ปวดหู

ความหมาย ปวดหู

ปวดหู (Earache/Ear Pain) เป็นอาการปวดบริเวณหูข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน อาจปวดในลักษณะตื้อ ๆ เจ็บแปลบ หรือรู้สึกแสบร้อน ซึ่งอาการปวดส่วนใหญ่จะอยู่ไม่นานแล้วค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายไป มักพบได้บ่อยในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่

ปวดหู

อาการปวดหู

ปวดหูอาจจะเกิดร่วมกับอาการอื่น แต่ละคนจะมีอาการมากน้อยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ก่อให้เกิดการปวด โดยส่วนใหญ่จะพบอาการ ดังนี้

  • ปวดบริเวณหู
  • การได้ยินลดลง
  • มีของเหลวไหลออกมาจากในหู

นอกเหนือจากอาการข้างต้น ในเด็กเล็กอาจพบอาการอื่นได้มากกว่าผู้ใหญ่ โดยสังเกตได้จาก

  • หูอื้อ ได้ยินไม่ชัดเจน หรือตอบสนองต่อเสียงช้า
  • มีไข้
  • นอนหลับยาก
  • ชอบเอามือจับหูหรือดึงใบหูตัวเอง
  • ร้องไห้บ่อยหรือขี้โมโหมากกว่าปกติ
  • ปวดศีรษะ
  • ไม่อยากอาหาร

โดยทั่วไปอาการปวดจะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน แต่ในรายที่เป็นรุนแรง เกิดขึ้นบ่อย หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ขึ้นสูง อาเจียน บริเวณรอบหูเกิดอาการบวม เจ็บคออย่างรุนแรง รู้สึกเหมือนมีอะไรติดอยู่ในหู หากผู้ป่วยบรรเทาอาการปวดเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 24-48 ชั่วโมง ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจอย่างละเอียด โดยเฉพาะในทารกและเด็กเล็ก

สาเหตุอาการปวดหู

ปวดหูเกิดได้จากหลายปัจจัย เนื่องจากมีอวัยวะหลายส่วนที่ทำงานเกี่ยวข้องหรืออยู่ในตำแหน่งใกล้กับหู จึงอาจส่งผลกระทบต่อกัน เช่น ฟัน ข้อต่อขากรรไกร หรือลำคอ โดยแบ่งสาเหตุออกเป็น 2 ลักษณะ

อาการปวดที่มีสาเหตุมาจากหู

  • หูติดเชื้อ เป็นสาเหตุต้น ๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดหู อาจมีของเหลวหรือน้ำเหลืองไหลออกมาจากช่องหู รู้สึกเจ็บและคันบริเวณหู และได้ยินไม่ถนัด โดยจะพบการติดเชื้อได้บ่อยในหูชั้นนอกและหูชั้นกลาง ซึ่งการติดเชื้อที่หูชั้นนอก (ใบหูและรูหู) จะพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ในขณะที่การติดเชื้อของหูชั้นกลาง (ส่วนที่อยู่หลังเยื่อแก้วหู) จะเกิดกับเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ และผู้ที่ว่ายน้ำบ่อย
  • หูชั้นกลางอักเสบ เป็นภาวะที่มีน้ำขังอยู่หลังแก้วหู (Glue Ear/Otitis Media With Effusion: OME) จึงเกิดแรงดันจากของเหลวที่อยู่ในช่องหูแต่ไม่ทำให้แก้วหูทะลุ ผู้ป่วยอาจสูญเสียการได้ยินชั่วคราวและมีอาการปวดหูเป็นครั้งคราว
  • หูชั้นนอกอักเสบ (Otitis Externa) เป็นการอักเสบของหูชั้นนอกหรือในรูหูจากการติดเชื้อ โดยมักพบในผู้ที่ว่ายน้ำบ่อย มีความผิดปกติของผิวหนัง เช่น โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง (Eczema) ที่เกิดบริเวณหู ทำให้เจ็บหู มีอาการคัน มีของเหลวไหลออกจากหู และอาจได้ยินเสียงไม่ถนัดเหมือนมีบางสิ่งอุดตันอยู่ในหู    
  • การบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ อาการปวดหูอาจเกิดได้โดยบังเอิญจากสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การใช้ไม้แคะหูลึกเกินไปอาจทำลายเยื่อแก้วหูให้เสียหายได้ การอยู่ในสถานที่เสียงดังมาก หรือเสียงดังที่เกิดใกล้บริเวณหูอาจทำให้แก้วหูได้รับความเสียหาย มีเลือดออก และปวดหู
  • ขี้หูอุดตัน ขี้หูเป็นสารลักษณะคล้ายไขมันที่ถูกสร้างขึ้น เพื่อปกป้องรูหูจากสิ่งแปลกปลอมภายนอก โดยปกติร่างกายจะมีการกำจัดขี้หูได้เองตามธรรมชาติ แต่ในบางครั้งก็อาจเกิดการสะสมของขี้หูจนอุดตัน ทำให้ปวดหู ได้ยินเสียงดังในหู หรือเวียนศีรษะตามมา
  • มีสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายในหู สิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปติดในรูหูอาจเป็นไปได้ทั้งสิ่งของขนาดเล็ก สิ่งมีชีวิตอย่างแมลง มด หรือแม้แต่เมล็ดพืช ซึ่งในเด็กเล็กมักจะชอบนำสิ่งของขนาดเล็กแหย่เข้าไปในหูโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์จนอาจทำให้ปวดหู หูหนวกชั่วคราว
  • สิวหรือฝีในหู ภายในหูอาจเกิดการอุดตันของไขมันหรือมีเชื้อโรคสะสมจนทำให้เกิดสิวหรือฝี ซึ่งมองเห็นได้ลำบาก บางครั้งก็อาจทำให้ปวดหูหรือลุกลามจนอาการรุนแรงมากขึ้น

อาการปวดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น

  • เป็นหวัด เมื่อเป็นหวัดจะทำให้ร่างกายผลิตมูกออกมาในปริมาณ ทำให้เกิดการสะสมของมูกในท่อที่เชื่อมระหว่างคอกับหูชั้นกลางมากขึ้นและมีแรงดันต่อเยื่อแก้วหู จึงเกิดอาการปวดหูตามมา
  • การติดเชื้อในลำคอ บริเวณส่วนหูจะมีความเกี่ยวข้องกับอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียง เมื่อเกิดการติดเชื้อภายในคอจากหลายสาเหตุ เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส หรือฝีหนองบริเวณต่อมทอนซิล ทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ลำบาก รู้สึกเจ็บเมื่อกลืนอาหารหรือดื่มน้ำ และมีอาการปวดหูร่วมด้วย
  • ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular Joint Pain) ปวดหูอาจเป็นผลมาจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับข้อต่อขากรรไกร เช่น โรคข้ออักเสบ การนอนกัดฟัน
  • ฟันเป็นหนอง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณฟันและเหงือกจนทำให้เกิดหนอง ทำให้ปวดฟันมากในลักษณะตุบ ๆ บางครั้งก็อาจทำให้ปวดหูตามไปด้วย
  • การเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศภายในเครื่องบิน

การวินิจฉัยอาการปวดหู

โดยเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ อาการของผู้ป่วย และตรวจร่างกายทั่วไป จากนั้นจึงตรวจช่องหูด้วยอุปกรณ์เฉพาะที่เรียกว่า Otoscope ทำให้ทราบถึงความผิดปกติในรูหู มีอาการบวม แดง หรือเยื่อแก้วหูเกิดความเสียหายหรือไม่ รวมไปถึงมีการตรวจดูบริเวณคอ หู หลังหู หรืออวัยวะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาการของผู้ป่วย

แต่ในบางรายอาจต้องมีการตรวจด้านอื่นเพิ่มเติมหากไม่สามารถหาสาเหตุของการปวดหูได้อย่างชัดเจนหรือเกิดการติดเชื้อรุนแรง เช่น ตรวจตัวอย่างของเหลวที่ไหลออกจากหูเพื่อหาชนิดของเชื้อแบคทีเรีย การตรวจซีที สแกนที่ศีรษะ (Computed Tomography Scan: CT Scan) เพื่อดูว่าเกิดการติดเชื้อในหูชั้นกลางหรือไม่ หรือตรวจการได้ยิน (Hearing Test) ในรายที่ปวดหูเรื้อรังจากการติดเชื้อ

การรักษาอาการปวดหู

อาการปวดหูโดยทั่วไปรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ในเบื้องต้นผู้ป่วยที่มีอาการปวดหูสามารถทำตามคำแนะนำ ดังนี้

  • เมื่อมีอาการปวดให้ประคบเย็นหรือประคบร้อนบริเวณหูด้านนอกประมาณ 20 นาที และควรนั่งในท่าที่ลำตัวตั้งตรงแทนการนอน เพื่อช่วยลดความดันในหูชั้นกลาง
  • ในรายที่มีอาการปวดมากอาจใช้ยาหยอดหูบรรเทาอาการปวด ยกเว้นผู้ที่เกิดอาการเยื่อแก้วหูทะลุไม่ควรใช้ หรืออาจรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโปรเฟน แต่สำหรับเด็กควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาแอสไพริน
  • อาการปวดหูที่มาจากความกดอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ในระหว่างการนั่งเครื่องบิน อาจเคี้ยวหมากฝรั่งหรือกลืนน้ำลาย ส่วนเด็กเล็กอาจให้ดูดนมจากขวดหรืออกแม่ซึ่งจะช่วยให้อาการดีขึ้น

แต่ในรายที่มีอาการปวดหูจากการติดเชื้อ แพทย์จะจ่ายยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานหรือหยอดหู บางรายอาจต้องใช้ยาทั้ง 2 ชนิด ผู้ป่วยควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ ไม่ควรปรับขนาดยาด้วยตนเองแม้ว่าอาการจะดีขึ้น เพื่อกำจัดเชื้อให้หมดไป ในกรณีอาการปวดหูอื่น ๆ จะแยกรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิด เช่น

  • ปวดจากขี้หูอุดตัน แพทย์จะใช้ยาหยอดหูที่มีคุณสมบัติทำให้ขี้หูอ่อนตัวลง เพื่อให้หลุดออกมาได้ง่ายตามปกติหรืออาจใช้เครื่องมือขนาดเล็กช่วยดูดออกมาแทน โดยเรียกขั้นตอนนี้ว่า การล้างหู (Ear Lavage/Ear Irrigation)
  • อาการปวดจากโรคต่าง ๆ เช่น ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร ไซนัสอักเสบ จะรักษาที่ตัวโรคโดยตรง ซึ่งจะทำให้อาการปวดหูค่อย ๆ ดีขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของอาการปวดหู

อาการปวดหูเองเป็นอาการที่มักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน แต่ผู้ที่มีอาการปวดอย่างรุนแรงจากโรคหรือความผิดปกติอาจพัฒนาให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ในระยะยาวตามมาจากตัวโรคที่ไม่ได้รับการรักษา เช่น ปวดหูจากการติดเชื้ออาจทำให้เกิดภาวะมีน้ำในหูชั้นกลาง เยื่อแก้วหูทะลุ สูญเสียการได้ยิน หรือมีปัญหาในการสื่อสารกับผู้อื่น   

การป้องกันอาการปวดหู

อาการปวดหูบางอย่าง ป้องกันได้ด้วยการดูแลตนเองให้ห่างจากปัจจัยเสี่ยงหรือสิ่งกระตุ้นอื่น ๆ ตามคำแนะนำ ดังนี้

  • เด็กควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอคคัสและไข้หวัดใหญ่ เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อในหูชั้นกลาง
  • ระมัดระวังการใช้สำลีพันก้านที่ใช้แคะหูหรือสิ่งของความแหลมคมทำความสะอาดภายในหู
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ อยู่ในบริเวณที่ได้รับควันบุหรี่จากผู้อื่น หรืออยู่ใกล้ผู้ที่เป็นโรคหวัดโดยเฉพาะในเด็ก เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อภายในหูได้ง่าย
  • ล้างมือให้สะอาดหลังจากจับสิ่งสกปรก โดยเฉพาะหลังการเล่นของเด็ก ๆ
  • เด็กที่ว่ายน้ำเป็นประจำควรใส่ที่อุดหูหรือใช้ยาหยอดหูชนิดที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ
  • หลังการอาบน้ำหรือว่ายน้ำควรเช็ดบริเวณหูให้แห้งอยู่เสมอ
  • ไม่ควรนำสิ่งแปลกปลอมแหย่เข้าไปในหู
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่เสียงดังเป็นเวลานาน และปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้ที่อาจทำให้เกิดอาการปวดหูได้