เลือดออกหู

ความหมาย เลือดออกหู

เลือดออกหู (Bleeding Ear) เป็นภาวะที่มีเลือดออกในช่องหูหรือไหลออกมาจากรูหู โดยอาจเกิดได้จากการได้รับบาดเจ็บหรือเป็นความผิดปกติ ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดหู มีไข้ สูญเสียการได้ยิน ใบหน้าเป็นอัมพาต มึนงง หรือได้ยินเสียงในหูร่วมด้วย ซึ่งอาการในแต่ละคนจะแตกต่างกันตามสาเหตุ

อาการเลือดออกหูส่วนใหญ่สามารถรักษาให้หายได้และมักไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาหลังการรักษา แต่หากไม่ได้รับการรักษาต้นเหตุให้หายขาดก็อาจส่งผลให้มีอาการเรื้อรังได้ ผู้ป่วยที่มีอาการเลือดออกหูจึงควรไปพบแพทย์ แต่หากมีเลือดออกหูหลังการได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะควรไปพบแพทย์ทันทีเนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

2501-เลือดออกหู

อาการเลือดออกหู

ผู้ป่วยอาจมีอาการที่แตกต่างกันไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเลือดออกหู โดยอาการที่อาจพบได้มีดังนี้

  • รู้สึกเจ็บปวดบริเวณหู
  • หูอื้อ ได้ยินเสียงในหู
  • ความสามารถในการได้ยินลดลงหรือสูญเสียการได้ยิน
  • มีเลือดหรือหนองไหลออกจากหู
  • การมองเห็นลดลง
  • รู้สึกชาบริเวณใบหน้า
  • เวียนศีรษะ
  • มีไข้

แม้ว่าอาการเลือดออกหูที่เกิดจากสาเหตุที่ไม่รุนแรงอาจไม่ได้ก่อให้เกิดอาการร้ายแรง แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษาอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นได้ในภายหลัง หากผู้ป่วยมีอาการเลือดออกหู มีเลือดไหลออกจากจมูก อาเจียน มีปัญหาด้านการมองเห็นหรือการได้ยิน รู้สึกสับสนหรือความรู้สึกตัวลดลง ผู้ป่วยควรพบแพทย์ทันทีเพื่อวินิจฉัยสาเหตุและรักษาอย่างถูกวิธี เนื่องจากบางสาเหตุอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่เคยได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะมาก่อน 

สาเหตุของเลือดออกหู

เลือดออกหูเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยสามารถแบ่งกลุ่มสาเหตุของการเกิดอาการได้ ดังนี้

สาเหตุเฉพาะที่

เป็นความผิดปกติบริเวณหูชั้นใน ชั้นกลาง หรือชั้นนอกที่อาจส่งผลให้เกิดอาการเลือดออกหู โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • การได้รับบาดเจ็บในหู อาจเกิดจากการแคะหูอย่างรุนแรง การทำความสะอาดภายในช่องหูลึกเกินไป ด้วยการใช้นิ้วมือหรืออุปกรณ์ หรืออาจเกิดขึ้นจากการนำวัตถุชิ้นเล็ก ๆ สอดเข้าไปในหู โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ จนอาจเกิดบาดแผลและทำให้เลือดออกหูตามมา ส่วนมากมักไม่มีอาการรุนแรง แต่อาจเกิดการติดเชื้อได้ในภายหลัง
  • แก้วหูทะลุ หรือแก้วหูอักเสบเมื่อได้รับเสียงดังมาก ๆ มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องหู เกิดการติดเชื้อ หรือได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง จึงทำให้มีเลือดออกในหูตามมา ในบางกรณีเยื่อแก้วหูทะลุอาจเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศอย่างรวดเร็วได้เช่นกัน เช่น ขณะนั่งเครื่องบินหรือดำน้ำ เป็นต้น
  • การติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสภายในหูชั้นกลาง ผู้ป่วยมักจะรู้สึกเจ็บปวดหูหรือสูญเสียการได้ยินชั่วคราว เนื่องจากหูชั้นกลางบวมและเกิดการสะสมของของเหลว ทำให้เกิดความดันภายในหูจนอาจทำให้แก้วหูทะลุ โดยหนองหรือเลือดที่สะสมอยู่ภายในจึงสามารถไหลออกจากรูหูได้
  • การได้รับบาดเจ็บหรือแรงกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงบริเวณศีรษะอาจทำให้มีเลือดออกในสมองและเลือดออกหู ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะจัดเป็นภาวะฉุกเฉินที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต 
  • โรคมะเร็ง ผู้ป่วยอาจมีอาการของมะเร็งผิวหนังรอบนอกใบหูก่อน เมื่อไม่ได้รับการรักษาอาจลุกลามเข้าไปในช่องหูชั้นนอกหรือภายในหูที่ลึกขึ้น ส่งผลให้มีเลือดออกหูตามมา แต่เป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยาก 

สาเหตุจากโรคบางชนิด

เลือดออกหูสามารถเกิดขึ้นได้หลังมีอาการหรือภาวะอื่น โดยมักเกี่ยวข้องกับความผิดปกติด้านกลไกการห้ามเลือด ดังนี้

  • ความผิดปกติของเกล็ดเลือด โดยอาจเป็นผลมาจากจำนวนเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) ที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ หรืออาจเกิดจากโรคบางชนิดอย่างไขกระดูกฝ่อหรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • ความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือดอย่างโรคเลือดไหลไม่หยุด มักเป็นอาการที่มีมาแต่กำเนิดและได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม 
  • ความผิดปกติของหลอดเลือดอย่างโรคหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบ (Henöch Schönlein Purpura) แต่พบได้ค่อนข้างน้อย 

การวินิจฉัยเลือดออกหู

แพทย์จะสอบถามอาการผิดปกติ ช่วงเวลาที่เริ่มมีอาการ ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย เพื่อหาสาเหตุที่เป็นไปได้ เช่น ประวัติการได้รับบาดเจ็บบริเวณหูหรือศีรษะ ความผิดปกติของเลือด หรือมีบุคคลในครอบครัวของผู้ป่วยใช้ยาที่ทำให้กลไกในการห้ามเลือดผิดปกติ เป็นต้น หลังจากนั้นจะตรวจร่างกายและระบบประสาทเบื้องต้น รวมทั้งตรวจบริเวณหู ศีรษะ คอและภายในลำคอ 

นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น

  • การใช้ภาพวินิจฉัย (Imaging Test) อย่างการเอกซเรย์หรือซีทีสแกน เพื่อตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แน่ชัด โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยเพิ่งได้รับบาดเจ็บหรือเกิดอุบัติเหตุ
  • การตรวจทางหู หากสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีเลือดออกหูไม่ชัดเจน แพทย์อาจตรวจช่องหูอย่างละเอียดด้วยอุปกรณ์ตรวจภายในช่องหู (Otoscope) หรืออาจใช้เครื่องมือดูด (Suction) เพื่อทำความสะอาดช่องหูร่วมด้วย 
  • การตรวจเลือด ได้แก่ การตรวจหาความผิดปกติของกลไกห้ามเลือด ความเข้มข้นของเลือด จำนวนและลักษณะของเม็ดเลือดขาว จำนวนเกล็ดเลือด การแข็งตัวของเลือด หรือการตรวจไขกระดูก
  • การตรวจอื่น ๆ เช่น สังเกตจุดเลือดหรือรอยจ้ำเขียวที่อวัยวะส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย หรืออาจตรวจความผิดปกติของตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลืองร่วมด้วย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในกรณีมีอาการรุนแรงมากหรือกระทบต่อการรับรู้ แพทย์อาจส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือทางการแพทย์และบุคลากรที่สามารถเฝ้าดูอาการได้อย่างใกล้ชิด

การรักษาเลือดออกหู

การรักษาเลือดออกหูอาจแตกต่างกันไปตามสาเหตุ ในเบื้องต้นแพทย์จะห้ามเลือดด้วยการใช้ผ้าก๊อซกดบริเวณที่มีเลือดออกภายนอก หากเลือดออกจากช่องหูชั้นนอกอาจใส่ผ้าก๊อซชุบยาห้ามเลือดหรือเย็บปิดแผล นอกจากนี้ แพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนพักโดยให้ยกศีรษะสูง ประคบเย็นบริเวณหน้าผากหรือคอ เพื่อช่วยให้เลือดหยุดไหลเป็นเวลาประมาณ 10 นาที แล้วค่อยประคบใหม่อีกครั้งทุก 10 นาที

หลังจากนั้น แพทย์อาจใช้วิธีรักษาตามสาเหตุที่ทำให้มีเลือดออกหูต่อไปนี้

การใช้ยาปฏิชีวนะ 

โดยทั่วไปอาการติดเชื้อในช่องหูจะดีขึ้นเองภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ผู้ป่วยอาจรับประทานยาแก้ปวดที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปอย่างยาพาราเซตามอล เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดไข้ แต่ในบางกรณี แพทย์อาจสั่งจ่ายยาหยอดหูบรรเทาอาการหรือยาปฏิชีวนะให้แก่ผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อไวรัสบางประเภทอาจไม่ตอบสนองต่อยาปฏิชีวนะได้ 

การเฝ้าสังเกตอาการ 

 

เลือดออกหูอาจเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ แพทย์อาจติดตามอาการของผู้ป่วยและรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น หากมีสิ่งแปลกปลอมภายในหู แพทย์อาจใช้ที่คีบนำสิ่งแปลกปลอมออกจากช่องหู แต่ผู้ป่วยไม่ควรพยายามแคะหรือเอาสิ่งแปลกปลอมออกมาด้วยตนเอง เนื่องจากอาจทำให้สิ่งแปลกปลอมถูกดันเข้าไปลึกยิ่งขึ้นหรือได้รับบาดเจ็บในหู 

การผ่าตัดซ่อมเยื่อแก้วหู (Tympanoplasty) 

 

แพทย์จะผ่าตัดเพื่อนำเนื้อเยื่อจากบริเวณอื่นมาแปะทดแทนแก้วหูเดิมที่ทะลุ โดยจะใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเยื่อแก้วหูทะลุแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 8-12 สัปดาห์ 

การผ่าตัดเจาะแก้วหู (Myringotomy) 

ในกรณีที่ผู้ป่วยกลับมามีอาการหูติดเชื้อ แพทย์อาจใช้วิธีผ่าตัดเจาะแก้วหูและดูดของเหลวในหูชั้นกลางออก จากนั้นจะใส่ท่อปรับความดันไว้ในแก้วหูเพื่อป้องกันไม่ให้แก้วหูอักเสบ

อย่างไรก็ตาม แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตนเองด้วยวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ป้องกันน้ำหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหูด้วยการสวมที่ปิดหูหรือใส่ที่อุดหู ประคบร้อนโดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณหูที่มีอาการปวดเพราะความร้อนจะช่วยให้อาการปวดทุเลาลงได้ รวมทั้งรับประทานยาแก้ปวดที่หาซื้อได้ทั่วไปเพื่อบรรเทาความรู้สึกไม่สบายหรือความเจ็บปวดจากการติดเชื้อ การได้รับความเสียหายบริเวณหู หรือความกดอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

ภาวะแทรกซ้อนของเลือดออกหู

เลือดออกหูอาจไม่ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนโดยตรง แต่หลายสาเหตุอาจนำไปสู่ความผิดปกติในระยะยาว เช่น ปวดศีรษะหรือเวียนศีรษะบ่อย ได้ยินเสียงในหูอย่างถาวร รับรู้ด้านภาษาเปลี่ยนแปลงไป ความสามารถและการทำงานลดลง มีปัญหาด้านการทรงตัว

นอกจากนี้ หากเกิดแก้วหูทะลุก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นได้ เนื่องจากแก้วหูมีหน้าที่ป้องกันสิ่งสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่หูชั้นกลาง ในกรณีที่เกิดการติดเชื้อรุนแรงและไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียการได้ยินถาวร

การป้องกันเลือดออกหู

ผู้ป่วยอาจลดความเสี่ยงจากอาการเลือดออกหูได้โดยหลีกเลี่ยงการนำสิ่งแปลกปลอมสอดเข้าไปเพื่อทำความสะอาดภายในหู เนื่องจากอาจทำให้หูเกิดการอุดตัน เกิดการบาดเจ็บในช่องหู หรือาจทำให้แก้วหูทะลุได้ หากมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหู ควรไปพบแพทย์ให้นำสิ่งแปลกปลอมออกให้

ในกรณีที่เกิดความผิดปกติใด ๆ หลังจากการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะหรือทำกิจกรรมที่มีความเปลี่ยนแปลงของความกดอากาศอย่างฉับพลัน อย่างการนั่งเครื่องบินหรือดำน้ำ ควรไปพบแพทย์ให้ตรวจดูและรักษาก่อนที่จะเกิดการติดเชื้อรุนแรงในภายหลัง