ยาคุม รักษาสิวได้จริงหรือ

หลายคนเชื่อว่ายาคุมอาจเป็นตัวเลือกหนึ่งในการรักษาสิว โดยเฉพาะผู้ที่เป็นสิวจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน แต่ยาคุมสามารถรักษาสิวได้จริงหรือไม่ วิธีนี้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน

ผู้ใช้ควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อน เพื่อให้มั่นใจว่ายาคุมจะเกิดประโยชน์ในการรักษาสิว และป้องกันการเกิดผลข้างเคียงต่อสุขภาพหลังใช้ยา

ยาคุม

ยาคุมรักษาสิวได้จริงหรือไม่ ?

ยาคุมที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสตินช่วยรักษาสิวได้ เนื่องจากตัวยาจะไปลดระดับฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจนลง ทำให้การผลิตไขมันซีบัม (Sebum) จากต่อมไขมันใต้ผิวหนังลดลง ซึ่งช่วยลดการเกิดสิว

ยาคุมรักษาสิวได้อย่างไร ?

การเปลี่ยนแปลงของระดับของฮอร์โมนเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิว โดยฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนในกลุ่มฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจนจะกระตุ้นต่อมไขมันใต้ผิวหนังให้ผลิตไขมันซีบัมออกมา

แม้ตามปกติแล้วรังไข่ของผู้หญิงและต่อมหมวกไตจะผลิตฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจนในระดับต่ำ แต่หากระดับฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจนเพิ่มสูงขึ้น ก็อาจทำให้ต่อมไขมันผลิตซีบัมเพิ่มมากขึ้น จนส่งผลให้ไขมันอุดตันตามรูขุมขนจนเกิดสิวได้

โดยการรับประทานยาคุมที่ประกอบด้วยเอสโตรเจน และโปรเจสตินซึ่งเป็นสารสังเคราะห์จากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน จะช่วยลดระดับแอนโดรเจนในร่างกายลง ซึ่งช่วยลดการเกิดสิวอุดตันได้

ยาคุมชนิดใดเหมาะกับการรักษาสิว ?

การรับประทานยาคุมเพื่อรักษาสิว ต้องรับประทานยาคุมชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งมีส่วนผสมของทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเท่านั้น เนื่องจากยาคุมชนิดฮอร์โมนเดี่ยวที่มีแค่ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนไม่สามารถช่วยรักษาสิวได้

โดยแพทย์หรือเภสัชกรอาจแนะนำผู้ที่เป็นสิวให้รับประทานยาคุมในกรณีที่ผู้นั้นมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงและต้องการป้องกันการตั้งครรภ์ร่วมด้วย หรืออาจแนะนำให้ใช้ยาคุมหลังจากรักษาสิวด้วยวิธีการอื่นแล้วไม่ได้ผล เช่น การทาครีมแต้มสิว การทาหรือรับประทานยาปฏิชีวนะ เป็นต้น

ด้านองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาได้รับรองยาคุม 3 ประเภทว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาสิว โดยมีสรรพคุณช่วยเพิ่มระดับโปรตีนที่จับตัวกับฮอร์โมนเพศ และช่วยลดระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่กระตุ้นให้ต่อมไขมันผลิตซีบัม ดังนี้

  • นอร์อิทินโดรนและเอทินิลเอสตราไดออล มีส่วนประกอบของเอสโตรเจนและโปรเจสติน มักใช้รักษาสิวในผู้หญิงอายุ 15 ปีขึ้นไปที่เข้าสู่วัยมีประจำเดือนแล้ว ซึ่งต้องการรับประทานยาคุมเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ และต้องการรักษาสิวหลังจากทายาแต้มสิวไม่ได้ผล โดยรับประทานยาติดต่อกันนานอย่างน้อย 6 เดือน โดยตัวยาจะมีปริมาณเอสโตรเจนแตกต่างกันออกไป
  • นอร์เจสทิเมทและเอทินิลเอสตราไดออล ยาคุุมชนิดนี้มีส่วนประกอบของเอสโตรเจนและโปรเจสติน จากงานวิจัยพบว่ายาคุมชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการรักษาสิว โดยตัวยาจะมีปริมาณโปรเจสตินแตกต่างกันออกไป
  • ดรอสไพริโนนและเอทินิลเอสตราไดออล เป็นยาคุมที่มีส่วนผสมของเอสโตรเจนและโปรเจสติน ยาคุมชนิดนี้ใช้รักษาสิวระดับปานกลางในหญิงอายุ 14 ปีขึ้นไปที่เข้าสู่วัยมีประจำเดือนแล้วและต้องการรับประทานยาคุมเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์เท่านั้นอย่างไรก็ตาม องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาประกาศว่ายาคุมที่มีส่วนประกอบของดรอสไพริโนน อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันได้ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

ผู้ที่ไม่ควรใช้ยาคุมรักษาสิว

ผู้ที่อยู่ในภาวะต่อไปนี้ ไม่ควรรับประทานยาคุมเพื่อรักษาสิว

  • ยังไม่ถึงวัยเจริญพันธ์ุ หรือยังไม่มีประจำเดือน
  • ต้องการตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร
  • เป็นผู้สูบบุหรี่ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป  
  • อ้วนมากหรือขยับร่างกายลำบาก
  • มีปัญหาการแข็งตัวของหลอดเลือดผิดปกติ
  • มีประวัติภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ขาหรือปอด
  • มีประวัติป่วยเป็นโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูง
  • มีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม  
  • เป็นผู้ป่วยไมเกรน โรคเบาหวาน โรคตับ ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือด หรือโรคหัวใจ

ประโยชน์ของการรับประทานยาคุมรักษาสิว

จากการทดลองการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมเพื่อรักษาสิวพบว่า ผู้ป่วยมีจำนวนสิวลดลง โดยยาคุมจะช่วยลดการเกิดสิวใหม่ รวมทั้งลดระดับความรุนแรงและการอักเสบของสิวด้วย แต่การรับประทานยาคุมเพื่อรักษาสิว อาจต้องใช้ระยะเวลาหลายสัปดาห์จึงจะเห็นผล เนื่องจากร่างกายต้องใช้เวลาเพื่อปรับความสมดุลของฮอร์โมนเพศ

รับประทานยาคุมเพื่อรักษาสิวอย่างไรให้ได้ผลดีที่สุด ?

เคล็ดลับในการรับประทานยาคุมเหล่านี้ อาจช่วยให้รักษาสิวได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ เนื่องจากการรับประทานยาคุมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น รู้สึกเจ็บและคัดเต้านม ปวดศีรษะ มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด และสิวขึ้นในช่วงแรกของการใช้ยา
  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงยาชนิดอื่นที่กำลังใช้อยู่ เพระส่วนประกอบในยาชนิดอื่น ๆ เช่น ยาเตตราไซคลีน หรือยาปฏิชีวนะบางชนิด อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมลดลง และอาจนำไปสู่การตัั้งครรภ์โดยไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้น ผู้ที่ใช้ยาบางชนิดอาจต้องใช้การคุมกำเนิดรูปแบบอื่นร่วมด้วย
  • แจ้งให้แพทย์ทราบถึงประวัติการเจ็บป่วยต่าง ๆ เพราะผู้ที่มีประวัติการป่วยหรือกำลังมีปัญหาสุขภาพบางชนิดก็ไม่ควรใช้ยาคุม โดยแพทย์อาจแนะนำให้รักษาสิวด้วยวิธีอื่นแทน
  • รับประทานยาคุมตามลำดับติดต่อกันทุกวัน เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด
  • ยาคุมอาจช่วยเพียงเรื่องการเกิดสิวเท่านั้น แต่ไม่ได้ช่วยรักษารอยแดง หรือรอยแผลเป็นจากสิวดังนั้น ควรรับประทานยาคุมร่วมกับการรักษาอื่น ๆ ตามที่แพทย์แนะนำควบคู่ไปด้วย