อาการปวดหูข้างเดียว รู้จักสาเหตุและวิธีรับมือ

อาการปวดหูข้างเดียว หรือบางคนอาจปวดทั้งสองข้างพร้อมกัน เป็นอาการที่ผู้ที่ป่วยจะรู้สึกปวดหรือแน่นอยู่ภายในหู โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการนี้มักจะพบได้มากในเด็ก แต่ผู้ใหญ่บางคนก็อาจพบได้บ้างเช่นกัน นอกจากนี้ นอกจากอาการปวดหูแล้ว ผู้ที่มีอาการนี้ยังอาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับโรคหรือภาวะผิดปกติที่เป็นสาเหตุ

อาการปวดหูข้างเดียวเป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งอาจเกิดจากการที่มีขี้หูสะสมอยู่มาก การที่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปภายในหู หรือในบางรายอาจเกิดจากการติดเชื้อโรค หรือการเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิดได้เช่นกัน

อาการปวดหูข้างเดียว

สาเหตุที่อาจเป็นไปได้ของอาการปวดหูข้างเดียว

อาการปวดหูข้างเดียวเป็นอาการที่อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยตัวอย่างสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ก็เช่น

1. การติดเชื้อที่หู

การติดเชื้อที่หู ไม่ว่าจะเป็นหูชั้นนอก หูชั้นกลาง หรือหูชั้นใน ถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีอาการปวดหูข้างเดียว หรืออาจทั้งสองข้าง โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุก็อาจเป็นได้ทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส

สาเหตุของการติดเชื้อก็อาจเป็นได้ทั้งการที่มีน้ำขังอยู่ภายในหู การใส่อุปกรณ์ใด ๆ ที่หูที่ทำให้ผิวหนังภายในหูเกิดการเสียหาย หรือการสอดนิ้วหรือก้านพันสำลีเข้าไปในหู  เมื่อติดเชื้อที่หูมักจะมีอาการปวดหู หรืออาจพบอาการอื่น ๆ รวมด้วย เช่น รู้สึกแน่นอยู่ภายในหู มีของเหลวไหลออกมาจากหู การได้ยินลดลง

2. ทอนซิลอักเสบ

ทอนซิลอักเสบเป็นภาวะที่เกิดจากการที่ต่อมทอนซิลเกิดการติดเชื้อ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย จนเกิดการบวมและอักเสบตามมา 

ผู้ที่มีภาวะทอนซิลอักเสบมักพบอาการอื่นนอกจากอาการปวดหูด้วย เช่น เจ็บคอ กลืนลำบาก มีกลิ่นปาก มีไข้ ปวดศีรษะ เสียงแหบ และมีคราบสีขาวหรือเหลืองภายในลำคอ

3. มีขี้หูสะสมอยู่มาก

โดยปกติแล้ว ร่างกายจะมีกลไกในการสร้างและกำจัดขี้หูได้เอง แต่ในบางคนที่กลไกนี้ทำงานผิดปกติไป ขี้หูที่ควรจะถูกกำจัดออกไปก็อาจเกิดการสะสมอยู่ภายในหู ทำให้ภายในหูเกิดการอุดตัน และนำไปสู่อาการปวดหูข้างเดียว หรือทั้งสองข้างได้

ทั้งนี้ ผู้ที่เห็นว่าตนเองอาจมีขี้หูสะสมอยู่มากไม่ควรพยายามกำจัดขี้หูด้วยตัวเองด้วยการใช้ที่แคะหูหรือไม่พันสำลีสอดเข้าไปในหู เพราะอาจยิ่งส่งผลให้ขี้หูเข้าไปลึกขึ้นและยิ่งอุดตันภายในหูได้ โดยอาจเลือกใช้น้ำยาสำหรับกำจัดขี้หูแทน แต่ก่อนใช้ควรจะอ่านฉลากยาหรือปรึกษาเภสัชกรก่อน เพื่อความปลอดภัย หรือหากเห็นว่าอาการรุนแรงก็ควรจะไปพบแพทย์

4. มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในหู

สิ่งแปลกปลอมในที่นี้อาจเป็นได้ทั้งสิ่งของขนาดเล็กต่าง ๆ และแมลง โดยผู้ที่มีอาการปวดหูข้างเดียวจากสาเหตุนี้ควรรับมืออย่างเหมาะสมด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการใช้ก้านพันสำลีแหย่เข้าไปในหู เนื่องจากก้านพันสำลีอาจยิ่งดันวัตถุดังกล่าวเข้าไปลึกขึ้น
  • สำหรับผู้ที่เห็นว่าวัตถุดังกล่าวเข้าไปไม่ลึกและสามารถเห็นได้ชัด ให้ลองใช้แหนบพยายามคีบออกมาเบา ๆ
  • สำหรับผู้ที่เห็นว่าสิ่งแปลกปลอมดังกล่าวเป็นแมลงขนาดเล็ก อาจจะลองใช้น้ำมันหรือแอลกอฮอล์หยดเข้าไปในหู แต่สำหรับผู้ที่มีแผลที่แก้วหูอยู่ควรหลีกเลี่ยงการหยดของเหลวเข้าไปในหูและไปพบแพทย์

ทั้งนี้ หากเห็นว่าตนเองไม่สามารถนำสิ่งแปลกปลอมในหูออกไปได้ด้วยตนเอง ผู้ที่มีอาการปวดหูก็ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ดูแล โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการปวดหูรุนแรง มีเลือดออก หรือมีของเหลวไหลออกมาจากหู

5. โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (Trigeminal Neuralgia)

โรคปวดเส้นประสาทใบหน้าเป็นโรคที่เกิดจากการที่เส้นประสาทบางคู่ได้รับความเสียหาย โดยผู้ที่ป่วยมักรู้สึกเจ็บใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งในลักษณะคล้ายถูกไฟช็อต ปวดเหงือก ปวดฟันในลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ ซ้ำไปมา

6. เกิดการเปลี่ยนแปลงทางแรงดันอากาศ

การเปลี่ยนแปลงทางแรงดันอากาศ เช่น ขณะขึ้นเครื่องบิน หรือขณะใช้ลิฟต์ อาจส่งผลให้บางคนเกิดอาการปวดหูข้างเดียว หรือทั้งสองข้างได้ นอกจากนี้บางคนยังอาจมีอาการเวียนศีรษะ ความสามารถในการได้ยินลดลง และรู้สึกหูอื้อร่วมด้วย

7. ปัญหาทางช่องปาก

ในบางครั้ง อาการปวดหูข้างเดียวก็อาจเป็นผลมาจากปัญหาทางช่องปากได้เช่นกัน เช่น ฝีในฟัน ฟันผุ หรือฟันคุด 

วิธีรับมือกับอาการปวดหูข้างเดียว

ผู้ที่กำลังมีอาการปวดหูข้างเดียวอยู่อาจลองนำวิธีดังต่อไปนี้ไปปรับใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการ

  • ประคบร้อนหรือประคบเย็น ที่หูที่กำลังมีอาการปวด
  • หยายามหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมใด ๆ ที่ทำให้ภายในหูเปียก
  • หากต้องขึ้นเครื่องบิน หรือขับรถในที่ที่สูงมาก ๆ ให้พยายามเคี้ยวหมากฝรั่งเพื่อช่วยป้องกันอาการ
  • พยายามนั่งตัวตรง เพื่อลดแรงดันภายในหูชั้นกลาง
  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยานาพรอกเซน (Naproxen) เพื่อบรรเทาอาการปวด
  • ใช้ยาหยอดหูที่ช่วยบรรเทาอาการปวด แต่ผู้ที่แก้วหูมีความเสียหายอยู่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่มนี้

ทั้งนี้ วิธีเหล่านี้เป็นเพียงวิธีดูแลตัวเองจากอาการปวดหูข้างเดียวในเบื้องต้นเท่านั้น ดังนั้น หากลองทำตามแล้วอาการไม่ดีขึ้น อาการแย่ลง หรือพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ขึ้น เจ็บคอ มีของเหลวไหลออกมาจากหู มีอาการบวมบริเวณหลังหู มีผื่นขึ้น หูไม่ได้ยินเสียง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน ผู้ที่มีอาการปวดหูข้างเดียวก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและการรักษาที่เหมาะสม