5 วิธีแก้อาการปวดหูอักเสบที่ปลอดภัยและได้ผล

เมื่อมีอาการหูอักเสบเกิดขึ้น เช่น ปวดหู หูอื้อ รู้สึกเหมือนมีน้ำอยู่ภายในหู หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน วิธีแก้อาการปวดหูอักเสบที่ถูกต้องสามารถช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งวิธีแก้อาการปวดหูอักเสบมีหลายวิธี แต่หากผู้ป่วยใช้วิธีรักษาอาการปวดหูอักเสบที่ผิดวิธีหรือไม่เหมาะสม ก็อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อหูของผู้ป่วยได้

อาการหูอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากหูชั้นนอกอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ และหูชั้นในอักเสบ โดยมักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือการติดเชื้อไวรัส เช่น เป็นผลข้างเคียงจากอาการไข้หวัดหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ รวมถึงการที่น้ำเข้าหูแล้วไม่ได้ทำความสะอาดอย่างเหมาะสม หรือการใช้อุปกรณ์ที่ไม่สะอาดในการแคะหรือแหย่เข้าไปภายในหูด้วย

วิธีแก้อาการปวดหูอักเสบ

5 วิธีแก้อาการปวดหูอักเสบอย่างเหมาะสม

วิธีแก้อาการปวดหูอักเสบมีทั้งการดูแลรักษาด้วยตัวเองที่บ้าน และการรักษาทางการแพทย์ โดยการรักษาแต่ละวิธีจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น สาเหตุของการเกิดอาการ ความรุนแรงของอาการ หรือเงื่อนไขสุขภาพของผู้ป่วย ตัวอย่างวิธีดูแลรักษาอาการปวดหูอักเสบมีดังนี้

1. การจัดท่านอนอย่างเหมาะสม

หากมีอาการปวดหูอักเสบ ควรจัดท่านอนใหม่ไม่ให้มีแรงกดลงบนหูที่อักเสบมากเกินไป โดยนอนหนุนหมอนประมาณ 2 ใบเพื่อให้หูอยู่สูงกว่าส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย และหากมีอาการปวดหูด้านขวา ควรนอนตะแคงด้านซ้าย หรือหากมีอาการปวดหูด้านซ้าย ควรนอนตะแคงด้านขวา วิธีนี้สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหูที่เกิดขึ้นได้

2. การประคบร้อนหรือประคบเย็น 

การประคบร้อนหรือประคบเย็นสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหูชั่วคราวได้ โดยการประคบเย็นให้ใช้ผ้าห่อน้ำแข็งหรือแผ่นเจลเย็นในการประคบ ส่วนการประคบร้อนให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นบิดจนหมาด หรืออาจใช้ผ้าห่อขวดใส่น้ำอุ่นก็ได้ จากนั้นนำมาประคบบริเวณใบหูชั้นนอกประมาณ 10–20 นาที จะช่วยให้อาการปวดหูอักเสบลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. การรับประทานยาแก้ปวดทั่วไป

การรับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาอะเซตามีโนเฟน (Acetaminophen) หรือยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหูได้ ซึ่งยาเหล่านี้มีขายตามร้านขายยาทั่วไป แต่ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรรับประทานยาด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรให้เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 16 ปี รับประทานยาแอสไพริน (Aspirin) เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อสุขภาพได้

4. การรับประทานยาปฏิชีวนะ

การใช้ยาปฏิชีวนะจะเป็นการรักษาอาการปวดหูอักเสบทางการแพทย์ โดยแพทย์มักจ่ายยาปฏิชีวนะให้แก่ผู้ที่มีอาการติดเชื้อภายในหูอย่างรุนแรง หรือมีอาการปวดหูอักเสบเกิดขึ้นนานกว่า 3 วัน โดยผู้ป่วยจะต้องรับประทานยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการดื้อยาตามมา ตัวอย่างยาปฏิชีวนะที่แพทย์ใช้รักษาอาการปวดหูอักเสบ เช่น ยาอะม็อกซี่ซิลลิน (Amoxicillin) 

5. การใช้ยาหยอดหู 

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อในหูอย่างรุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะในรูปแบบของยาหยอดหูร่วมกับยาปฏิชีวนะแบบรับประทานด้วย เพื่อช่วยรักษาอาการติดเชื้อในหูอีกทางหนึ่ง ตัวอย่างยาหยอดหูที่แพทย์ใช้รักษาอาการปวดหูอักเสบ เช่น ยาเดกซาเมทาโซน (Dexamethasone) หรือยาไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin)

ข้อควรระวังในการรักษาอาการปวดหูอักเสบด้วยตัวเอง 

หากมีอาการปวดหูอักเสบที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยอาจสามารถใช้วิธีแก้อาการปวดหูอักเสบด้วยตัวเองในการบรรเทาอาการได้ แต่การรักษาอาการปวดหูอักเสบด้วยตัวเองก็มีข้อควรระวังบางอย่างที่ผู้ป่วยควรศึกษาก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่ร้ายแรงต่อสุขภาพ ดังนี้

  • หากเด็กทารกที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปีมีสัญญาณของอาการปวดหูอักเสบเกิดขึ้น เช่น มีไข้สูง ร้องไห้งอแง หรือพยายามจับหูของตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใช้วิธีรักษาด้วยตัวเอง แต่ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันสมุนไพร เช่น น้ำมันกระเทียม หรือน้ำมันมะกอก ในการหยอดหู เพราะไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่าสามารถรักษาอาการปวดหูอักเสบได้อย่างปลอดภัย
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาหยอดหูด้วยตัวเองนอกเหนือจากคำสั่งของแพทย์ เพราะหากมีอาการแก้วหูทะลุเกิดขึ้น การใช้ยาหยอดหูอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงตามมาได้

วิธีแก้อาการปวดหูอักเสบด้วยตัวเองบางวิธีอาจไม่สามารถใช้รักษาอาการติดเชื้อที่รุนแรงได้ หากอาการปวดหูอักเสบที่เกิดขึ้นไม่หายไปภายในเวลา 2–3 วันหลังจากการรักษาด้วยตัวเอง รู้สึกปวดหูรุนแรงมากขึ้น หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น เช่น มีไข้สูง วิงเวียนศีรษะ พูดคุยหรือเคี้ยวอาหารลำบาก มีอาการบวมหลังใบหู รวมถึงมีของเหลวหรือเลือดไหลออกจากหู ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา