไอมักดีขึ้นและหายไปได้เองภายในประมาณ 2-3 สัปดาห์ หากเกิดอาการนานกว่านี้ หรือเกิดความผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย ควรไปปรึกษาแพทย์

ไอมีเสมหะ

สาเหตุของไอมีเสมหะ

ไอมีเสมหะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ชนิดเฉียบพลันโดยจะมีอาการน้อยกว่า 3 สัปดาห์ และชนิดเรื้อรังโดยจะมีอาการติดต่อกันเกิน 8 สัปดาห์ขึ้นไป (หรือเกิน 4 สัปดาห์สำหรับเด็ก) โดยปกติแล้วระบบทางเดินหายใจจะมีเยื่อเมือกที่ผลิตของเหลวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในทางเดินหายใจ แต่เมื่อเกิดการติดเชื้อขึ้น ร่างกายจะสร้างของเหลวนี้มากขึ้นจนกลายเป็นเสมหะเพื่อช่วยดักจับและขับเชื้อโรคหรือสิ่งระคายเคืองออกไป โดยการไอจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายขับเสมหะในทางเดินหายใจและปอดออกมานั่นเอง

ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอย่างไข้หวัด โรคภูมิแพ้ หรือโรคหืดหลายรายอาจเกิดอาการไอมีเสมหะร่วมด้วย ตัวอย่างโรคหรือภาวะดังต่อไปนี้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยไอและมีเสมหะเช่นเดียวกัน 

  • โรคหลอดลมอักเสบ
    มักมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส มีทั้งชนิดเฉียบพลันที่พบได้บ่อย มักหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์ และชนิดเรื้อรังที่มีอาการนานกว่า 3 เดือน 
  • ปอดบวมหรือปอดอักเสบ
    เกิดจากปอดติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียและมีการอักเสบของถุงลมในปอด อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้หากไม่รับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)
    เป็นการอักเสบเรื้อรังของปอดและหลอดลม โดยผู้ป่วยมักมีทั้งภาวะหลอดลมอักเสบเรื้อรังและถุงลมโป่งพอง 

ไอมีเสมหะรักษาได้อย่างไร 

การรักษาอาการไอมีเสมหะนั้นแตกต่างกันไปตามสาเหตุ ผู้ป่่วยอาจเลือกใช้ยาประเภทต่าง ๆ ด้วยตนเอง เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้ไข้อย่างพาราเซตามอล ยาแก้แพ้ เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ปกครองไม่ควรซื้อยาแก้หวัดหรือแก้ไอให้เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี รับประทานเอง แต่ควรพาบุตรหลานไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ผู้รับประทานควรเลือกชนิดของยาแก้ไอให้ถูกต้องกับประเภทของการไอ ซึ่งสำหรับผู้ที่มีอาการไอแห้งหรือไอไม่มีเสมหะสามารถเลือกใช้ยาแก้ไอชนิดระงับอาการไอหรือยากดอาการไอ (Antitussives) ส่วนผู้ที่ไอมีเสมหะควรรับประทานยาที่ช่วยให้ร่างกายขับเสมหะออกมาได้ง่ายและไม่คั่งค้างอยู่ในระบบทางเดินหายใจ 

ตัวอย่างของยาสำหรับไอมีเสมหะ มีดังนี้ 

ยาขับเสมหะ (Expectorants)  

ตัวยาจะไปเพิ่มของเหลวในทางเดินหายใจเพื่อช่วยลดความเหนียวข้นของเสมหะ ทำให้ผู้ป่วยขับเสมหะออกจากร่างกายด้วยการไอได้ง่ายขึ้น แต่ในระยะแรกมักมีเสมหะมากขึ้นเนื่องจากสารคัดหลั่งที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อผู้ป่วยไอเอาเสมหะออกมา อาการไอก็จะลดน้อยลง แต่อาจมีผลข้างเคียงอย่างคลื่นไส้ อาเจียน ระคายกระเพาะได้

ยาละลายเสมหะ (Mucolytics) 

ตัวอย่างของยาละลายเสมหะ คือ ยาเอ็นอะเซทิลซิสเทอีน (N-Acetylcysteine) โดยตัวยาจะช่วยลดความเหนียวและข้นของเสมหะ ทำให้ร่างกายกำจัดเสมหะได้ง่ายขึ้น ยากลุ่มนี้จัดจำหน่ายในหลายรูปแบบและมีทางเลือกใหม่ในรูปของยาเม็ดชนิดฟู่ที่เพียงใส่ยาในน้ำประมาณครึ่งแก้ว รอจนละลายแล้วรับประทานได้ทันที ยาเม็ดฟู่อาจช่วยให้รับประทานได้ง่ายและร่างกายสามารถดูดซึมตัวยาได้ง่ายขึ้น โดยควรใช้ในปริมาณที่เหมาะสมคือ 600 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง แม้ยาละลายเสมหะก่อผลข้างเคียงได้น้อย แต่หากมีอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดท้อง หรืออุจจาระเป็นสีดำ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

นอกจากการรับประทานยาตามที่กล่าวข้างต้น ก็ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่ช่วยบรรเทาอาการไอมีเสมหะได้ เช่น ดื่มน้ำเปล่าให้มาก กลั้วคอหรือล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ นอนหมอนสูง ไม่สูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงควันบุหรี่มือสอง ใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศ หากมีอาการระคายคอหรือเจ็บคอร่วมด้วยอาจใช้สเปรย์ผสมคาโมไมล์บรรเทาอาการเจ็บคอหรือระคายเคืองภายในคอ โดยอาจผสมน้ำมันหอมระเหยหลากชนิดมาไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นยูคาลิปตัสและมะกรูด ซึ่งมีสรรพคุณช่วยต้านการอักเสบระคายเคืองอันเป็นสาเหตุหนึ่งของอาการเจ็บคอ สามารถใช้ได้เมื่อเกิดอาการทันที เพื่อให้การทำงานหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างวันนั้นดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมักเป็นรูปแบบสเปรย์พ่นที่ใช้งานสะดวก มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป ผู้ที่มีข้อสงสัยควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้งานเสมอ       

อย่างไรก็ตาม หากลองรับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้แล้ว ยังไอมีเสมหะอยู่ หรืออาการรุนแรงขึ้นก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องต่อไป