เสียงดัง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง ?

ระดับความดังของเสียงมีผลต่อสุขภาพคนเรามากกว่าที่คิด เพราะหากเสียงดังเกินไปก็อาจเป็นอันตรายต่อระบบการได้ยิน หรืออาจกระทบต่อส่วนอื่น ๆ ภายในร่างกายได้ คนในสังคมเมืองปัจจุบันมักชอบใส่หูฟังตลอดเวลา หรือชอบทำกิจกรรมอย่างการไปฟังเพลง ดูหนัง หรือไปเดินเล่นในห้างสรรพสินค้า ซึ่งล้วนเสี่ยงเผชิญกับเสียงดังอันทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพตามมาได้

ดังนั้น ควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับระดับความดังของเสียงที่อาจเป็นอันตราย ผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งการหลีกเลี่ยงผลกระทบเหล่านั้น เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพและระบบการได้ยิน

1983 เสียงดัง rs

เสียงดังแค่ไหนถึงจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ?

กิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันนั้นมีระดับเสียงเบาดังแตกต่างกัน อย่างเสียงคุยกันปกติจะมีความดังประมาณ 60 เดซิเบล ซึ่งถือว่าไม่เป็นอันตราย แต่ระดับเสียงที่อาจเป็นอันตราย คือ เสียงที่มีความดังประมาณ 85 เดซิเบลขึ้นไป อย่างเสียงการจราจรบนท้องถนน ซึ่งหากได้ยินความดังระดับนี้เป็นเวลานานอาจมีผลกระทบต่อสุขภาพได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากได้ยินเสียงที่มีความดังระดับ 120 เดซิเบลขึ้นไป อย่างเสียงไซเรนของรถพยาบาล อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการได้ยินในทันที

เสียงดังเกินไปส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง ?

เสียงที่ดังเกินไปไม่เพียงแต่สร้างความรำคาญอย่างเดียว แต่ยังอาจส่งผลกระทบต่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย จนอาจทำให้สูญเสียการได้ยิน หรือเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงบางชนิดได้

โดยผลกระทบของเสียงดังที่อาจเกิดขึ้นกับสุขภาพของเรา มีดังนี้

ผลกระทบต่อการได้ยิน

ในหูของคนเราจะมีเส้นขนจำนวนมากทำหน้าที่รับเสียงและแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้าส่งไปยังสมอง ซึ่งเสียงที่ดังเกินไปจะทำให้เส้นขนเหล่านั้นได้รับความเสียหาย จึงทำให้มีปัญหาในการได้ยิน นอกจากนี้ การได้ยินเสียงดังติดต่อกันเป็นเวลานานยังอาจทำให้เกิดโรคประสาทหูเสื่อมจากการทำงาน หรือถึงขั้นทำให้หูหนวกได้

ผลกระทบต่อการนอน

เสียงที่ดังเกินไปจะกระตุ้นสมองให้ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา จึงรู้สึกไม่ผ่อนคลายจนอาจทำให้นอนไม่หลับและส่งผลให้ง่วงระหว่างวันได้ อีกทั้งการพักผ่อนไม่เพียงพอติดต่อกันเป็นเวลานานยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคร้ายแรงอีกหลายชนิด เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจ เป็นต้น

ส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน

เสียงที่ดังเกินไปนั้นส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมา ซึ่งฮอร์โมนประเภทนี้จะทำให้ระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสชนิดต่าง ๆ มากขึ้น จนอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยได้

ผลกระทบต่อสมาธิและอารมณ์ความรู้สึก

การที่ต้องอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงรบกวนอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้สมาธิหรืออารมณ์ความรู้สึกได้ หากต้องนั่งทำงานในห้องที่มีเสียงดังตลอดเวลา คงใช้สมาธิได้ไม่เต็มที่และไม่มีความสุขเท่าใดนัก อีกทั้งเสียงดังยังทำให้ผู้ที่มีความเครียดหรือความกังวลใจอยู่แล้วมีอาการหนักไปกว่าเดิมได้ด้วย

ผลกระทบต่อสมอง

มีการศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญพบว่า เสียงที่ดังเกินไปจะทำให้ปลายประสาทที่ส่งสัญญาณไฟฟ้าจากเซลล์รับเสียงภายในหูไปสู่สมองนั้นเกิดความเสียหาย จนอาจทำให้สมองเกิดการอักเสบ และการสูญเสียการได้ยินจากเสียงที่ดังเกินไปนั้นก็อาจนำไปสู่โรคสมองเสื่อมได้

ผลกระทบต่อทารกในครรภ์

นอกจากเสียงดังจะมีผลกระทบต่อผู้ที่ได้ยินแล้ว ยังอาจส่งผลต่อทารกที่อยู่ในครรภ์ได้อีกด้วยถึงแม้มารดาจะใส่เครื่องป้องกันเสียงแล้วก็ตาม ดังนั้น หากกำลังตั้งครรภ์อยู่ก็ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีเสียงดังด้วย

เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ

แม้จะยังไม่ได้ยืนยันแน่ชัด แต่ก็มีการวิจัยพบว่าเสียงรบกวนในระหว่างทำงานนั้นเกี่ยวข้องกับระดับความดันโลหิตและระดับคอเลสเตอรอลที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้ด้วยเช่นกัน

วิธีป้องกันการเผชิญกับเสียงดังจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ในขณะที่สังคมปัจจุบันเต็มไปด้วยมลพิษทางเสียงที่มีอยู่รอบตัว บนถนนก็มีเสียงแตรรถและเครื่องยนต์ ที่ทำงานก็อาจมีเสียงจากไมโครโฟนในห้องประชุม ตามห้างสรรพสินค้าก็ยังมีเสียงโฆษณาอีกมากมาย ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญกับเสียงที่ดังเกินไป และหาทางป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้จากเสียงดัง อาจทำได้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีเสียงดัง
  • ใส่เครื่องป้องกันเสียง อย่างที่อุดหู หรือที่ครอบหู
  • ลดระดับเสียงเพลง เสียงทีวี หรือเสียงจากเครื่องเล่นต่าง ๆ ลง
  • หยุดพักจากสถาณการณ์ที่มีเสียงดัง เช่น ออกมาจากห้องประชุมสักครู่หนึ่ง หรือพักจากการฟังสัมนา เป็นต้น
  • ปรึกษาแพทย์ให้ดีก่อนใช้ยารักษาใด ๆ เพราะยาบางชนิดอาจมีผลกระทบต่อการได้ยินได้
  • ตรวจวัดระดับการได้ยินที่โรงพยาบาลตามเหมาะสม

นอกจากนี้ หากประกอบอาชีพที่ต้องทำงานเกี่ยวกับเสียง หรือสถานที่ทำงานมีเสียงดังตลอดเวลา ควรเข้ารับการตรวจเพื่อประเมินการได้ยินเป็นระยะ รวมทั้งหากรู้สึกได้ยินเสียงไม่ชัดเจน หรือมีความผิดปกติต่าง ๆ เกิดขึ้นกับการได้ยิน ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาอย่างถูกต้อง