เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis)

ความหมาย เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis)

Cellulitis (เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ) คือ ภาวะติดเชื้อบริเวณผิวหนังหรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง ส่งผลให้มีอาการบวมแดง ปวด หรือร้อนบริเวณที่มีการติดเชื้อ บางรายอาจมีไข้หรืออาการอื่น ๆ ร่วมด้วย แต่ในกรณีที่รุนแรง การติดเชื้ออาจแพร่กระจายสู่กระแสเลือดและเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนบนร่างกาย แต่มักเกิดบริเวณขา โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่อาจเข้าสู่ร่างกายผ่านทางรอยแผล รอยแตก หรือผิวหนังที่บอบบาง

1810 Cellulitis rs

อาการของ Cellulitis

อาการของ Cellulitis คือ บริเวณที่ติดเชื้อจะมีอาการบวม แดง และมีแนวโน้มขยายเป็นบริเวณกว้าง รวมทั้งอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังนี้

  • มีไข้
  • มีอาการปวดภายใน 1-2 วันแรกที่เริ่มเกิดอาการ และเจ็บเมื่อถูกกดหรือสัมผัสโดนบริเวณนั้น
  • รู้สึกอุ่นหรือร้อนบริเวณที่เกิดการติดเชื้อ
  • เกิดแผล หรือมีผื่นขึ้นบริเวณที่เกิดอาการ และอาจขยายตัวลุกลามไปอย่างรวดเร็ว
  • เกิดรอยบุ๋มบริเวณผิวหนัง
  • ปวดกล้ามเนื้อ

ทั้งนี้ หากมีอาการต่อไปนี้ร่วมกับอาการข้างต้น ควรรีบไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพราะเชื้ออาจแพร่กระจายสู่ส่วนอื่น หรืออาจเข้าสู่กระแสเลือดจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

  • มีไข้สูง หนาวสั่น ตัวซีด
  • ผิวมีสีม่วงขึ้นเป็นหย่อม ๆ
  • หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว
  • ร่างกายไม่ตอบสนอง หรืออาจหมดสติ

สาเหตุของ Cellulitis

Cellulitis เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ชนิดที่พบได้บ่อย คือ สเตรปโทคอกคัส (Streptococcus) และสแตฟิโลค็อกคัส (Staphylococcus) เชื้อเหล่านี้สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางผิวหนังที่เกิดรอยแยกหรือรอยแตก เช่น ผิวหนังแห้งแตกจากสภาพอากาศหรือมีผิวบอบบาง มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในแผล มีรอยแผลจากการผ่าตัด ถูกแมลงหรือสัตว์กัด เป็นต้น ซึ่งบางครั้งรอยแตกนั้นอาจเล็กเกินกว่าจะสังเกตเห็นหรือรู้สึกได้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ทันได้ระวังตัวจนเป็นเหตุให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น โดย Cellulitis ไม่ใช่โรคติดต่อ เพราะเป็นการติดเชื้อที่ผิวหนังชั้นใน จึงไม่สามารถรับเชื้อมาจากผู้อื่นได้  

ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิด Cellulitis ได้ มีดังนี้

  • เกิดแผลบริเวณผิวหนัง ทำให้แบคทีเรียเข้าสู่ร่างกายได้ เช่น มีรอยตัด รอยแตก แผลไฟไหม้ เป็นต้น
  • เป็นโรคผิวหนัง เช่น ผิวหนังอักเสบ น้ำกัดเท้า เป็นต้น
  • มีน้ำหนักมากเกินมาตรฐาน
  • มีประวัติเคยเป็น Cellulitis มาก่อน
  • ได้รับยาผ่านการฉีดเข้าเส้นเลือดดำโดยตรง
  • เป็นโรคตับ เช่น ตับแข็ง ตับอักเสบ เป็นต้น
  • มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนโลหิต เช่น เลือดไปเลี้ยงแขนและขาไม่เพียงพอ เส้นเลือดขอด ระบบน้ำเหลืองไหลเวียนไม่ดี เป็นต้น
  • เป็นโรคหรือภาวะที่ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น โรคเบาหวาน การใช้ยาบางชนิดที่อาจทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เป็นต้น

การวินิจฉัย Cellulitis

สำหรับการวินิจฉัย Cellulitis นั้น แพทย์สามารถทำได้โดยซักประวัติ ตรวจร่างกายทั่วไป และตรวจดูบริเวณที่มีอาการ โดยบางกรณีอาจมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยการเอกซเรย์หาสิ่งแปลกปลอมบริเวณที่เกิดอาการ การตรวจเลือดดูการติดเชื้อ และการเจาะนำตัวอย่างของเหลวในบริเวณที่เกิดอาการไปตรวจในห้องปฏิบัติการ

การรักษา Cellulitis

การรักษา Cellulitis ในเบื้องต้น แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะชนิดรับประทานตามความรุนแรงของอาการ แรกเริ่มอาจให้รับประทานยาประมาณ 7-14 วัน แต่ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจต้องรับประทานยานานกว่านั้น โดยแพทย์จะคอยดูแลอาการควบคู่ไปด้วย ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นหลังจากได้รับยาภายใน 2-3 วัน แต่หากอาการไม่ดีขึ้น มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ หรือมีไข้สูงร่วมด้วย ผู้ป่วยอาจต้องรับยาปฏิชีวนะชนิดฉีดเข้าเส้นเลือดโดยตรงพร้อมทั้งเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ดูแลอาการอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการด้วยตนเองที่บ้านควบคู่ไปกับการรักษาจากแพทย์ เพื่อช่วยให้อาการหายเร็วขึ้น โดยอาจปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำ
  • หยุดใช้งานอวัยวะหรือบริเวณที่มีการติดเชื้อ
  • ควรยกบริเวณที่มีอาการให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจขณะนอนหรือนั่ง เพื่อลดอาการบวม โดยอาจใช้หมอนรองไว้บริเวณที่มีอาการ
  • รับประทานยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟน เพื่อบรรเทาอาการปวด
  • หมั่นขยับข้อต่อที่อยู่ใกล้กับบริเวณที่เกิดอาการ เพื่อป้องกันอาการข้อฝืด เช่น ข้อเท้า ข้อมือ หัวเข่า เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการรุนแรงมาก ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดนำเนื้อเยื่อที่ตายออกไปและดูดหนองออกจากแผล เพื่อให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเองได้ดีขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของ Cellulitis

หากเกิดภาวะ Cellulitis แล้วไม่ได้รับการรักษาทันเวลา เชื้อดังกล่าวอาจแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย อาจเกิดการติดเชื้อลามเข้าไปยังเนื้อเยื่อชั้นใน จนทำให้เกิดภาวะแบคทีเรียกินเนื้อ ซึ่งถือเป็นภาวะร้ายแรงที่แม้พบได้น้อยมาก แต่หากกลับมาเป็นซ้ำอีกก็สามารถส่งผลกระทบกับระบบระบายน้ำเหลือง และทำให้แขนขาบวมแบบเรื้อรังได้ นอกจากนี้ Cellulitis อาจทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงและถึงขั้นเสียชีวิตจากการติดเชื้อได้ เช่น เนื้อเยื่อตาย ติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อในกระดูก เป็นต้น

การป้องกัน Cellulitis

โดยทั่วไปอาจลดความเสี่ยงของภาวะ Cellulitis ได้โดยการดูแลสุขอนามัยของร่างกายและผิวหนัง เช่น

  • ไม่แกะหรือเกาผิวหนัง เพราะบางครั้งการเกาสามารถทำให้เกิดแผลได้ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคผิวหนังมักจะมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อมากขึ้น
  • หากมีผิวแห้งควรใช้ครีมทาบำรุงผิว เพื่อให้ผิวมีความชุ่มชื้นและไม่เสี่ยงต่อการแห้งแตกจนทำให้เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้
  • สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันการบาดเจ็บและการเกิดแผลทุกครั้งที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทำงานที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์แหลมคม เล่นกีฬาที่มีการปะทะ เป็นต้น
  • ผู้ที่มีบาดแผลควรทำความสะอาดแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดทุกวัน โดยใช้ผ้าพันแผลหรือพลาสเตอร์สะอาดปิดแผลไว้ เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ง่าย ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดบาดแผลตามผิวหนัง