หูชั้นนอกอักเสบ

ความหมาย หูชั้นนอกอักเสบ

หูชั้นนอกอักเสบ (Otitis Externa) เป็นอาการอักเสบบริเวณหูชั้นนอกที่เชื่อมต่อจากใบหูด้านนอกกับแก้วหู ส่งผลให้เกิดอาการปวดหู รู้สึกเจ็บเมื่อขยับใบหู มีของเหลวใสไหลออกจากหู ส่วนมากมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หากได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือการติดเชื้ออย่างรุนแรงในภายหลัง

หูชั้นนอกอักเสบยังรู้จักกันอีกในชื่อโรค Swimmer’s Ear เพราะมักเกิดขึ้นหลังการว่ายน้ำ โดยน้ำที่ค้างอยู่ภายในหูอาจทำให้เกิดความชื้นที่เอื้อให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี จึงทำให้หูชั้นนอกเกิดการอักเสบ นอกจากนี้ การแคะขี้หูด้วยการใช้นิ้วมือ สำลีก้านหรือวัตถุอื่น ๆ ก็อาจทำให้หูชั้นนอกอักเสบได้เช่นกัน เพราะจะทำให้เยื่อบุผิวหนังบริเวณช่องหูถูกทำลาย

2491-หูชั้นนอกอักเสบ

อาการของหูชั้นนอกอักเสบ

อาการหูชั้นนอกอักเสบในช่วงแรกมักไม่รุนแรง แต่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมหรือเกิดการติดเชื้อจนลุกลามก็อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น แพทย์มักแบ่งอาการที่เกิดขึ้นตามระดับความรุนแรงของโรค ดังนี้

  • อาการระยะแรก ผู้ป่วยอาจรู้สึกคันในรูหู มีรอยแดงในหู รู้สึกไม่สบายและอาจเจ็บปวดมากขึ้นเมื่อสัมผัสหรือดึงใบหู รู้สึกเจ็บเมื่อกดบริเวณกระดูกอ่อนด้านหน้าใบหู และอาจมีของเหลวใส ไม่มีกลิ่นไหลออกจากรูหู
  • อาการรุนแรงปานกลาง จะส่งผลให้เกิดอาการแดง คัน และเจ็บปวดในช่องหูเพิ่มมากขึ้น มีของเหลวไหลออกมาจากในหูมากกว่าระยะแรก ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกถึงการอุดตันภายในช่องหูจากของเหลวและสิ่งสกปรกภายในหู หรือจากอาการบวมจากการอักเสบ ทำให้ความสามารถในการได้ยินลดลง
  • อาการรุนแรง ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บปวดมากจนลามไปถึงใบหน้า ลำคอ และด้านข้างของศีรษะ หูอื้อและช่องหูอุดตันอย่างรุนแรง หูด้านนอกมีอาการบวมแดง ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอบวมขึ้น และอาจมีไข้ร่วมด้วย

อาการหูชั้นนอกอักเสบพบได้บ่อยในผู้ที่ว่ายน้ำบ่อย โดยเฉพาะในเด็กที่จะมีโอกาสติดเชื้อที่หูชั้นนอกได้ง่าย เนื่องจากขนาดช่องหูของเด็กนั้นมักมีขนาดเล็กกว่าช่องหูของผู้ใหญ่ เมื่อน้ำเข้าหูจึงมักค้างอยู่ภายในและเกิดการติดเชื้อได้ง่ายกว่า อาการที่พบบ่อยในเด็กมักเป็นอาการปวดหู ส่วนในเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถสื่อสารได้ก็อาจสังเกตได้จากอาการต่อไปนี้ 

  • รู้สึกเจ็บเมื่อออกแรงดึงบริเวณใกล้ใบหู
  • ร้องไห้เมื่อสัมผัสใบหูของตนเอง
  • รู้สึกหงุดหงิด ไม่สบายตัว ร้องไห้บ่อยผิดปกติ หรือมีปัญหาในการนอนหลับ
  • มีของเหลวหรือหนองไหลออกจากรูหู
  • ในบางกรณีอาจมีไข้ร่วมด้วย แต่พบได้น้อย

หากผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวด คันบริเวณหูหรือช่องหู ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา อย่างไรก็ตาม ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการเจ็บปวดรุนแรง ขี้หูหนา มีกลิ่นหรือเลือดไหลออกจากหู มีไข้ และการได้ยินลดลงจนเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ 

สาเหตุของหูชั้นนอกอักเสบ

โดยปกติแล้วภายในช่องหูชั้นนอกจะมีกลไกการป้องกันสิ่งสกปรกและการติดเชื้อ ส่วนแรกเป็นต่อมผลิตขี้หู ซึ่งจะผลิตขี้หูที่มีลักษณะเป็นฟิล์มบาง ๆ มีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อน ๆ ไม่ละลายน้ำอยู่ภายในช่องหู เพื่อช่วยป้องกันการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ดักจับสิ่งสกปรก เซลล์ผิวที่ตายแล้ว และสิ่งแปลกปลอมอื่น ๆ ไม่ให้เข้าไปภายในหู ขณะเดียวกันยังมีกระดูกอ่อนปิดช่องหู เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหูได้

หูชั้นนอกอักเสบ เกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก คือ การติดเชื้อและความผิดปกติของผิวหนัง แต่จะพบได้บ่อยจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ในบางกรณีอาจเกิดได้จากการติดเชื้อไวรัสหรือเชื้อรา 

การติดเชื้อ
หูชั้นนอกอักเสบจากการติดเชื้อมักเกิดจากสาเหตุที่ทำให้กลไกการป้องกันอ่อนแอลงจนเชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดีขึ้น ดังนี้

  • ความชื้นภายในหูมากเกินไป ทำให้ภายในหูเกิดความชื้นเพียงพอที่แบคทีเรียจะเจริญเติบโตได้ดี โดยอาจเกิดจากปัจจัยภายนอกอย่างอากาศร้อนชื้น หรือปัจจัยของตัวผู้ป่วยเอง เช่น เหงื่อออกมาก มีน้ำค้างอยู่ในหูหลังการอาบน้ำหรือว่ายน้ำ เป็นต้น 
  • รอยขีดข่วนหรือรอยถลอกจากการแคะหู ทั้งจากการใช้นิ้วมือหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น สำลีก้าน กิ๊ฟติดผม หรือปลอกปากกา รวมไปถึงการสวมใส่หูฟังหรืออุปกรณ์ช่วยฟังก็อาจทำให้เกิดรอยแผลจนเอื้อต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย
  • การแพ้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผมหรือเครื่องประดับ หากเกิดอาการแพ้ขึ้นอาจทำให้เกิดการติดเชื้อตามมาได้

ความผิดปกติของผิวหนัง
ในกรณีของหูชั้นนอกอักเสบแบบไม่ติดเชื้ออาจเกิดจากอาการผิดปกติของโรคผิวหนังที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ก่อนแล้ว เช่น โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบ (Seborrhoeic Dermatitis) และโรคผื่นผิวหนังจากภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Cutaneous Lupus Erythematosus) เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่เอื้อต่อการเกิดหูชั้นนอกอักเสบ ได้แก่ น้ำสกปรกหรือมีแบคทีเรียมากเข้าไปในหู ว่ายน้ำเป็นประจำ ใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดรูหูอย่างรุนแรง ใช้ที่อุดหูหรือหูฟังเป็นประจำ หรือสภาพผิวหนังแพ้ง่าย

การวินิจฉัยหูชั้นนอกอักเสบ

แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการสอบถามอาการ ตรวจสอบประวัติสุขภาพ และตรวจร่างกายเบื้องต้นของผู้ป่วย หากพบการติดเชื้อต่อเนื่อง แพทย์จะตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนี้

  • การตรวจช่องหูด้วยอุปกรณ์ตรวจหู (Otoscope) จะช่วยให้แพทย์ตรวจพบรอยแดง บวม หรือมีสะเก็ดลอกในช่องหู อาจพบผิวลอกเป็นขุยหรือสิ่งสกปรกเล็ก ๆ ภายในช่องหูด้วย
  • การตรวจเยื่อแก้วหูเพื่อตรวจดูความผิดปกติของเยื่อแก้วหู หากตรวจพบการอุดตัน แพทย์จะใช้อุปกรณ์ในการแคะหรือเครื่องมือดูดขี้หูและสิ่งสกปรกที่อุดตันอยู่ออก แต่ในกรณีที่พบว่าเยื่อแก้วหูทะลุหรือฉีกขาด แพทย์อาจแนะนำให้ไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก เพื่อวินิจฉัยอาการและหาสาเหตุของความผิดปกติหรือการติดเชื้อในหูชั้นกลาง ซึ่งการวินิจฉัยโดยแพทย์เฉพาะทางเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากวิธีรักษาบางประเภทอาจเหมาะกับการรักษาอาการติดเชื้อที่เกิดขึ้นบริเวณหูชั้นนอก แต่ไม่เหมาะกับการรักษาบริเวณหูชั้นกลาง
  • การเก็บตัวอย่างจากในช่องหูในกรณีที่อาการติดเชื้อไม่ตอบสนองต่อการรักษา เพื่อวินิจฉัยหาเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อในผู้ป่วย  

การรักษาหูชั้นนอกอักเสบ

แพทย์มักจะรักษาหูชั้นนอกอักเสบได้โดยไม่ต้องทดสอบเพิ่มเติม เนื่องจากการวินิจฉัยเบื้องต้นจะระบุสาเหตุและอาการที่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างชัดเจน โดยเป้าหมายของการรักษา คือ การรักษาช่องหูให้กลับมาเป็นปกติและหยุดการติดเชื้อภายในหู แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาหูชั้นนอกอักเสบ ดังนี้

ทำความสะอาดช่องหู

แพทย์จะใช้เครื่องมือเขี่ยขี้หู (Ear Curette) หรือเครื่องมือดูดขี้หู (Suction Device) ในการกำจัดสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่อุดตันภายในช่องหู เพื่อให้สามารถใช้ยาหยอดลงไปในช่องหูได้

การรักษาด้วยการใช้ยา

แพทย์จะสั่งจ่ายยาหยอดหูที่มีส่วนประกอบต่างกัน โดยจะพิจารณาตามประเภทและความรุนแรงของการติดเชื้อ เช่น ยาหยอดหูชนิดที่มียาฆ่าเชื้อหรือมีกรดอะเซติค (Acetic Acid) ยาสเตียรอยด์ ยาต้านเชื้อรา หรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น รวมทั้งจะแนะนำวิธีการใช้ยาหยอดหูที่เหมาะสมให้แก่ผู้ป่วย ดังนี้

  • ถือขวดยาไว้ในมือสักครู่ เพื่อให้ยามีอุณภูมิใกล้เคียงกับอุณหภูมิในร่างกาย ซึ่งจะช่วยลดความไม่สบายหูจากความเย็นของยา
  • หากเป็นไปได้ ควรให้บุคคลอื่นช่วยหยอดยาให้
  • ในการหยอดยาอาจใช้วิธีการดึงใบหูไปด้านหลังและขึ้นบน เพื่อเปิดรูหูให้ตรงและกว้างเพื่อความสะดวกในการหยอดยา
  • หลังหยอดยาควรตะแคงศีรษะค้างไว้ประมาณ 3-5 นาที เพื่อให้ยากระจายตัวซึมลงในช่องหูได้ทั่วถึง

ในบางกรณี การรับประทานยาแก้ปวดอาจช่วยบรรเทาอาการปวดแก่ผู้ป่วยได้ เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) หรือยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ในกรณีที่อาการปวดรุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์รุนแรงขึ้นกว่าให้เพิ่มเติมหรืออาจสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะหากอาการติดเชื้อยังไม่ดีขึ้นหลังได้รับการรักษา

การรักษาด้วยวิธีการอื่น

ถ้ารูหูส่วนนอกอุดตันจากการบวม อักเสบ หรือมีสิ่งสกปรกภายในช่องหูมากเกินไป ทำให้ไม่สามารถหยอดยาหยอดหูลงไปได้ แพทย์อาจใช้ผ้าก๊อซเล็ก ๆ (Ear Wick) ชุบยาหยอดหูที่มีส่วนผสมของยาสเตียรอยด์เพื่อช่วยลดอาการบวม โดยจะใส่ไว้ในรูหูชั้นนอกประมาณ 24 ชั่วโมง เพื่อช่วยให้ยาหยอดหูไหลเข้าไปส่วนในของช่องหู เมื่อรูหูส่วนนอกยุบลงและมีรูให้ยาหยอดหูผ่านเข้าไปได้ จึงจะนำผ้าก๊อซออก

ภาวะแทรกซ้อนของหูชั้นนอกอักเสบ

หากมีอาการหูชั้นนอกอักเสบและปล่อยไว้โดยไม่ได้รักษาหรืออาการไม่ดีขึ้น อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ดังนี้

  • เมื่อผู้ป่วยมีอาการหูชั้นนอกอักเสบนานกว่า 3 เดือน โดยเฉพาะเมื่อเกิดจากสาเหตุที่ยากต่อการรักษา เช่น การติดเชื้อแบคทีเรียที่รักษาได้ยาก อาการแพ้ที่ผิวหนัง หรือแพ้ยาหยอดหู เป็นต้น จะส่งผลให้เกิดภาวะหูชั้นนอกอักเสบเรื้อรัง ทำให้ช่องหูตีบแคบลงและกระทบต่อการได้ยินของผู้ป่วย หากอาการรุนแรงอาจทำให้เสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร จึงจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ 
  • การใช้วัตถุใด ๆ สอดเข้าไปในช่องหูอาจทำให้แก้วหูทะลุ ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บปวดมาก สูญเสียการได้ยินชั่วคราว ได้ยินเสียงดังในหู มีหนองหรือเลือดไหลออกมาจากช่องหู
  • ผู้ป่วยอาจมีอาการหูชั้นนอกอักเสบร้ายแรง (Malignant Otitis Externa) เกิดขึ้นเมื่อการติดเชื้อลุกลามไปยังกระดูกและกระดูกอ่อนรอบช่องหู แม้จะพบได้น้อย แต่จัดเป็นภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
  • หากเกิดการติดเชื้อจนลุกลามไปสู่กระดูกอาจทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น สมองหรือเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียง และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิต
  • ผู้ใหญ่ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจะมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ง่าย เช่น รู้สึกเจ็บปวดหูหรือปวดศีรษะอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเวลากลางคืน มีของเหลวไหลออกจากหูต่อเนื่อง มีอาการหน้าเบี้ยวในด้านที่หูชั้นนอกอักเสบ หากมีอาการเหล่านี้และไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

การป้องกันหูชั้นนอกอักเสบ

หูชั้นนอกอักเสบสามารถป้องกันได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังนี้

  • สวมหมวกว่ายน้ำหรือหมวกอาบน้ำที่คลุมใบหู หรือใส่ที่อุดหูทุกครั้งเมื่อว่ายน้ำและอาบน้ำ โดยระมัดระวังในการเลือกวัสดุที่ไม่ระคายเคืองต่อช่องหู
  • เลือกว่ายน้ำในสระว่ายน้ำที่ได้มาตรฐานและมีการฆ่าเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ โดยอาจสังเกตได้จากการจดบันทึกการฆ่าเชื้อโรคในสระน้ำ
  • รักษาหูให้แห้งเสมอ โดยหลังการอาบน้ำหรือว่ายน้ำ ให้เช็ดน้ำออกจากรูหูเบา ๆ ด้วยผ้าขนหนู เอียงศีรษะเพื่อกำจัดน้ำที่อาจค้างอยู่ในหู หรืออาจใช้เครื่องเป่าผมเป่าให้บริเวณหูแห้งได้ โดยตั้งที่ระดับลมอ่อน ถือห่างจากใบหูประมาณ 30 เซนติเมตร
  • หลีกเลี่ยงการแคะหรือทำความสะอาดในช่องหูด้วยการใช้นิ้วมือหรือวัตถุใด ๆ เนื่องจากอาจทำให้เกิดรอยขีดข่วน ระคายเคือง หรืออาจทำให้ขี้หูถูกดันเข้าไปในช่องหูลึกขึ้น
  • ใช้สำลีก้อนอุดบริเวณรูหูเมื่อต้องใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม
  • ไม่ควรซื้อยาหยอดหูมาใช้เอง เพราะอาจแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาหยอดหูได้