ส่องกล้อง ตรวจกระเพาะอาหารกับขั้นตอนที่ควรรู้

ส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร คือการใช้กล้องเอนโดสโคป (Endoscope) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ลักษณะเป็นท่อยืดหยุ่นได้ มีแสงไฟและเลนส์กล้องที่บริเวณส่วนปลาย ใส่เข้าไปทางปากของคนไข้เพื่อตรวจดูอาการหรือรักษาภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น

ส่องกล้อง

ทำไมต้องส่องกล้อง?

การส่องกล้องกระเพาะอาหารสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในกรณีต่อไปนี้

ตรวจดูอาการ ใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการบ่งบอกถึงปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนบน เช่น

  • ปวดท้อง
  • คลื่นไส้และอาเจียนเป็นประจำ
  • อาหารไม่ย่อย แสบร้อนกลางอกเรื้อรัง
  • กลืนอาหารลำบากหรือกลืนแล้วรู้สึกเจ็บ
  • มีเลือดออกอย่างรุนแรง มักทำให้เกิดอาการเจ็บแปลบในท้อง อาเจียนเป็นเลือด หรืออุจจาระเป็นเลือด อุจจาระดำเหมือนยางมะตอย และมีภาวะโลหิตจางที่อาจมีสาเหตุมาจากเลือดออกภายในไม่หยุด

ยืนยันการวินิจฉัยโรค แพทย์สามารถยืนยันอาการของผู้ป่วยหลังจากการวินิจฉัยเบื้องต้นให้แน่ใจหรือแยกโรคที่มีอาการคล้ายกันออกไปด้วยการส่องกล้อง เช่น โรคกระเพาะอาหารหรือแผลในกระเพาะอาหาร โรค Coeliac Disease ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการแพ้กลูเตนและมีภาวะลำไส้อักเสบร่วมด้วย โรคกรดไหลย้อน หลอดอาหารอักเสบเรื้อรัง มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร ภาวะความดันโลหิตเส้นเลือดดำพอร์ทัลสูง (Portal Hypertension) และยังใช้ในการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจได้อีกด้วย

รักษาโรคบางชนิด ไม่เพียงแต่การวินิจฉัยหรือตรวจดูอาการ การส่องกล้องกระเพาะอาหารยังนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ในการรักษาความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้นได้เช่นกัน เช่น

  • ช่วยขยายหลอดอาหารที่แคบตัวลงและส่งผลให้มีอาการเจ็บหรือกลืนลำบาก ซึ่งเป็นภาวะที่อาจเกิดจากโรคกรดไหลย้อน มะเร็งหลอดอาหาร หรือการรักษาโดยการฉายรังสีไปที่หลอดอาหาร
  • ช่วยในการนำเอาเนื้อร้าย ติ่งเนื้อ หรือวัตถุแปลกปลอมออกมาจากบริเวณหลอดอาหารและช่องท้อง
  • ช่วยหยุดเลือดที่ออกในกระเพาะหรือหลอดอาหาร เช่น การมีเลือดออกเนื่องจากมีแผลในกระเพาะอาหาร
  • เป็นเครื่องมือให้สารอาหารแก่คนไข้ที่ไม่สามารถรับประทานอาหารได้เอง

การเตรียมตัวก่อนส่องกล้อง

  • อดอาหาร เพื่อให้แพทย์สามารถมองเห็นบริเวณต่าง ๆ ภายในได้อย่างชัดเจน ผู้ป่วยจำเป็นต้องงดรับประทานอาหารและน้ำเป็นเวลา 6-8 ชั่วโมงก่อนรับการส่องกล้อง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงโรคประจำตัวและยาที่รับประทานเป็นประจำ เนื่องจากผู้ป่วยต้องหยุดรับประทานยาบางชนิดก่อนทำการส่องกล้อง เช่น ยาที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างแอสไพริน (Aspirin) วาร์ฟาริน (Warfarin) หรือคลอพิโดเกรล (Clopidogrel) ซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการมีเลือดออกระหว่างส่องกล้อง โดยหยุดยาเป็นเวลาอย่างน้อยประมาณ 7-10 วัน ยารักษาอาการอาหารไม่ย่อยอาจต้องหยุดใช้ก่อนเป็นเวลา 2 สัปดาห์ รวมถึงการฉีดอินซูลินในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องปรับเปลี่ยนปริมาณการใช้ให้เหมาะสม ส่วนผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรับประทานยา เช่น โรคหัวใจ ไทรอยด์ หรือภาวะความดันโลหิตสูง แพทย์อาจให้รับประทานยาตามปกติแล้วจิบน้ำตามเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ผู้ป่วยไม่ควรหยุดรับประทานยาใด ๆ เอง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงภาวะผิดปกติที่เป็น โดยเฉพาะหากกำลังตั้งครรภ์ เป็นโรคเกี่ยวกับปอด หัวใจ หรือมีประวัติแพ้ยาใด ๆ รวมถึงผู้ป่วยโรคติดเชื้อบริเวณลิ้นหัวใจ โรคหัวใจรูมาติก ใส่ลิ้นหัวใจเทียม และผู้ที่แพทย์บอกว่าจะต้องรับประทานยาปฏิชีวนะก่อนการรักษาทางทันตกรรมหรือการผ่าตัดใด ๆ
  • ให้ญาติมารับกลับบ้าน ผู้ป่วยไม่ควรขับรถกลับบ้านเอง เพราะยาระงับความรู้สึกที่ได้รับระหว่างการส่องกล้องจะส่งผลให้รู้สึกง่วงนอน มึนงง และบกพร่องทางการตัดสินใจได้ เพื่อความปลอดภัยจึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถหรือการทำงานที่ต้องใช้เครื่องจักร

ขั้นตอนการส่องกล้องกระเพาะอาหาร

แพทย์จะอธิบายถึงขั้นตอนต่าง ๆ อย่างละเอียด รวมถึงภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ระหว่างนี้หากผู้ป่วยมีข้อสงสัยใด ๆ ก็สามารถซักถามได้

ก่อนรับการส่องกล้องผู้ที่สวมใส่แว่นตา คอนแทคเลนส์ หรือฟันปลอมจะต้องถอดออกทั้งหมด และไม่จำเป็นต้องถอดเสื้อผ้า แต่อาจให้สวมชุดคนไข้ทับเสื้อผ้าของตัวผู้ป่วยเองอีกที

จากนั้นแพทย์จึงเริ่มด้วยการฉีดสเปรย์ยาชาเฉพาะส่วนที่คอเพื่อให้เกิดความรู้สึกชา หรืออาจใช้ยาระงับความรู้สึกแบบฉีดแทน ซึ่งจะพิจารณาตามความเหมาะสม ส่วนเด็กที่ยังเล็กอาจต้องใช้ยาสลบ โดยยาระงับความรู้สึกที่ได้รับจะส่งผลให้มีอาการง่วงซึมและรู้สึกผ่อนคลายลงขณะทำการส่องกล้อง

หลังฉีดสเปรย์ยาชาเฉพาะแห่งหรือให้ยาระงับความรู้สึก แพทย์อาจใช้ฟันยางเพื่อเปิดปากและป้องกันไม่ให้ฟันผู้ป่วยกัดสายท่อ ต่อจากนั้นจึงให้ผู้ป่วยพลิกตัวนอนตะแคงซ้าย แล้วใส่กล้องเอนโดสโคปเข้าไปในลำคอพร้อมทั้งบอกให้พยายามกลืนกล้องให้ลงไปยังหลอดอาหาร ทั้งนี้ในช่วงแรก ๆ อาจรู้สึกไม่ค่อยดี มีอาการคลื่นไส้หรืออยากอาเจียน แต่ก็จะค่อย ๆ ทุเลาลงเมื่อท่อส่องกล้องเคลื่อนลงไปแล้ว โดยกระบวนการส่องกล้องนี้จะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที

สำหรับผลการตรวจนั้นขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการส่องกล้อง เช่น การตรวจดูกระเพาะอาหารอาจทราบผลได้ทันทีหลังการตรวจ แต่หากเป็นการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอาจต้องรอผลตรวจเป็นเวลา 2-3 วัน

หลังจากการส่องกล้อง

หลังการส่องกล้องเรียบร้อยแล้วแพทย์จะพาผู้ป่วยไปยังห้องพักฟื้น และคอยเฝ้าดูอาการอยู่ประมาณ 30 นาที ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บในลำคอชั่วคราวซึ่งสามารถใช้ยาอมช่วยบรรเทาอาการ จากนั้นญาติจึงพาผู้ป่วยกลับบ้านได้และให้คอยเฝ้าดูอาการอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เนื่องจากฤทธิ์ของยาระงับความรู้สึกที่ได้รับสามารถคงอยู่ถึง 24 ชั่วโมงและทำให้ง่วงซึม ในระหว่างนี้ผู้ป่วยจึงควรพักผ่อน ไม่ควรขับรถหรือทำงานใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องจักร

นอกจากความรู้สึกง่วงซึม การส่องกล้องยังอาจทำให้มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาการเจ็บคอที่คงอยู่นาน 1-2 วัน ปวดบีบที่ท้อง ท้องอืดหรือมีแก๊สในท้องที่จะค่อย ๆ ดีขึ้นเองเมื่อเวลาผ่านไป แต่หากมีสัญญาณแสดงถึงปัญหาร้ายแรง ได้แก่ เจ็บหน้าอกหรือปวดท้องอย่างรุนแรง อาจมีอาการแย่ลง อาเจียนอย่างต่อเนื่อง อาเจียนเป็นเลือด มีไข้สูง หรือหายใจหอบเหนื่อย ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน

ส่องกล้องกระเพาะอาหารมีความเสี่ยงหรือไม่ ?

การส่องกล้องนับเป็นกระบวนการที่มีความปลอดภัยสูง ภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่มักพบได้น้อย มีดังนี้

  • ผลข้างเคียงจากยาระงับความรู้สึก แม้ยานี้จะค่อนข้างปลอดภัย แต่บางครั้งก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้หรืออาเจียน แสบร้อนบริเวณแผลฉีดยา หายใจลำบาก หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจทำให้เศษอาหารตกลงไปยังปอดจนเกิดการอักเสบตามมา ส่วนผลข้างเคียงที่พบได้น้อยมาก ๆ ได้แก่ โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน
  • มีเลือดออก กล้องเอนโดสโคปอาจไปทำให้หลอดเลือดเสียหายและมีเลือดออก ซึ่งสัญญาณบ่งบอกการมีเลือดออกนี้ก็คือ อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำคล้ายยางมะตอย โดยแผลที่เกิดขึ้นมักจะรักษาด้วยการส่องกล้องอีกครั้ง และบางรายอาจต้องมีการให้เลือดเพื่อทดแทนเลือดที่เสียไปด้วย
  • มีการติดเชื้อ การส่องกล้องเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ แต่ความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นหากมีการตรวจด้วยกระบวนการอื่นร่วมด้วย แต่ก็มักเป็นการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงและรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ หรือหากผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูง ก็อาจได้รับยาปฏิชีวนะก่อนทำการส่องกล้อง
  • เกิดแผลทะลุ ระหว่างการส่องกล้องมีโอกาสไม่มากนักที่เอนโสโคปจะไปโดนหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนบนจนเกิดรูทะลุขึ้น ผู้ที่เกิดภาวะแทรกซ้อนชนิดนี้สามารถสังเกตอาการได้จากการปวดช่องท้อง หน้าอก หรือคอ เจ็บขณะกลืน มีไข้สูง หรือหายใจลำบาก ซึ่งหากแผลทะลุนั้นไม่รุนแรงก็มักจะดีขึ้นได้เองเมื่อเวลาผ่านไป อาจมีการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่แผล หรืออาจจำเป็นต้องใช้การผ่าตัดเพื่อการรักษาในกรณีที่เป็นแผลรุนแรง