สิวขึ้นกรอบหน้า สาเหตุและวิธีดูแลรักษา

สิวขึ้นกรอบหน้าเป็นบริเวณที่เกิดสิวขึ้นได้บ่อย โดยมักเป็นตุ่มแดงแข็ง ไม่มีหัวหนอง และมักเกิดการอักเสบที่ผิวชั้นลึก สิวขึ้นกรอบหน้ามักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น การมีประจำเดือน การตั้งครรภ์ และความเครียด

สิวกิดจากการอุดตันของต่อมไขมัน ซึ่งเกิดจากสะสมของเซลล์ผิวที่ตายแล้ว น้ำมันส่วนเกินบนใบหน้า และสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่ตกค้างอยู่ เมื่อมีแบคทีเรียเข้าไปในรูขุมขนจะทำให้เกิดการอักเสบของสิวขึ้น การรักษาสิวขึ้นกรอบหน้ากับแพทย์ผิวหนังอย่างเหมาะสมควบคู่กับการดูแลความสะอาดของผิว จะช่วยให้สิวหายเร็วขึ้น ไม่ทิ้งรอยสิว และลดการเกิดสิวซ้ำ

สิวขึ้นกรอบหน้า สาเหตุและวิธีดูแลรักษา

สาเหตุที่ทำให้สิวขึ้นกรอบหน้า

สิวขึ้นกรอบหน้าและคางมักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนซึ่งกระตุ้นการผลิตน้ำมันของต่อมไขมันมากขึ้น ทำให้รูขุมขนอุดตันง่าย โดยพบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เนื่องจากเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศ นอกจากนี้ สิวขึ้นกรอบหน้าในผู้หญิงอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น

  • การมีประจำเดือน โดยเฉพาะช่วงก่อนมีประจำเดือนประมาณ 7–10 วัน
  • การเริ่มใช้หรือเปลี่ยนยาคุมกำเนิดที่ใช้อยู่
  • การตั้งครรภ์ โดยเฉพาะการตั้งครรภ์ในช่วงไตรมาสแรกที่ทำให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดการผลิตน้ำมันบนใบหน้าเพิ่มขึ้น
  • ความเครียด ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) และฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมามากขึ้นเมื่อเกิดความเครียด ซึ่งกระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น 
  • กลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (PCOS) เป็นภาวะที่ผู้หญิงมีระดับฮอร์โมนเพศชายสูงผิดปกติ และเกิดถุงน้ำขนาดเล็กจำนวนหลายใบอยู่ในรังไข่ ทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ

นอกจากปัจจัยด้านฮอร์โมน สิวขึ้นกรอบหน้าอาจเกิดจากการใช้มือที่ไม่สะอาดสัมผัสบริเวณกรอบหน้าบ่อย ๆ การใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าหรือเครื่องสำอางใหม่ การสวมหมวกกันน็อกที่สายรัดคางรัดแน่นจนเกินไป หรืออาจเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาต้านเศร้า และวิตามินบี

อย่างไรก็ดี ตุ่มแดงคล้ายสิวที่ขึ้นบริเวณกรอบหน้าอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกโรคต่าง ๆ เช่น

  • โรคผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis) เป็นผื่นแดงและคันที่เกิดจากการสัมผัสสารที่ทำให้ระคายเคืองบริเวณใบหน้า เช่น โฟมล้างหน้า เครื่องสำอาง และยาย้อมผม
  • โรคผิวหนังอักเสบโรซาเชีย (Rosacea) ทำให้เกิดตุ่มหนองหรือตุ่มสีแดงคล้ายสิวบนใบหน้า โดยอาจเกิดจากความผิดปกติของจากกรรมพันธุ์และปัจจัยแวดล้อม
  • รูขุมขนอักเสบ (Folliculitis) เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา ทำให้เกิดเป็นตุ่มแดงเล็ก ๆ หรือสิว
  • เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) อาจทำให้เกิดผื่นแดง เนื่องจากการติดเชื้อจากผิวหนังที่เกิดรอยแยกหรือรอยแตก
  • ฝี ทำให้เกิดก้อนนูนแดง ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อภายในรูขุมขน

แนวทางการรักษาสิวขึ้นกรอบหน้า

สิวขึ้นกรอบหน้าที่เกิดจากฮอร์โมนมักเกิดในลักษณะเป็น ๆ หาย ๆ เมื่อฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงก็มักจะเห่อขึ้นมาใหม่ ผู้ที่เป็นสิวควรดูแลความสะอาดของใบหน้า และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้เกิดสิว ดังนี้

  • ไม่ควรแกะ บีบ หรือกดสิวเอง เพราะสิวขึ้นกรอบหน้ามักเป็นสิวอักเสบที่มีขนาดใหญ่ การบีบสิวจะทำให้สิวอักเสบรุนแรงขึ้น และทำให้เกิดรอยดำจากสิวที่หายได้ยาก
  • ล้างหน้าให้สะอาดวันละ 2 ครั้ง คือเช้าและก่อนนอน โดยล้างเครื่องสำอางออกก่อน ตามด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่อ่อนโยนต่อผิว ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ น้ำหอม และสารผลัดเซลล์ผิว
  • หลีกเลี่ยงการสวมหมวกกันน็อกที่มีสายรัดใต้คางแน่นเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการเสียดสีที่ใต้คาง และทำให้เกิดการหมักหมมของเหงื่อ ซึ่งอาจทำให้เกิดสิวได้ และควรล้างหน้าให้สะอาดหลังถอดหมวกกันน็อก 
  • ปรับการรับประทานอาหาร โดยลดปริมาณการรับประทานน้ำตาล ขนมปังขาว อาหารแปรรูป และผลิตภัณฑ์นม เนื่องจากอาหารเหล่านี้อาจกระตุ้นให้เกิดสิว
  • ใช้ยาแต้มสิวที่หาซื้อได้เอง ซึ่งอาจมีส่วนผสมของเบนโซอิล เพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) และกรดอะซีลาอิก (Azelaic Acid) หรือสารธรรมชาติ เช่น ทีทรีออยล์ (Tea Tree Oil) และสารสกัดชาเขียว

หากสิวที่ขึ้นกรอบหน้ายังไม่ดีขึ้นภายใน 2–3 สัปดาห์หลังจากดูแลผิวด้วยตัวเอง หรืออาการของสิวรุนแรงขึ้น ควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อรับการรักษา ซึ่งแพทย์อาจสั่งจ่ายยาอื่น ๆ ที่ช่วยรักษาสิวเพิ่มเติม เช่น

  • ยาคุมกำเนิด นิยมใช้รักษาสิวที่เกิดจากฮอร์โมนในผู้หญิง เช่น ประจำเดือน และกลุ่มอาการถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ การกินยาคุมกำเนิดที่มีทั้งเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน จะช่วยลดปริมาณฮอร์โมนแอนโดรเจน ซึ่งจะลดการผลิตน้ำมันบนใบหน้าและรักษาสิวได้
  • เรตินอยด์ (Retinoids) ชนิดรับประทานและชนิดทาบริเวณที่เป็นสิว เป็นกลุ่มของกรดวิตามินเอที่ช่วยผลัดเซลล์ผิว และลดการอุดตันของรูขุมขน จึงช่วยลดสิวได้ แต่ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนการตั้งครรภ์ ไม่ควรใช้เรตินอยด์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้
  • ยาปฏิชีวนะ ซึ่งช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดสิว โดยอาจอยู่ในรูปโลชั่น เจล ครีม หรือชนิดรับประทาน 
  • สไปโรโนแลคโตน (Spironolactone) เป็นยาขับปัสสาวะที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูงและหัวใจล้มเหลว ซึ่งอาจช่วยรักษาสิวฮอร์โมนบริเวณกรอบหน้าได้ โดยใช้รักษาสิวในผู้หญิง เนื่องจากการใช้ยานี้ในผู้ชายอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้

การใช้ยาเหล่านี้ควรใช้ตามปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์สั่ง เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย นอกจากนี้ แพทย์อาจรักษาสิวด้วยวิธีอื่นควบคู่การใช้ยา เช่น การเจาะเอาหนองจากสิวออก การเลเซอร์ การผลัดเซลล์ผิวด้วยสารเคมี (Chemical Peels)

โดยทั่วไป สิวขึ้นกรอบหน้าที่ไม่รุนแรงมักดีขึ้นภายในเวลาไม่นาน ส่วนสิวที่มีขนาดใหญ่ รุนแรง และเรื้อรัง จะค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากรับการรักษากับแพทย์ผิวหนังภายใน 2–3 สัปดาห์ ซึ่งแพทย์อาจให้ใช้ยาหรือเข้ารับการรักษาต่อไปแม้ว่าสิวจะหายดีแล้วก็ตาม เพื่อช่วยป้องกันการเกิดสิวซ้ำ และป้องกันการเกิดแผลเป็นจากสิว