พาราเซตามอล (Paracetamol)

พาราเซตามอล (Paracetamol)

Paracetamol (พาราเซตามอล) เป็นยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดและช่วยลดไข้ โดยนิยมใช้เพื่อรักษาอาการปวดทั่วไป เช่น อาการปวดศีรษะ ปวดประจำเดือน ปวดกล้ามเนื้อ หรือปวดฟัน 

ยาชนิดนี้จัดเป็นยาสามัญประจำบ้านเพราะสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาของแพทย์ แต่ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม

พาราเซตามอล rs

เกี่ยวกับยาพาราเซตามอล

กลุ่มยา ยาระงับปวดและลดไข้
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่หาซื้อได้เอง
สรรพคุณ ลดอาการปวดที่ไม่รุนแรงและลดไข้
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ แต่ยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป 

หากเป็นยาชนิดฉีด ยาพาราเซตามอลจะจัดอยู่ในกลุ่ม Category C โดยจากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ ควรใช้ยาเมื่อพิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ ดังนั้น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์และอยู่ในช่วงให้นมบุตรควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาพาราเซตามอล

รูปแบบของยา ยารับประทานชนิดเม็ด ยาน้ำ ยาฉีด และยาเหน็บ

คำเตือนในการใช้ยาพาราเซตามอล

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาพาราเซตามอล ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ไม่ควรใช้ยาเกินครั้งละ 500–1,000 มิลลิกรัม ต่อ 4–6 ชั่วโมง และไม่ควรเกิน 4,000 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ผู้ที่มีประวัติเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง โรคตับ และโรคไต ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาพาราเซตามอล
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างการใช้ยา เพราะอาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่ตับจะถูกทำลายมากขึ้น
  • สตรีมีครรภ์ และสตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาพาราเซตามอล
  • เด็กที่ต้องใช้ยานี้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากเด็กเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงได้ง่าย
  • หากกำลังใช้ยาอื่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรืออาหารเสริมใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
  • หากใช้ยาแล้วเกิดอาการผิดปกติใด ๆ ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ

ปริมาณการใช้ยาพาราเซตามอล

ปริมาณการใช้ยาพาราเซตามอลจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย จุดประสงค์การรักษา ชนิดของยา และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้

ไข้และอาการปวด

ตัวอย่างการใช้ยาพาราเซตามอลชนิดฉีดเพื่อรักษาไข้และอาการปวด ได้แก่

ผู้ใหญ่ ในกรณีของผู้ป่วยที่มีน้ำหนักในช่วง 33–50 กิโลกรัม ที่ต้องใช้ยาเพียงในระยะสั้น แพทย์จะค่อย ๆ ฉีดยาในปริมาณ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แต่ปริมาณสูงสุดจะไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน หรือ 3,000 มิลลิกรัม/วัน

ส่วนกรณีที่ผู้ป่วยน้ำหนักตัวมากกว่า 50 กิโลกรัม แพทย์จะค่อย ๆ ฉีดยาในปริมาณ 1,000 มิลลิกรัม และจะกำหนดปริมาณสูงสุดไม่เกิน 4,000 มิลลิกรัม ทั้งนี้ ระยะเวลาการให้ยาแต่ละครั้งจะห่างกันประมาณ 4 ชั่วโมง โดยการให้ยาแต่ละครั้งจะอยู่ที่ประมาณ 15 นาที

เด็ก ในกรณีที่เด็กมีน้ำหนักตัวไม่เกิน 10 กิโลกรัม แพทย์จะฉีดยาในปริมาณ 7.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยปริมาณสูงสุดจะไม่เกิน 30 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน 

ในกรณีเด็กที่มีน้ำหนักตัวในช่วง 10–33 กิโลกรัม แพทย์จะฉีดยาในปริมาณ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยปริมาณสูงสุดจะไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน และจะไม่ใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 2 วัน

ในกรณีเด็กที่มีน้ำหนักตัวในช่วง 33–50 กิโลกรัม แพทย์จะฉีดยาในปริมาณ 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยปริมาณสูงสุดจะไม่เกิน 60 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน และจะไม่ใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 3 วัน

และเด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 50 กิโลกรัม แพทย์ใช้ยาในปริมาณเดียวกับผู้ใหญ่ ทั้งนี้ ระยะเวลาการให้ยาแต่ละครั้งจะห่างกันประมาณ 4 ชั่วโมง โดยการให้ยาแต่ละครั้งจะอยู่ที่ประมาณ 15 นาที

ตัวอย่างการใช้ยาพาราเซตามอลชนิดรับประทานเพื่อรักษาไข้และอาการปวด ได้แก่

ผู้ใหญ่ แพทย์จะให้รับประทานยาในปริมาณ 500–1,000 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง โดยปริมาณยาสูงสุดจะไม่เกิน 4,000 มิลลิกรัม/วัน

เด็กที่อายุ 3–5 เดือน ให้รับประทานยาในปริมาณ 60 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรเกิน 4 ครั้ง/วัน

เด็กที่อายุ 6–23 เดือน ให้รับประทานยาในปริมาณ 120 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรเกิน 4 ครั้ง/วัน

เด็กที่อายุ 2–3 ปี ให้รับประทานยาในปริมาณ 180 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรเกิน 4 ครั้ง/วัน

เด็กที่อายุ 4–5 ปี ให้รับประทานยาในปริมาณ 240 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรเกิน 4 ครั้ง/วัน

เด็กที่อายุ 6–7 ปี ให้รับประทานยาในปริมาณ 240–250 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรเกิน 4 ครั้ง/วัน

เด็กที่อายุ 8–9 ปี ให้รับประทานยาในปริมาณ 360–375 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรเกิน 4 ครั้ง/วัน

เด็กที่อายุ 10–11 ปี ให้รับประทานยาในปริมาณ 480–500 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรเกิน 4 ครั้ง/วัน

เด็กที่อายุ 12–15 ปี ให้รับประทานยาในปริมาณ 480–750 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรเกิน 4 ครั้ง/วัน

เด็กที่อายุ 16–17 ปี ให้รับประทานยาในปริมาณ 500–1,000 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรเกิน 4 ครั้ง/วัน

ตัวอย่างการใช้ยาพาราเซตามอลชนิดยาเหน็บเพื่อรักษาไข้และอาการปวด ได้แก่

ผู้ใหญ่ แพทย์จะให้เหน็บยาในปริมาณ 500–1,000 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง โดยปริมาณสูงสุดจะไม่เกิน 4 ครั้ง/วัน

เด็กที่อายุ 3–11 เดือน แพทย์จะให้เหน็บยาในปริมาณ 60–125 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง โดยปริมาณสูงสุดจะไม่เกิน 4 ครั้ง/วัน

เด็กที่อายุ 1–4 ปี แพทย์จะให้เหน็บยาในปริมาณ 125–250 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง โดยปริมาณสูงสุดจะไม่เกิน 4 ครั้ง/วัน

เด็กที่อายุ 5–11 ปี แพทย์จะให้เหน็บยาในปริมาณ 250–500 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง โดยปริมาณสูงสุดจะไม่เกิน 4 ครั้ง/วัน

เด็กที่อายุ 12–17 ปี แพทย์จะให้เหน็บยาในปริมาณ 500 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง โดยปริมาณสูงสุดจะไม่เกิน 4 ครั้ง/วัน

เป็นไข้หลังจากฉีดวัคซีน

ตัวอย่างการใช้ยาพาราเซตามอลชนิดรับประทานเพื่อรักษาไข้หลังฉีดวัคซีน ได้แก่

เด็กที่อายุ 2–4 เดือน แพทย์จะให้รับประทานยาในปริมาณ 60 มิลลิกรัม เพียง 1 ครั้ง หรืออาจจะให้อีกครั้งหลังจากให้ยาครั้งแรก 4–6 ชั่วโมง โดยปริมาณยาสูงสุดจะไม่เกิน 4 ครั้ง/วัน

ตัวอย่างการใช้ยาพาราเซตามอลชนิดยาเหน็บเพื่อรักษาไข้หลังฉีดวัคซีน ได้แก่

เด็กที่อายุ 2–3 เดือน แพทย์จะให้เหน็บยาในปริมาณ 60 มิลลิกรัม เพียงครั้งเดียว โดยอาจให้ยาซ้ำอีกครั้งหลังจากให้ยาครั้งแรก 4–6 ชั่วโมง

การใช้ยาพาราเซตามอล

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาพาราเซตามอล ผู้ใช้ยาควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร หรือฉลากของยาอย่างเคร่งครัด

พาราเซตามอลเป็นยาที่สามารถใช้ได้โดยไม่ต้องได้รับใบสั่งยาจากแพทย์ โดยการใช้ยาแต่ละครั้งควรห่างกันทุก ๆ 4–6 ชั่วโมง และปริมาณที่ควรใช้ต่อครั้งไม่ควรเกิน 500–1,000 มิลลิกรัม เนื่องจากพาราเซตามอลเป็นยาที่สามารถส่งผลต่อตับได้ 

หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ แต่หากใกล้กับรอบรับประทานยาถัดไป ให้รับประทานยาในขนาดปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเพื่อทดแทนมื้อที่ขาดหายไป

ในกรณีที่ผู้ใช้ยาชนิดสอด ผู้ป่วยควรล้างมือให้สะอาดก่อน และควรสอดยาให้ลึกพอตามคำแนะนำของแพทย์หรือฉลากยา รวมถึงควรรอประมาณ 1–2 นาทีหลังจากเพิ่งสอดยาก่อนจะลุกขึ้น เพื่อป้องกันยาไหลออกมา

ผู้ใช้ยาพาราเซตามอลไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกินกว่าที่แพทย์ เภสัชกร หรือฉลากยากำหนด โดยสำหรับอาการปวด ระยะเวลาการใช้ยาที่เหมาะสมคือ ไม่ควรเกิน 7 วันสำหรับผู้ใหญ่ หรือ 5 วันสำหรับเด็ก ส่วนสำหรับอาการไข้ ผู้ใช้ยาไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 3 วัน

ทั้งนี้ การใช้ยาพาราเซตามอลชนิดยาน้ำเชื่อมอาจทำให้ผลการตรวจปริมาณน้ำตาลในเลือดผิดพลาดได้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงควรแจ้งแพทย์หากใช้ยานี้ 

ปฏิกิริยาระหว่างยาพาราเซตามอลกับยาอื่น

ผู้ที่ต้องใช้ยาพาราเซตามอลควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อน หากกำลังใช้ยาชนิดใด ๆ หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ อยู่ เนื่องจากอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของยาพาราเซตามอลลดลงได้ หรืออาจส่งผลให้ผู้ใช่ยาเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงได้ง่าย โดยเฉพาะยาในกลุ่มดังต่อไปนี้

  • ยาละลายลิ่มเลือด เช่น ยาวาฟาริน (Warfarin)
  • ยารักษาอาการคลื่นไส้อาเจียน เช่น ยาเมโทโคลพราไมด์ (Metoclopramide) หรือยาดอมเพอริโดน (Domperidone)
  • ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol)
  • ยารักษาอาการชัก เช่น ยาฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital) ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin)
  • ยาโพรเบเนซิด (Probenecid)
  • ยาคอเลสไทรามีน (Cholestyramine)

นอกจากนี้ ผู้ป่วยไม่ควรใช้ยาพาราเซตามอลร่วมกับยาแก้ไอ ยารักษาอาการไข้หวัด ยาแก้แพ้ หรือยาแก้ปวดชนิดอื่น ๆ  เพราะในยาเหล่านั้นมักมีส่วนผสมของพาราเซตามอล ซึ่งหากใช้ควบคู่กันอาจทำให้ได้รับยาเกินขนาดได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาพาราเซตามอล

โดยปกติ ยาพาราเซตามอลมักไม่ส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียง แต่ก็มีบางกรณีเช่นกันที่ผู้ใช้ยาพาราเซตามอลชนิดเหน็บอาจพบอาการเจ็บและเกิดรอยแดงบริเวณทวารหนักได้ ซึ่งผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้น

ทั้งนี้ หากผู้ป่วยเกิดอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ได้แก่ 

  • หายใจไม่ออก
  • อุจจาระเป็นเลือด หรือมีสีดำ
  • ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะน้อยลงอย่างไม่มีสาเหตุ
  • มีอาการไข้ หนาวสั่น
  • ใบหน้า ดวงตา และปาก เกิดอาการบวม
  • มีจุดแดงเล็ก ๆ ขึ้นตามผิวหนัง
  • มีผื่นคัน
  • มีแผลร้อนใน หรือ จุดขาว ๆ ขึ้นที่ริมฝีปากหรือภายในช่องปาก
  • เลือดออกผิดปกติ
  • เหนื่อยง่ายผิดปกติ
  • ตาเหลือง ตัวเหลือง