หูอื้อจากสาเหตุในชีวิตประจำวัน พร้อมเคล็ดลับในการรับมือ

หูอื้อเป็นคำที่คนทั่วไปใช้เรียกการได้ยินที่ต่างไปจากเดิม แต่ความจริงแล้วลักษณะการได้ยินที่เปลี่ยนไปอาจแบ่งออกเป็น อาการหูอื้อหรือการได้ยินเสียงเบาลง (Blocked Ear) และการได้ยินเสียงอื่นภายในหู (Tinnitus) ที่ส่งผลต่อการได้ยินเช่นเดียวกัน แต่คนทั่วไปมักเรียกรวม ๆ กันว่าหูอื้อ บางครั้งอาการเหล่านี้อาจมีอาการเจ็บหรือทำให้รู้สึกอึดอัดภายในรูหูร่วมด้วย โดยเกิดได้ทั้งกับหูข้างเดียวและ 2 ข้าง

อาการหูอื้อเป็นอาการทั่วไปที่พบได้ในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากการได้ยินเสียงดังจากเสียงเพลง การขึ้นที่สูง หรือมีน้ำเข้าหู แต่ในบางครั้งก็อาจเป็นสัญญาณของโรคได้เช่นกัน โดยในบทความนี้ได้รวบรวมสาเหตุของของหูอื้อที่พบได้ในชีวิตประจำวัน พร้อมวิธีรักษาและป้องกันในเบื้องต้นมาให้ได้ศึกษากัน

หูอื้อ

สาเหตุและวิธีแก้หูอื้อเบื้องต้น  

การรักษาอาการหูอื้อหรือการได้ยินเสียงในหูอาจแบ่งได้ตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว ดังนี้

1. เมื่อได้ยินเสียงดัง

การได้ยินเสียงดังเกิน 85 เดซิเบลต่อเนื่องกันนานสามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณหูชั้นในแบบเฉียบพลันจนทำให้เกิดอาการหูอื้อและอาจนำไปสู่การสูญเสียการได้ยินได้ โดยการได้ยินเสียงดังในชีวิตประจำวันมักมาจากการฟังเพลงที่ดังเกินไป การดูคอนเสิร์ต การได้ยินเสียงพลุ ประทัด เสียงยิงปืน และเสียงระเบิด

การบาดเจ็บบริเวณหูชั้นในแบบเฉียบพลันจากสาเหตุเหล่านี้มักหายเองได้โดยไม่จำเป็นต้องรักษา ซึ่งอาจใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีไปจนถึงหลายวันหรือ 1-2 สัปดาห์ แต่เราอาจลดปัจจัยที่กระตุ้นอาการดังกล่าวได้ด้วยการงดคาเฟอีน ไม่เครียด และหลีกเลี่ยงเสียงดัง ก็อาจช่วยให้หายได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม หากพบอาการปวดหูหรืออาการอื่นร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์จะดีที่สุด

2. เมื่อน้ำเข้าหู

การว่ายน้ำและสระผมเป็นสาเหตุหลักที่อาจทำให้น้ำเข้าหูจนทำให้เกิดอาการหูอื้อ หลายคนที่น้ำเข้าหูมักใช้นิ้วกดเข้าไปในรูหูหรือใช้คอตตอนบัดเพื่อนำน้ำในหูออกมา ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นวิธีที่ผิด เพราะการทำแบบนี้อาจดันน้ำให้ลึกเข้าไปในหูเพิ่มมากขึ้นอีกและเสี่ยงต่อการเกิดแผลถลอก

ส่วนอีกวิธีที่หลายคนทำถูกแล้ว คือ การเอียงหูข้างที่น้ำเข้าให้ขนานกับพื้นพร้อมกระโดดหรือเขย่าตัวเบา ๆ ให้น้ำไหลออก นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำวิธีอื่น ๆ ที่ช่วยบรรเทาอาการเมื่อน้ำเข้าหู อย่างการเอียงหูข้างที่มีน้ำ โดยเอียงหูลงฝ่ามือข้างใดข้างหนึ่งเพียงเล็กน้อย แล้วใช้ฝ่ามือกดไปในหูเบา ๆ จากนั้นน้ำจะค่อย ๆ ไหลออกมา หรืออีกวิธีคือการใช้นิ้วมือบีบจมูกและหายใจออก โดยใช้แรงในการหายใจมากกว่าปกติเล็กน้อย เพื่อให้ความดันอากาศดันน้ำในหูให้ออกมา แต่ควรระมัดระวังไม่ให้หายใจแรงจนเกินไป เพราะอาจทำให้หูเกิดการบาดเจ็บ

3. เมื่อเครื่องบินขึ้นหรือลง

หลายคนคงเคยประสบกับหูอื้อในการเดินทางด้วยเครื่องบิน ซึ่งเมื่อเครื่องบินทะยานขึ้นจะทำให้แรงดันอากาศภายในหูชั้นกลางสูงกว่าด้านนอกจนทำให้แก้วหูโป่งขึ้น และเมื่อเครื่องบินกำลังลงจะทำให้แรงดันอากาศภายนอกสูงกว่าภายในหู จึงส่งผลให้แก้วหูถูกบีบ โดยทั้ง 2 ภาวะนี้ล้วนทำให้เกิดอาการหูอื้อจากแรงดันอากาศ ในบางรายอาจมีอาการเจ็บแก้วหูไปจนถึงเยื่อแก้วหูฉีกขาด 

นอกจากนี้ ภาวะแรงดันอากาศระหว่างภายนอกและภายในหูที่ไม่สมดุลกันนี้ยังเกิดได้จากการขึ้นหรือลงที่สูง การใช้ลิฟต์ และการดำน้ำได้ด้วย หากบางคนที่มีอาการจากโรคภูมิแพ้และโรคหวัดก็อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการหูอื้อจากแรงดันอากาศได้เช่นกัน

ในเบื้องต้นการกลืนน้ำลายหรือการหาวอาจช่วยบรรเทาอาการได้ รวมทั้งการหายใจเข้าลึก ๆ แล้วใช้มือข้างหนึ่งบีบจมูกและอีกข้างหนึ่งปิดปากเพื่อช่วยให้ลมเข้าไปในหูเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งอาจช่วยบรรเทาภาวะเยื่อแก้วหูยุบตัวขณะเครื่องบินลงจอดได้ หากมีอาการบวมของแก้วหูก็อาจใช้ยาลดแก้คัดจมูกบรรเทาได้

4. เมื่อขึ้หูมากเกินไป

แม้ว่าขี้หูจะมีหน้าที่ป้องกันสิ่งแปลกปลอมเข้ามาในรูหูและมักจะหลุดออกมาเองตามธรรมชาติ แต่ในบางครั้งขี้หูก็อาจสะสมอยู่ในหูมากเกินไปจนส่งผลให้ขี้หูอุดตันและเกิดความผิดปกติ อย่างอาการเจ็บหู ปวดหู หูอื้อ หรือส่งผลต่อการได้ยิน

การทำความสะอาดรูหูและขี้หูออกด้วยตนเองนั้นจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะเยื่อแก้วหูเป็นอวัยวะที่บอบบาง โดยอุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่คนไทยนิยมใช้ในการแคะหู คือ ไม้แคะหูที่ทำจากเหล็กและคอตตอนบัด ซึ่งการแคะและสอดอุปกรณ์เหล่านี้เข้าไปในหูนั้นค่อนข้างเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บ

สำหรับวิธีที่ปลอดภัยและสามารถลองทำได้ คือ การผสมน้ำยาหยอดตาเข้ากับเบบี้ออย ไกลเซอรีน หรือไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) แล้วหยอดเข้าไปภายในหู จากนั้นทิ้งไว้ 1-2 วัน ของเหลวเหล่านั้นจะเข้าไปทำให้ขี้หูอ่อนตัวลง จากนั้นให้ใช้ลูกยางสูบน้ำอุ่น เอียงหูขึ้นด้านบนและบีบน้ำอุ่นจากลูกยางเข้าไปในหู เมื่อรู้สึกว่าน้ำเข้าไปแล้วให้เอียงหูขนานกับพื้นเพื่อให้ขี้หูหลุดออกมา โดยอาจทำซ้ำได้จนขี้หูออกมาหมด และใช้ผ้าเช็ดหูให้แห้งเป็นขั้นตอนสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม วิธีนี้เป็นเพียงการทำความสะอาดขี้หูบริเวณหูชั้นนอกเท่านั้น จึงควรทำอย่างระมัดระวังหรือปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการทำอย่างถูกต้อง เพราะยังมีความเสี่ยงที่ขี้หูที่อ่อนตัวอาจจะหลุดเข้าไปในช่องหูได้

ในเบื้องต้นอาการหูอื้อจากสาเหตุเหล่านี้อาจป้องกันได้ด้วยวิธีดังนี้

  • หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีเสียงดัง หากเลี่ยงไม่ได้ควรใส่ที่ปิดหูเพื่อป้องกันเสียง โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในที่ที่มีเสียงดังอยู่ตลอดเวลา อย่างโรงงานที่มีเครื่องจักรหรือร้านขายเครื่องเสียง
  • ปรับระดับเสียงหูฟังให้เบากว่าปกติ เพราะการฟังเสียงระดับกลางต่อเนื่องกันนานอาจส่งผลให้ประสาทหูเสื่อมและเกิดอาการหูอื้อได้เช่นกัน
  • ผู้ที่ชื่นชอบการว่ายน้ำ ควรใช้จุกสวมหูสำหรับกันแรงดันที่จะช่วยกันน้ำเข้าหูและป้องกันการบาดเจ็บจากแรงดันใต้น้ำได้ด้วย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ไม้แคะหูและคอตตอนบัดปั่นหู เพราะหากไม่ได้มีโครงสร้างหูที่เล็กกว่าปกติหรือมีปัญหาเกี่ยวกับหู กลไกของร่างกายจะขับขี้หูออกมาเอง
  • เมื่อรูหูเปียกไม่ว่าจะเกิดจากการว่ายน้ำหรือสระผม ควรใช้ผ้าซับส่วนที่เปียกด้านนอกเท่านั้น หากต้องการใช้คอตตอนบัด ไม่ควรปั่นเข้าไปในรูหู แต่ควรเอียงศีรษะให้น้ำไหลออกมาและใช้คอตตอนบัดเช็ดด้านนอกเท่านั้น
  • การแคะหูด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ควรให้ผู้ที่มีความชำนาญหรือแพทย์เป็นคนทำ เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดการบาดเจ็บภายในหูที่อาจส่งผลต่อการได้ยิน

อย่างที่กล่าวไปว่าอาการหูอื้อนั้นอาจเป็นสัญญาณของโรค ทั้งโรคทั่วไปและโรคร้ายแรง เมื่อมีอาการหูอื้อที่ไม่ได้เกิดจากสาเหตุทั่วไป เป็นบ่อยเกินไป เป็นติดต่อกันนาน มีอาการรุนแรงขึ้น หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย อย่างอาการปวดหู มีหนองไหล หรือมีกลิ่นที่แปลกไปจากเดิม ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจอย่างถูกต้องและไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ เพราะหากทิ้งไว้อาจนำไปสู่การสูญเสียการได้ยินหรือหูหนวกได้