ยาขับเสมหะ

ยาขับเสมหะ

ยาขับเสมหะ เป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยกระตุ้นให้เยื่อบุในระบบทางเดินหายใจกำจัดเสมหะ และเพิ่มปริมาณสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจให้มากขึ้น ช่วยให้ผู้ป่วยไอเอาเสมหะออกมาได้ง่ายและหายใจสะดวกยิ่งขึ้น มักนำมาใช้รักษาการมีเสมหะคั่งเนื่องจากโรคหวัด โรคภูมิแพ้ และภาวะติดเชื้อ หรืออาจนำมาใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ตัวอย่างของยาขับเสมหะที่นิยมนำมาใช้ ได้แก่ ยาไกวเฟนิซิน ยาเทอร์พินไฮเดรต และยาแอมโมเนียมคลอไรด์

ยาขับเสมหะ

คำเตือนในการใช้ยาขับเสมหะ

ยาขับเสมหะแต่ละชนิดล้วนมีข้อบ่งชี้ ข้อควรระวังในการใช้ยา และส่วนประกอบในยาที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงอาการป่วยในปัจจุบัน ประวัติทางการแพทย์ และประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ รวมทั้งศึกษาวิธีการใช้ยาและคำเตือนบนฉลากให้ดีก่อนใช้ยาเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาผิดวิธี

ตัวอย่างข้อควรระวังในการใช้ยาขับเสมหะได้แก่

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยา รือส่วนประกอบของยากลุ่มนี้ รวมถึงยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • ใช้ยาตามฉลากหรือตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยาในปริมาณมากกว่าหรือน้อยกว่าที่แนะนำ
  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยาไกวเฟนิซิน หากมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับการหายใจ เช่น รคถุงลมโป่งพอง หลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคหืด อาการไอจากการสูบบุหรี่ ไอเป็นเลือด หรือมีเสมหะมาก
  • ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ใช้ยาไกวเฟนิซิน และก่อนให้เด็กใช้ยาแก้หวัดหรือยาแก้ไอชนิดใดก็ตามให้ปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพราะการใช้ยาผิดชนิดหรือผิดวิธีอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็กจนถึงแก่ชีวิตได้
  • ระหว่างที่ใช้ยาไกวเฟนิซินให้ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยเจือจางเสมหะและเพิ่มความชุ่มชื้นในลำคอ
  • ระหว่างที่ใช้ยาไกวเฟนิซิน ควรระมัดระวังขณะขับรถหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความตื่นตัว เพราะยาอาจทำให้เกิดความบกพร่องทางความคิดและการทำงานของร่างกายได้
  • ก่อนเข้ารับการผ่าตัดใด ๆ ต้องแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบหากกำลังใช้ยาไกวเฟนิซิน รวมถึงยาอื่น ๆ ที่สั่งโดยแพทย์ ยาที่ซื้อใช้เอง และยาสมุนไพร
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาเทอร์พินไฮเดรต หากมีโรคประจำตัวหรือมีปัญหาสุขภาพใด ๆ เช่น โรคปอด ท้องผูก หรือโรคภูมิแพ้
  • แจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร หรือทันตแพทย์ทราบก่อนเข้ารับการรักษาใด ๆ หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาแอมโมเนียมคลอไรด์
  • ระหว่างที่ใช้ยาแอมโมเนียมคลอไรด์ ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจเลือดตามที่แพทย์สั่ง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบ หากผู้ป่วยมีอาการไอพร้อมกับมีไข้ เจ็บคอรุนแรง มีผื่นขึ้น ปวดศีรษะอย่างต่อเนื่อง หรืออาการเหล่านี้ไม่หายไป กลับมาเป็นซ้ำ หรือมีอาการแย่ลงหลังจากผ่านไป 7 วัน เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะที่รุนแรง
  • ยาขับเสมหะไม่ได้ช่วยรักษาหรือย่นระยะเวลาในการเป็นหวัดให้สั้นลงได้
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ วางแผนมีบุตร หรือกำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของยาก่อนใช้ยา

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาขับเสมหะ

เนื่องจากยาขับเสมหะแต่ละชนิดล้วนมีส่วนประกอบที่แตกต่างกัน จึงอาจส่งผลให้มีอาการข้างเคียงจากการใช้ยาแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น ผู้ป่วยควรศึกษาข้อมูลการใช้ยาจากฉลากอย่างระมัดระวัง และใช้ยาอย่างถูกวิธี หากพบอาการผิดปกติหลังใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และไปพบแพทย์ทันทีหากอาการเหล่านั้นไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง

ตัวอย่างผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้ยาขับเสมหะ ได้แก่

ผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปจากการใช้ยาไกวเฟนิซิน

  • เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
  • มีผื่นขึ้น
  • คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดท้อง

ผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้ยาไกวเฟนิซิน

  • อาการแพ้ยา เช่น ผื่น ลมพิษ บวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอ เวียนศีรษะอย่างรุนแรง มีปัญหาในการหายใจ เป็นต้น