แพ้อาหาร

ความหมาย แพ้อาหาร

แพ้อาหาร (Food allergy) เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่เกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับประทานอาหารบางชนิดเข้าไป โดยอาจทำให้เกิดอาการที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ ผิวหนัง หรือระบบหลอดเลือดและหัวใจ ในบางรายอาจทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) ซึ่งมีอาการที่รุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

แพ้อาหาร

อาการแพ้อาหารอาจเกิดขึ้นตั้งแต่อาการเบาไปจนถึงรุนแรงมาก และอาการอาจเกิดขึ้นได้ทันทีหรือค่อย ๆ ก่อตัวหลายชั่วโมงจึงเกิดขึ้น โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • อาการเหน็บหรือคันในปาก
  • คันตา น้ำตาไหล
  • ลมพิษ คัน หรือผิวหนังอักเสบ
  • มีอาการบวมที่ปาก ใบหน้า ลิ้นและคอ หรือส่วนอื่น ๆ ในร่างกาย
  • กลืนลำบาก
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ หายใจมีเสียง หายใจตื้น คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้อง ท้องเสีย
  • เวียนศีรษะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม
  • มีอาการที่คล้ายกับอาการของไข้ละอองฟาง เช่น จามหรือคันตา

ในบางรายเมื่อแพ้อาหารอาจกระตุ้นให้เกิดโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) ซึ่งอาจทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยอาการของโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรงมักจะมีอาการเหมือนกับอาการแพ้อาหารดังข้างต้นและอาจนำไปสู่อาการต่อไปนี้

  • หายใจลำบาก หายใจมีเสียงและไอ เนื่องจากทางเดินหายใจหดตัวตีบแคบลง
  • คอบวม หรือมีความรู้สึกว่ามีก้อนบวมอยู่ในคอ ซึ่งทำให้หายใจติดขัด
  • มีอาการช็อก สับสนหรือวิงเวียน เนื่องจากความดันโลหิตลดลงอย่างกะทันหัน
  • หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ
  • รู้สึกกลัวและมีความวิตกกังวลอย่างฉับพลันและรุนแรง

สาเหตุของการแพ้อาหาร

เกิดจากความเข้าใจผิดของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ตอบสนองต่ออาหารหรือสารอาหารบางชนิดแล้วระบุว่าเป็นสิ่งที่ก่ออันตรายต่อร่างกาย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายตอบสนองโดยการปล่อยแอนติบอดี้ที่เรียกว่า อิมมูโนโกลบูลิน อี (Immunoglobulin E: IgE) เพื่อกำจัดอาหารหรือสารอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และครั้งต่อไปที่รับประทานอาหารดังกล่าว แอนติบอดี้ชนิดนี้ก็จะสามารถรับรู้ได้และส่งสัญญาณไปยังระบบภูมิคุ้มกันเพื่อปล่อยสารฮิสตามีนและสารเคมีอื่น ๆ สู่กระแสเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการแพ้

อาหารที่พบบ่อยทำให้แพ้ ได้แก่

  • อาหารทะเลหรือสัตว์น้ำประเภทที่มีเปลือก เช่น กุ้งและปู
  • ปลา
  • ข้าวสาลี
  • ไข่
  • นมวัว
  • ถั่วลิสง ถั่วเหลือง
  • ถั่ว จากพืชยืนต้น เช่น อัลมอนต์ ฮาเซลนัท วอลนัท พีแคน มะม่วงหิมพานต์ แมคคาเดเมีย พิสตาชิโอ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการแพ้อาหาร ได้แก่

  • มีประวัติของคนในครอบครัวเป็นโรคหืด ผิวหนังอักเสบ (Eczema) ลมพิษ หรือโรคภูมิแพ้ เช่น ไข้ละอองฟาง
  • ผู้ที่มีประวัติแพ้อาหารชนิดใดชนิดหนึ่งอยู่ก่อนแล้ว มีโอกาสเพิ่มขึ้นที่จะแพ้อาหารชนิดอื่น ๆ อีก
  • การแพ้อาหารจะพบมากในเด็ก โดยเฉพาะเด็กทารกและเด็กวัยกำลังหัดเดิน แต่เมื่อมีอายุมากขึ้นระบบทางเดินอาหารจะเจริญเติบโตเต็มที่และร่างกายอาจมีการดูดซึมอาหารหรือสารอาหารที่กระตุ้นให้เกิดการแพ้อาหารน้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม การแพ้อาหารที่เกิดขึ้นกับเด็กมักมีสาเหตุมาจากนมวัว ถั่วเหลือง ข้าวสาลีและไข่ ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่าการแพ้อาหาร เช่น ถั่วหรือสัตว์น้ำประเภทมีเปลือก ซึ่งมีแน้วโน้มที่จะเป็นไปตลอดชีวิต
  • เด็กที่มีประวัติเป็นโรคผิวหนังอักเสบ มีโอกาสที่จะพัฒนาจนเกิดการแพ้อาหารได้เมื่อเวลาผ่านไป
  • มีประวัติเป็นโรคหืด ซึ่งโรคหืดและการแพ้อาหารมักเกิดร่วมกัน และมักก่อให้เกิดอาการที่มีความรุนแรงมาก

การวินิจฉัยแพ้อาหาร

เนื่องการวินิจฉัยแพ้อาหารยังไม่มีวิธีที่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์แบบ แพทย์จึงอาศัยหลาย ๆ ปัจจัยประกอบกัน ได้แก่ การสอบถามอาการของผู้ป่วย ประวัติอาการแพ้ของคนในครอบครัวของผู้ป่วย และการตรวจร่างกาย และอาจรวมไปถึงการตรวจอื่น ๆ ได้แก่

  • การทดสอบทางผิวหนัง (Skin prick test) โดยการใช้อาหารที่คาดว่าเป็นสาเหตุมาวางไว้ที่แขนหรือหลังของผู้ป่วย จากนั้นแพทย์จะใช้เข็มlสะกิดที่ผิวหนังบริเวณดังกล่าวเพื่อตรวจสอบว่ามีปฏิกิริยาของสารเคมีชนิดใดเกิดขึ้นในร่างกายหรือไม่
  • การตรววจเลือด สามารถวัดการเกิดปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ตอบสนองต่ออาหารแต่ละอย่าง โดยการวัดค่าแอนติบอดี้ที่เรียกว่า อิมมูโนโกลบูลิน อี (Immunoglobulin E: IgE)
  • แพทย์อาจให้หลีกเลี่ยงอาหารที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุ เป็นระยะเวลาประมาณ 1 หรือ 2 สัปดาห์ จากนั้นจะให้ลองกลับมารับประทานอาหารดังกล่าวอีกครั้ง ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยให้สามารถเชื่อมโยงอาการที่เกิดขึ้นกับอาหารแต่ละชนิดได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีอาการที่รุนแรงมาก การใช้วิธีนี้ก็จะทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้น การพิจารณาทดสอบนี้ควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
  • ทดสอบโดยให้รับประทานอาหารที่สงสัยว่าแพ้ (Oral food challenge test) แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่สงสัยว่าแพ้ ซึ่งหากพบว่าไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ก็อาจจะให้กลับมารับประทานอาหารดังกล่าวได้ตามปกติ แต่บางรายอาจมีอาการแพ้รุนแรงจากการทดสอบได้ ดังนั้น การพิจารณาทดสอบนี้ควรอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

การรักษาแพ้อาหาร

การรักษาการแพ้อาหารที่เหมาะสมที่สุด คือการที่ผู้ป่วยสามารถระบุได้ว่าตนเองแพ้อาหารชนิดใดแล้วพยายามหลีกเลี่ยงไม่รับประทานอาหารชนิดนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะพยายามหลีกเลี่ยงอย่างที่สุดแล้ว ผู้ป่วยก็ยังสามารถได้รับอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้โดยที่ไม่ทันรู้ตัว
โดยผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงน้อย สามารถใช้ยาแก้แพ้ที่ซื้อใช้เองหรือสั่งจ่ายโดยแพทย์เพื่อบรรเทาอาการ โดยรับประทานยาแก้แพ้ภายหลังที่รับประทานอาหารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ แต่อย่างไรก็ตาม ยาแก้แพ้จะไม่สามารถใช้รักษาอาการแพ้ที่มีความรุนแรงมากได้

ในกรณีที่เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรง ผู้ป่วยจำเป็นต้องฉีดยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) และอาจต้องเข้าพักรักษาอยู่ที่โรงพยาบาล ในบางรายมักให้ยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) ในรูปแบบปากกาฉีดอัตโนมัติหรือพร้อมฉีดได้เอง (Autoinjector) ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องใช้ ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้

  • ผู้ป่วยควรทราบวิธีใช้อย่างชัดเจน รวมไปถึงแจ้งให้บุคคลที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยทราบวิธีการใช้ เพราะหากเกิดอาการที่รุนแรงขึ้นก็จะทำให้สามารถช่วยได้อย่างทันท่วงที
  • ควรพกติดตัวไว้ตลอดเวลา เพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ฉุกเฉิน
  • ตรวจสอบวันหมดอายุของยาอย่างสม่ำเสมอ

ภาวะแทรกซ้อนแพ้อาหาร

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากการแพ้อาหาร ได้แก่

  • โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) ในกรณีร้ายแรงที่สุดอาจทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการ เช่น หายใจลำบาก เวียนศีรษะ หรือคล้ายจะเป็นลมหมดสติ ควรให้ผู้ป่วยรีบพบแพทย์โดยเร็ว
  • ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) เนื่องจากการแพ้อาหารอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางผิวหนัง ซึ่งเป็นการตอบสนอบของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ทำให้เกิดผื่นขึ้นตามผิวหนัง หรือผื่นผิวหนังอักเสบ

การป้องกันแพ้อาหาร

การป้องกันแพ้อาหารที่เหมาะสม ผู้ป่วยควรทราบถึงอาหารที่ตนเองแพ้และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านั้น นอกจากนั้น หากพบว่าตนเองแพ้อาหารควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

  • ควรตรวจสอบอาหารหรือเครื่องดื่มก่อนที่จะบริโภค เช่น อ่านฉลากอย่างละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีส่วนผสมของอาหารที่ตนเองแพ้
  • หากตนเองมีประวัติเกิดอาการแพ้ที่รุนแรง ควรมีสิ่งเตือนให้ผู้อื่นทราบว่าตนเองแพ้อาหาร เช่น สร้อยคอหรือสร้อยข้อมือ ที่แจ้งรายละเอียดอาการและวิธีช่วยเหลือเบื้องต้น เพราะเมื่อเกิดอาการแพ้อาจทำให้ไม่สามารถสื่อสารได้
  • ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงเกิดอาการแพ้ที่มีความรุนแรงมาก ควรสอบถามแพทย์ถึงยาอิพิเนฟริน (Epinephrine) รูปแบบที่พร้อมฉีดได้เอง (Autoinjector) เพื่อพกติดตัวไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน
  • ระมัดระวังตนเองเมื่อรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร แจ้งให้ทางร้านทราบว่าตนเองไม่สามารถรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ และตรวจสอบให้แน่ใจอีกครั้งว่าอาหารที่สั่งมาแล้วไม่ผสมอาหารที่แพ้ หรือตรวจว่าพาชนะที่ใช้ประกอบอาหารไม่ได้ปรุงอาหารที่ตนเองแพ้มาก่อน
  • หากต้องเดินทางท่องเที่ยวหรือไปร่วมงานสำคัญ ควรพกอาหารที่ปลอดภัยต่อตนเองติดตัวไว้

หากพบว่าเด็กแพ้อาหาร สามารถปฏิบัติตามวิธีต่อไปนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

  • ควรแจ้งให้คนรอบข้างของเด็กทราบว่าเด็กมีปัญหาแพ้อาหาร และให้เด็กมีความเข้าใจถึงอาการที่เป็นว่ามีความอันตรายอาจถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งควรได้รับการแก้ไขในทันทีที่เกิดอาการ
  • ควรสอนให้ผู้ที่ใกล้ชิดกับเด็กทราบและเข้าใจเกี่ยวกับสัญญาณและอาการแพ้อาหาร เพื่อที่จะได้รับมือกับอาการที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที
  • เขียนแผนการหรือวิธีปฏิบัติเพื่อรับมือ แจกแผนการดังกล่าวกับพยาบาลที่โรงเรียนและคนอื่น ๆ ที่ใกล้ชิด
  • ให้เด็กพกสิ่งแจ้งเตือนที่มีรายละเอียดของอาการและวิธีการรับมือกับอาการเบื้องต้น เช่น ที่ผูกข้อมือหรือที่ห้อยคอ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีที่เกิดอาการ