สิวที่หู สาเหตุและวิธีรับมือง่าย ๆ ด้วยตัวเอง

สิวที่หูเกิดขึ้นเมื่อมีความมัน เหงื่อ หรือเซลล์ผิวหนังที่ตายอุดตันอยู่ภายในรูขุมขน ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความรำคาญให้กับทุกคน แต่ยังสร้างความเจ็บปวดเมื่อสัมผัส สวมแว่นตา จัดแต่งทรงผม หรือแม้กระทั่งนอนในท่าตะแคง อย่างไรก็ตาม สิวที่หูมักรักษาให้หายได้โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาไปพบแพทย์ แล้วการดูแลรักษาสิวด้วยตัวเองจะมีอะไรบ้างนั้น ดูได้จากบทความนี้

สิวที่หู

สาเหตุของการเกิดสิวที่หู

สิวที่หูมีหลายชนิดด้วยกัน เช่น สิวหัวขาว สิวหัวดำ สิวหัวช้าง สิวหัวหนอง เป็นต้น และสามารถเกิดขึ้นบริเวณใบหูหรือรูหูชั้นนอกก็ได้ โดยสาเหตุของการเกิดสิวมีดังนี้

  • หมวกที่คับหรือผ้าพันศีรษะที่รัดแน่น จะเป็นตัวซับความมันและเหงื่อบริเวณศีรษะและหู ส่งผลให้เกิดสิวที่หู ใบหน้า และตามไรผม
  • การสะสมของแบคทีเรีย โดยเฉพาะหูฟังที่ไม่ได้ทำความสะอาดอาจทำให้เกิดสิวได้ รวมถึงการนำนิ้วที่อาจปนเปื้อนแบคทีเรียแหย่เข้าไปในหูด้วย 
  • ความเครียด อาจทำให้ร่างกายหลั่งเหงื่อออกมามากเกินไป หรือทำให้ฮอร์โมนที่ช่วยในการผลิตน้ำมันในร่างกายทำงานผิดปกติ
  • การแพ้อาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม หรือเครื่องสำอางค์ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิวที่หู หากมีอาการแพ้อื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้ตรงจุดต่อไป   
  • ระดับฮอร์โมนที่ไม่สมดุลกัน เมื่อฮอร์โมนเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น ตั้งครรภ์หรือใช้ยาคุมกำเนิดอาจทำให้เกิดสิวได้ 

วิธีจัดการกับสิวที่หูด้วยตนเอง

เนื่องจากหูเป็นอวัยวะที่ละเอียดอ่อนและยากจะมองเห็น สิวที่หูจึงต้องได้รับการดูแลเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การรักษาสิวบริเวณดังกล่าวคล้ายคลึงกับการรักษาที่บริเวณอื่น ๆ ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังต่อไปนี้อาจช่วยให้ผิวกลับมามีสุขภาพดีเร็วขึ้น

  • ไม่แกะเกาหรือบีบสิวที่หู
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณผิวหนังที่เกิดสิว
  • ทำความสะอาดรอบใบหูด้วยสบู่อ่อน ๆ
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผมและผิวหนังที่ทำให้เกิดการระคายเคือง
  • ใช้ยารักษาสิว โลชั่นบำรุงผิว หรือทำความสะอาดบริเวณที่เป็นสิวด้วยความระมัดระวังเพราะอาจทำให้ผิวแห้ง

แม้จะรักษาสิวด้วยตัวเองแล้ว แต่ถ้ายังมีอาการเจ็บปวดหรืออาการไม่ทุเลาลงก็ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสมกับสภาพผิวของแต่ละคนมากที่สุด โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยารักษาสิว เช่น 

  • ยาทาเฉพาะที่ที่ได้มาจากวิตามินเอซึ่งสามารถหาซื้อได้เองและสั่งจ่ายโดยแพทย์ผู้รักษา โดยมียาเตรทติโนอินที่แพทย์นิยมนำมาใช้ในการรักษาสิวบ่อย ๆ    
  • เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ เป็นยารักษาสิวที่มีความรุนแรงในระดับปานกลาง ช่วยในการต้านแบคทีเรียและทำให้ผิวหนังแห้ง แต่ผู้ใช้ไม่ควรทายานี้ในบริเวณที่มีแผล หรือภายในจมูกหรือปาก เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
  • ยาปฏิชีวนะ เป็นยาที่นำมาใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว เช่น ยาไมโนไซคลีน ยาด็อกซีไซคลิน เป็นต้น แต่ในปัจจุบันการรักษาด้วยยาชนิดนี้ลดน้อยลง เพราะอาจทำให้ร่างกายของผู้ป่วยดื้อยาได้
  • ไอโซเตรติโนอิน คือ ยาอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ ซึ่งมักนำมาใช้รักษาสิวหัวช้างที่มีอาการรุนแรง ถึงแม้ว่ายานี้จะมีประสิทธิภาพในการรักษาสูง แต่ความเสี่ยงต่อสุขภาพก็สูงเช่นกัน

เพื่อให้ผิวปราศจากสิวอย่างปลอดภัย ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาเสมอ เนื่องจากยารักษาสิวเหล่านี้อาจทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นจนเกิดผลเสียต่อร่างกาย โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะบางชนิด สารจากวิตามินเอ และยากลุ่มเอ็นเสดอาจทำให้เกิดอาการตาไวต่อแสง ยิ่งไปกว่านั้นยาปฏิชีวนะยังอาจส่งผลให้ยาคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพลดลงด้วย

เมื่อใดที่ควรไปพบแพทย์ ?

หากเป็นสิวแม้จะรักษาความสะอาดของหูอยู่เป็นประจำและไม่มีอาการระคายเคืองใด ๆ สิวบริเวณดังกล่าวไม่หายไป หรือทำให้เกิดความรำคาญเป็นอย่างมาก ควรไปพบแพทย์หรือแพทย์ผิวหนัง เพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป