ถามแพทย์

  • หายใจมีเสียงหวีด ไอ เหนื่อย มีเสมหะเเหนียว เป็นมา 2 เดือน ไปหาหมอ ตรวจเอกซเรย์ ปกติดี ให้ยาขยายหลอดลมมาทาน แต่ไม่ดีขึ้น

  •  Supamin
    สมาชิก
    ผมมีอาการหายใจมีเสียงหวืดดังมาจากในอก ไอรุนเเรง หายใจเหนื่อยๆ มีเสมหะเเต่ไม่ค่อยออกมานะครับ เสมหะมีความข้นเหนียว เป็นมา2เดือนแล้วครับ ผมไม่เคยมีประวัติเป็นหอบหืด ไปหาหมอ หมอตรวจเอกซเรย์ บอกว่าปกติ ให้ยาขยายหลอดลมมา กินมาเป็นเดือนเเล้วเเต่อาการก็ไม่ดีขึ้นเลยครับ ผมเป็นกังวลมากเลยครับ

    สวัสดีค่ะ คุณผู้ใช้งาน,

                        อาการหายใจมีเสียงดัง ไอ เหนื่อย มีเสมหะ อาจเกิดจาก

                   - เป็นโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ หรือโรคหืด (asthma) ซึ่งจะทำให้มีอาการหอบเหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจเสียงดังวี๊ดๆ และอาจทำให้ไอได้ แต่มักเป็นไอแบบแห้งๆ ไม่ได้ทำให้มีเสมหะ โดยจะเกิดเฉพาะเมื่อมีสิ่งมากระตุ้น ได้แก่ ไรฝุ่น  สะเก็ดผิวหนังสัตว์ ละอองเกสรพืช ดอกไม้  แมลงสาบ และแมลงต่างๆ วัสดุเฟอร์นิเจอร์ เช่น ใยมะพร้าว เป็นต้น นอกจากนี้ อากาศที่เย็น การโดนความเย็น ดื่มน้ำเย็น หรือมีความเครียด การออกกำลังกาย ก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการได้

                          ทั้งนี้ แม้จะไม่มีประวัติการเป็นโรคหอบหืดมาก่อน แต่ก็สามารถมาเกิดอาการในวัยผู้ใหญ่ได้ แม้จะไม่เคยเป็นตอนเด็กก็ตามค่ะ 

                   - กรดไหลย้อน อาจทำให้เกิดอาการไอได้จากน้ำย่อยที่ไหลย้อนขึ้นมาระคายเคืองบริเวณลำคอและอาจไหลลงสู่หลอดลม จึงกระตุ้นให้เกิดการไอได้ รวมถึงทำให้มีเสมหะในลำคอ แต่ไม่น่าทำให้หายใจมีเสียงดัง และไม่ได้ทำให้มีอาการเหนื่อย นอกจากนี้มักมีอาการอื่นๆ อีก เช่น แสบร้อนกลางอก แน่นหน้าอก จุกแน่นลิ้นปี่ เรอบ่อย รู้สึกเปรี้ยวหรือขมที่ลำคอ คลื่นไส้หลังทานอาหาร อิ่มเร็ว เป็นต้น

                    - โรคปอดอักเสบเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น หลอดลมโป่งพอง โรคทางเดินปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD), โรคพังผืดในปอดชนิดต่างๆ เป็นต้น แต่การเอกซเรย์ปอดมักพบความผิดปกติ

                   - มะเร็งปอด แต่มักจะมีไอปนเลือด เหนื่อยหอบ น้ำหนักลดชัดเจน และเอ๊กซเรย์ปอดก็น่าจะเห็นความผิดปกติ

                    หากไปพบแพทย์ ได้ยาขยายหลอดลมมาทานแล้วยังไม่ดีขึ้น แนะนำควรไปกลับไปพบอายุแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุต่อไปค่ะ  ในเบื้องต้น เนื่องจากการเอ๊กซเรย์ปอดไม่พบสิ่งผิดปกติ แนะนำดูแลแบบโรคหอบหืดไปก่อน โดยพยายามหาสิ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการและพยายามหลีกเลี่ยง รวมถึงหลีกเลี่ยงการโดนอากาศเย็น ไม่โดนลม ไม่โดนแอร์โดยตรง สวมใส่เสื้อผ้าที่อบอุ่นในหน้าหนาว ไม่ดื่มน้ำเย็น หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ และที่ที่มีฝุ่นละอองมาก เป็นต้น