สิวขึ้นหน้าอก รู้จักสาเหตุและ 10 วิธีรับมือ

สิวขึ้นหน้าอก เป็นปัญหาที่เกิดจากการที่รูขุมขนเกิดการอุดตันไปด้วยไขมันส่วนเกินและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว โดยสิวขึ้นหน้าอกสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย แต่สามารถจัดการได้หากรู้วิธีที่ถูกต้อง

แม้ปัญหาสิวจะพบได้มากในเด็กวัยรุ่น แต่จริง ๆ แล้วปัญหาสิวสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย นอกจากบริเวณใบหน้าแล้ว ผิวส่วนอื่นของร่างกายไม่ว่าจะเป็นบริเวณหน้าอก หลัง หรือบริเวณใด ๆ ก็ตามที่มีต่อมไขมันในผิวและมักเกิดเหงื่อบ่อย ๆ ก็สามารถพบการเกิดสิวได้เช่นกัน

สิวขึ้นหน้าอก รู้จักสาเหตุและวิธีรับมือ

สาเหตุที่ทำให้เกิดสิวขึ้นหน้าอก

ปัญหาสิวขึ้นหน้าอกจะเกิดขึ้นเมื่อรูขุมขนเกิดการอุดตันจากไขมันส่วนเกินและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว โดยปัจจัยที่มักกระตุ้นให้เกิดกลไกดังกล่าวก็เช่น

  • การไม่อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายบ่อย ๆ หรือการอาบน้ำที่ไม่สะอาดเพียงพอ
  • มีเหงื่อออกมาก
  • การถูกเสียดสีจากเสื้อผ้าบ่อย ๆ
  • การใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีสารป้องกันการระเหยของน้ำจากผิว
  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งจะส่งผลให้ต่อมไขมันผลิตไขมันออกมามากขึ้น เช่น เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น หรือขณะตั้งครรภ์
  • ความเครียด เนื่องจากความเครียดอาจส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgens) ออกมามากขึ้น ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้เป็นฮอร์โมนที่อาจกระตุ้นให้เกิดสิวได้ง่าย
  • อาหารบางชนิด บางคนอาจพบว่ามีสิวขึ้นหลังจากรับประทานอาหารบางชนิด เช่น นมพร่องขาดมันเนย ช็อกโกแลต และอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) หรือยาลิเทียม (Lithium)

10 วิธีการรับมือสิวขึ้นหน้าอก

ผู้ที่มีปัญหาสิวขึ้นบริเวณหน้าอกอาจลองนำวิธีดังต่อไปนี้ไปปรับใช้เพื่อบรรเทาอาการสิว

1. ใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิว

ในปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่ช่วยแก้ปัญหาสิวได้ ซึ่งผู้ที่มีปัญหาสิวที่หน้าอกสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวสำหรับใบหน้าร่วมกันได้เช่นกัน โดยส่วนผสมหลัก ๆ ที่ควรมองหาก็เช่น ซาลิไซลิก แอซิด (Salicylic Acid) เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) และ Tea Tree Oil

อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัย ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวควรใช้ตามฉลากผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด และที่สำคัญ ควรทดสอบการแพ้ก่อน ด้วยการทาผลิตภัณฑ์ในปริมาณเล็กน้อยที่แขนและดูอาการภายใน 24 ชั่วโมงว่ามีอาการผิดปกติใด ๆ หรือไม่

2. อาบน้ำบ่อย ๆ

การอาบน้ำทุกเช้าและเย็นจะช่วยกำจัดสิ่งสกปรก แบคทีเรีย เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว และไขมันที่อาจก่อให้เกิดการอุดตันในรูขุมขนได้ แต่สบู่ที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของสบู่ก้อนหรือครีมอาบน้ำ ควรเป็นสูตรอ่อนโยน ไม่มีส่วนผสมที่รุนแรง และควรหลีกเลี่ยงการขัดถูผิวแรง ๆ ขณะอาบน้ำ

3. ใช้ผลิตภัณฑ์ทาผิวสูตรที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตัน

สำหรับผู้ที่ทาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดการอุดตันหรือสูตร Non–comedogenic รวมถึงควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอมหรือสารใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง

4. ผลัดเซลล์ผิว

การใช้ผลิตภัณฑ์ผลัดเซลล์ผิวอาทิตย์ละ 1 ครั้ง อาจช่วยให้เซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วหลุดออกไปจากผิวหนัง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการอุดตันของรูขุมขนได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย ควรใช้ผลิตภัณฑ์ตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร หรือฉลากยาเสมอ และไม่ควรผลัดเซลล์ผิวบ่อยเกินไป เพื่อลดโอกาสในการเกิดอาการระคายเคืองผิว

5. ใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าที่ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อผ้าบางชนิดอาจมีส่วนผสมที่ก่อให้ผิวเกิดการระคายเคืองได้ ดังนั้น ผู้ที่กำลังปัญหาสิวขึ้นหน้าอกอยู่ อาจจะลองใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเสื้อที่สูตรที่ไม่มีสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว หรือที่มักเขียนตามฉลากผลิตภัณฑ์ว่า Hypoallergenic

6. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศร้อน

เนื่องจากสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงมาก ๆ อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลให้บางคนเกิดปัญหาสิวตามมาได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนเกินไป

7. หลีกเลี่ยงการแกะหรือบีบสิวด้วยตัวเอง

การบีบสิวด้วยตัวเองอาจส่งผลให้ปัญหาสิวที่มีอยู่แล้วยิ่งแย่ลง หรือในบางกรณีอาจทำให้เกิดการอักเสบ และเป็นรอยแผลตามมาได้อีกด้วย

8. ดื่มน้ำบ่อย ๆ

การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายสามารถช่วยให้ร่างกายขับของเสียต่าง ๆ ออกไปจากร่างกายได้ดีขึ้น โดยปริมาณที่เหมาะสมจะอยู่ที่ประมาณ 6–8 แก้วต่อวัน หรืออาจจะมากกว่านั้น หากต้องเสียเหงื่อในระหว่างวันมาก ๆ

9. ควบคุมความเครียด

ความเครียดถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดปัญหาสิวตามมาได้ จึงควรจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสม เช่น หาสาเหตุของความเครียดเพื่อแก้ปัญหาจากต้นเหตุ ทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย อย่างการเล่นกีฬา ฟังเพลง พูดคุยกับคนรอบข้าง หรือปรึกษาแพทย์หากไม่สามารถรับมือกับความเครียดได้ด้วยตนเอง รวมทั้งควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และพักผ่อนให้เพียงพอ

10. ไปพบแพทย์

สำหรับผู้ที่ลองทำตามวิธีในข้างต้นแล้วปัญหาสิวยังไม่ดีขึ้น หรือแย่ลง ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยและแนะนำแนวทางการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งในการรักษา แพทย์จะพิจารณาความรุนแรงของอาการและแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน โดยตัวอย่างยาที่แพทย์มักใช้ เช่น

  • ยาทาในกลุ่มปฏิชีวนะ เช่น ยาคลินดามัยซิน (Clindamycin) หรือยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เพื่อต้านเชื้อแบคทีเรียที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดสิว
  • ยาทาที่มีส่วนผสมของกรดซาลิไซลิก เพื่อช่วยกำจัดสิวอุดตัน
  • ยาทาที่มีส่วนผสมของเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ เพื่อฆ่าเชื้อสิว
  • ยาทาที่มีส่วนผสมของวิตามินเอ เช่น ยาเตรทติโนอิน (Tretinoin) ยาไอโซเทรทิโนอิน (Isotretinoin) หรือยาอะดาพาลีน (Adapalene) เพื่อช่วยกำจัดสิวอุดตัน
  • ยาที่มีส่วนผสมของกรดอะเซเลอิค เพื่อช่วยฆ่าเชื้อสิว
  • ยารับประทาน เช่น ยาด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) หรือยาในกลุ่มเตตราไซคลีน (Tetracyclines) 

ทั้งนี้ กระบวนการรักษาปัญหาสิวขึ้นหน้าอกเป็นกระบวนการที่ใช้เวลานาน ดังนั้น ผู้ที่มีปัญหานี้อยู่ควรทำตามวิธีในข้างต้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลลัพธ์ที่ชัดเจน