ขี้หูอุดตัน รักษาอย่างไร

ขี้หู (Ear wax) ถูกผลิตจากต่อมบริเวณผิวหนังภายในหูชั้นนอก มีหน้าที่ดักจับฝุ่นหรือสิ่งแปลกปลอมที่มีขนาดเล็ก ทำหน้าที่เป็นตัวหล่อลื่นช่องหูและช่วยป้องกันไม่ให้ฝุ่นผงหรือสิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กผ่านเข้าไปทำอันตรายหรือทำให้เกิดการติดเชื้อที่แก้วหู และปกติขี้หูจะแห้งและร่วงหล่นออกจากหูไปพร้อมกับเศษฝุ่นผงต่าง ๆ ที่ดักจับเอาไว้ตามธรรมชาติ

ขี้หู

ขี้หูอุดตันเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ขี้หูอุดตันเกิดขึ้นเมื่อมีการสะสมขี้หูในช่องหู หรือร่างกายขับขี้หูออกไปเองได้ลดลง โดยผู้ที่มีขี้หูมากจะไม่ได้ทำให้เกิดขี้หูอุดตันในทันที แต่จะมักเกิดจากการทำความสะอาดแล้วดันให้ขี้หูเข้าไปอุดตัน เช่น ใช้สำลีพันก้านและกิ๊บติดผมแคะขี้หู ซึ่งการใช้วัตถุเหล่านี้อาจดันให้ขี้หูเข้าไปลึกและทำให้เกิดการอุดตัน

นอกจากนั้น ผู้ที่มักใช้หูฟังหรือที่อุดหูอยู่บ่อยครั้ง อาจทำให้เกิดการสะสมของขี้หูได้มาก ซึ่งเป็นการทำให้ขี้หูไม่สามารถหลุดออกมาได้ตามปกติและทำให้เกิดการอุดตันในที่สุด รวมไปถึงผู้ที่มีช่องหูเล็กหรือมีรูปร่างที่แปลกไปกว่าปกติ อาจทำให้ขี้หูที่ต้องหลุดร่วงตามธรรมชาติออกมาได้ลำบาก และอาจทำให้เกิดขี้หูอุดตันได้ในที่สุด

เมื่อมีขี้หูอุดตันจะมีอาการอย่างไร?

เมื่อมีขี้หูอุดตันอาจทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ได้แก่

  • ปวดหู
  • รู้สึกแน่นในหูข้างที่เกิดการอุดตัน
  • ได้ยินเสียงในหู หรือหูอื้อ
  • การได้ยินลดลงในหูข้างที่เกิดการอุดตัน
  • เวียนศีรษะ
  • มีอาการคันหรือมีของเหลวไหลออกจากช่องหู

เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์?

หากผู้ป่วยมีอาการของขี้หูอุดตันดังข้างต้น รวมไปถึงหากมีอาการเสียการทรงตัว สูญเสียการได้ยินฉับพลัน อาเจียนหรือมีไข้สูง ควรไปพบแพทย์

นอกจากนั้น ขี้หูอุดตันอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการของการติดเชื้อในหูดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์

  • มีอาการเจ็บในหูอย่างรุนแรง
  • มีอาการเจ็บหูและไม่มีทีท่าว่าจะบรรเทาลง
  • มีของเหลวไหลออกจากช่องหู
  • มีไข้
  • ไอ
  • สูญเสียการได้ยินอย่างต่อเนื่อง
  • มีกลิ่นไม่พึงประสงค์จากหู
  • เวียนศีรษะ

อย่างไรก็ตาม บางอาการข้างต้นและอาการของขี้หูอุดตัน เช่น สูญเสียการได้ยิน เวียนศีรษะ และปวดหู อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้น ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และที่สำคัญไม่ควรกำจัดขี้หูด้วยตนเองเพราะช่องหูและแก้วหูมีความบอบบาง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ง่าย

สามารถกำจัดขี้หูและรักษาขี้หูอุดตันได้อย่างไร?

การรักษาด้วยตนเอง ในกรณีที่มีขี้หูมากและขวางกั้นช่องหู สามารถทำด้วยตนเองเบื้องต้นด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ใช้ยาหยอดหูหรือสารอื่น ๆ เช่น น้ำมันมิเนรัล ออย (Mineral Oil) ยาไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) กลีเซอรีน (Glycerine) หรือเบบี้ออยล์ (Baby Oil) เพื่อทำให้ขี้หูอ่อนตัวลงและกำจัดออกได้ง่าย
  • ล้างช่องหูด้วยไซริงค์ หลังจาก 1-2 วัน ที่ขี้หูเริ่มอ่อนตัวลงแล้ว ให้ใช้ไซริงค์ฉีดน้ำอุ่นเข้าในช่องหู โดยน้ำอุ่นควรมีอุณหภูมิใกล้เคียงกับอุณหภูมิร่างกายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการเวียนศีรษะ จากนั้นเอียงศีรษะเล็กน้อยให้น้ำได้เข้าไปตามช่องหู หลังจากนั้นจึงเอียงศีรษะไปด้านข้างเพื่อให้น้ำออกจากหู
  • ทำความสะอาดเช็ดหูให้แห้งด้วยผ้าสะอาดหรือเครื่องเป่า
  • อาจต้องทำขั้นตอนข้างต้นซ้ำ ๆ เพื่อให้ขี้หูหลุดออกมา

อย่างไรก็ตาม สารที่ช่วยทำให้ขี้หูอ่อนตัว อาจเพียงช่วยให้ขี้หูบริเวณหูชั้นนอกออกมาเท่านั้น และยังอาจทำให้ขี้หูขยับลึกเข้าไปข้างในช่องหูหรือแก้วหูได้ ดังนั้น หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

การรักษาโดยแพทย์ ในกรณีที่มีขี้หูมากหรือมีขี้หูอุดตัน เบื้องต้นแพทย์จะใช้กล้องส่องตรวจหู (Otoscope) เพื่อช่วยในการตรวจดูช่องหูและอาจรวมไปถึงการวินิจฉัยอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับอาการ

แพทย์จะใช้วิธีต่อไปนี้เพื่อกำจัดขี้หูออก

  • ใช้เครื่องมือเขี่ยขี้หูออก (Ear curette) หรืออาจใช้การดูดเอาขี้หูออก
  • ล้างทำความสะอาดขี้หูด้วยไซริงค์หรือลูกยางแดง โดยใช้น้ำอุ่นที่มีอุณหภูมิใกล้เคียงกับอุณหภูมิของร่างกาย หรืออาจใช้ยาหยอดโซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium Bicarbonate) หรือยาหยอดหูอื่น ๆ ที่สั่งโดยแพทย์เพื่อชะล้างขี้หูออก
  • หากพบว่ามีปัญหาในการสะสมของขี้หูเกิดขึ้นอีกครั้ง แพทย์อาจแนะให้ใช้ยากำจัดขี้หูที่สั่งโดยแพทย์ เช่น คาร์บาร์ไมด์เปอร์ออกไซด์ (Carbamide Peroxide) อย่างไรก็ตาม ยาหยอดหูดังกล่าวอาจทำให้เกิดการระคายเคืองในช่องหูหรือแก้วหูได้ ดังนั้น ผู้ใช้ควรใช้ด้วยความระมัดระวังและใช้ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

การป้องกันไม่ให้ขี้หูอุดตันซ้ำ หลังจากที่แพทย์เอาขี้หูออกแล้ว สามารถทำได้ดังนี้

  • ไม่ใช้ไม้พันสำลีแคะหูหรือปั่นหูอีก หากน้ำเข้าหูและทำให้รู้สึกรำคาญ สามารถป้องกันไม่ให้น้ำเข้าได้โดยใช้สำลีชุบวาสลิน หรือใช้ที่อุดหูสำหรับนักดำน้ำ ที่หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์กีฬา หรือสวมหมวกอาบน้ำให้มาคลุมใบหู เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าหู
  • สามารถใช้ยาละลายขี้หูหยอดเป็นประจำ อาจใช้เพียงอาทิตย์ละครั้ง แต่หากไม่มีปัญหา อาจใช้ 2-4 สัปดาห์ครั้ง ก็สามารถช่วยลดการอุดตันของขี้หูในช่องหูชั้นนอกได้

นอกจากนั้น สำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาขี้หูมากหรือขี้หูแข็ง ไม่ควรแคะหูด้วยตนเอง เช่น ใช้คลิปหนีบกระดาษ ไม้พันสำลี หรือกิ๊บหนีบผม เพราะอาจดันให้ขี้หูเข้าไปลึกกว่าเดิมและยังสามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงกับเนื้อเยื่อในหู ช่องหู หรือแก้วหูได้ ดังนั้น หากพบปัญหามีขี้หูมากหรือขี้หูอุดตัน รวมไปถึงความผิดปกติอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในช่องหู ควรไปพบแพทย์