โรคหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบ (Henoch Schonlein Purpura)

ความหมาย โรคหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบ (Henoch Schonlein Purpura)

Henoch Schonlein Purpura คือ โรคหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบ โดยเส้นเลือดเล็ก ๆ บริเวณผิวหนัง ข้อต่อ ลำไส้ และไตเกิดการอักเสบ ระคายเคือง บวม และมีเลือดออก ส่งผลให้เกิดอาการปวดข้อต่อหรือปวดท้อง รวมถึงมีผื่นขึ้นพร้อมกับมีรอยช้ำขนาดเล็กจำนวนมาก Henoch Schonlein Purpura ไม่ใช่โรคร้ายแรง ซึ่งพบได้ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก โดยเฉพาะเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี และโดยส่วนใหญ่สามารถรักษาให้อาการดีขึ้นได้ภายใน 2-3 สัปดาห์

Henoch Schonlein Purpura  

อาการของโรคหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบ

ในเบื้องต้นผู้ป่วยอาจเริ่มเป็นไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แล้วหลังจากนั้น 2-3 สัปดาห์จึงปรากฏอาการอื่น ๆ แต่โดยทั่วไป โรค Henoch Schonlein Purpura และอาการต่าง ๆ ที่ไม่รุนแรงมากนักอาจหายได้เองภายใน 1 เดือน

อาการหลักอื่น ๆ ของ Henoch Schonlein Purpura ได้แก่

  • เป็นผื่น ผู้ป่วย Henoch Schonlein Purpura มักมีผื่นช้ำสีแดงอมม่วงปรากฏบริเวณขา ข้อเท้า ก้น เข่า ข้อศอก ใบหน้า และช่วงบนของลำตัว โดยอาจมีอาการรุนแรงในบริเวณที่เกิดแรงกดหรือถูกรัด เช่น บริเวณข้อที่สวมถุงเท้า หรือบริเวณรอบเอวที่สวมกางเกง
  • ปวดข้อ โดยเฉพาะบริเวณหัวเข่าและข้อเท้า ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการข้อบวมและอาจมีผื่นร่วมด้วย แต่อาการเหล่านี้จะดีขึ้นตามการรักษา และมักไม่ส่งผลเสียเรื้อรังแก่ข้อต่อในระยะยาว
  • ปวดท้อง อาจมีอาการปวดบีบ เกร็งช่องท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ไม่อยากอาหาร และอุจจาระปนเลือด โดยอาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นก่อนเป็นผื่นได้ แต่ในบางกรณี อาการปวดท้องอาจเกิดจากการอักเสบของหลอดเลือดในลำไส้ ทำให้มีอาการคล้ายภาวะไส้ติ่งอักเสบ ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะลำไส้อุดตันร่วมด้วย จนอาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด
  • ไตเสียหาย อาจตรวจพบเม็ดเลือดแดงหรือโปรตีนที่ปนออกมาในปัสสาวะจากการเสียหายของไต ซึ่งอาการอาจดีขึ้นตามการรักษา หรืออาจทวีความรุนแรงจนเป็นโรคไตหรือไตวายได้ ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์หากพบอาการที่อาจบ่งชี้ถึงความผิดปกติของไตเสมอ

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยปรากฏอาการร้ายแรงต่าง ๆ ที่อาจกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร หรือเป็นผู้ป่วยเด็กที่มีผื่นซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับโรคนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

สาเหตุของโรคหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบ

Henoch Schonlein Purpura เกิดจากเส้นเลือดเล็กในผิวหนังอักเสบ ระคายเคือง บวม และมีเลือดออก แม้ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุการอักเสบของโรคนี้ได้อย่างแน่ชัด แต่อาจเกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติจากการติดเชื้อ เพราะเชื่อว่าระบบภูมิคุ้มกันมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของหลอดเลือด และ 2 ใน 3 ของผู้ป่วย Henoch Schonlein Purpura มักปรากอาการต่าง ๆ ขึ้นหลังจากติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

การอักเสบของโรค Henoch Schonlein Purpura อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • การเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ เช่น การตอบสนองที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ คออักเสบ โรคอีสุกอีใส โรคหัด และโรคไวรัสตับอักเสบ
  • วัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ เช่น วัคซีนโรคไทฟอยด์ และวัคซีนอหิวาตกโรค
  • แมลงกัด
  • อาหารบางชนิด
  • การได้รับสารเคมี หรือการใช้ยาบางชนิด

ส่วนปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดโรค Henoch Schonlein Purpura ได้แก่

  • อายุ แม้ Henoch Schonlein Purpura จะเกิดได้ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นเด็กเล็กในช่วงอายุ 2-6 ปี
  • เพศ เด็กผู้ชายมีแนวโน้มเป็น Henoch Schonlein Purpura มากกว่าเด็กผู้หญิง
  • เชื้อชาติ เด็กผิวขาวและเด็กเอเชียมีแนวโน้มเป็น Henoch Schonlein Purpura มากกว่าเด็กผิวสี
  • สภาพอากาศ Henoch Schonlein Purpura มักไม่ค่อยปรากฏในหน้าร้อน แต่อาจเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศหนาวเย็น

การวินิจฉัยโรคหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบ

แพทย์อาจวินิจฉัย Henoch Schonlein Purpura จากอาการที่แสดง การสังเกตผิวหนัง และประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย โดยแพทย์อาจทดสอบเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย ดังต่อไปนี้

  • ตรวจร่างกาย เช่น ตรวจความดันโลหิต เพราะความดันโลหิตสูงอาจเป็นสัญญาณว่าไตได้รับผลกระทบจาก Henoch Schonlein Purpura ซึ่งแพทย์อาจตรวจผื่นตามร่างกายที่เป็นลักษณะเฉพาะของโรค และอาจตรวจบริเวณข้อเพื่อหาอาการข้อบวมอักเสบที่อาจเกิดขึ้นได้จากโรคนี้
  • ตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจหาเม็ดเลือดแดงหรือโปรตีนในปัสสาวะ และตรวจหาความผิดปกติของไต
  • ตรวจเลือด เพื่อหาสัญญาณการติดเชื้อ และสังเกตการทำงานของไต
  • ตรวจอัลตราซาวด์ เพื่อหาสาเหตุของอาการปวดท้อง และตรวจหาภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ลำไส้อุดตัน
  • ตรวจชิ้นเนื้อ โดยการตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อของผู้ป่วยไปส่องตรวจผ่านกล้องจุลทรรศน์ และอาจต้องตรวจชิ้นเนื้อไตร่วมด้วยหากผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับไต

การรักษาโรคหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบ

หากอาการที่ปรากฏไม่รุนแรงมากนัก ผู้ป่วยอาจดูแลตนเองในเบื้องต้นได้โดยการพักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำปริมาณมาก จนกว่าผื่นจะจางลงและอาการต่าง ๆ จะหายไป และอาจต้องใช้ยารักษาดังต่อไปนี้เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ ภายใต้คำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร ทั้งนี้ ยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ จึงควรปรึกษาแพทย์อย่างละเอียดก่อนใช้ยา โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับไตและลำไส้

อย่างไรก็ตาม หากอาการป่วยทวีความรุนแรงขึ้น หรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ลำไส้อุดตัน หรือไตเกิดความเสียหายอย่างหนัก ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดลำไส้ หรือผ่าตัดปลูกถ่ายไต

ภาวะแทรกซ้อนจากโรคหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบ

แม้ Henoch Schonlein Purpura จะไม่ใช่โรคร้ายแรง และสามารถหายได้เอง แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจกลับมาแสดงอาการอีกครั้งหลังจากหายดีแล้ว หรืออาจประสบภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • ความดันโลหิตสูง
  • อาการบวมน้ำ โดยเฉพาะบริเวณรอบดวงตาและข้อเท้า
  • โรคอัณฑะอักเสบ
  • โรคลำไส้กลืนกัน และลำไส้อุดตันในเด็ก
  • มีเลือดปนในปัสสาวะ หรือปัสสาวะเป็นฟองจากโปรตีนรั่ว
  • มีเลือดออกจากอวัยวะภายใน
  • มีปัญหาเกี่ยวกับไต เช่น ไตวาย หรือไตเสียหายถาวร

การป้องกันโรคหลอดเลือดขนาดเล็กอักเสบ

เนื่องจากยังไม่ทราบถึงสาเหตุแน่ชัดที่ก่อให้เกิดโรค Henoch Schonlein Purpura จึงยังไม่มีวิธีใดที่ป้องกันการเกิดโรคได้โดยตรง แต่อาจหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดโรคได้ เช่น

  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยที่อาจเป็นสาเหตุของ Henoch Schonlein Purpura ได้
  • หลีกเลี่ยงการถูกแมลงสัตว์กัดต่อย
  • หลีกเลี่ยงสภาพอากาศที่หนาวเย็น หรือทำร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียที่อาจทำให้เจ็บป่วย เช่น คออักเสบ หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีต่าง ๆ โดยไม่จำเป็น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดที่อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ