หูอื้อ (Tinnitus)

ความหมาย หูอื้อ (Tinnitus)

หูอื้อ (Tinnitus) เป็นอาการที่ผู้ป่วยได้ยินเสียงดังในหูที่มาจากในร่างกายในลักษณะแหลมสูงหรือทุ้มต่ำมากกว่าการได้ยินเสียงที่มาจากภายนอก ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อย แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการนี้มักไม่ใช่ปัญหาที่รุนแรงและและสามารถรักษาให้ดีขึ้นได้

การเกิดหูอื้อมี 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นหูอื้อที่เกิดขึ้นกับคนส่วนใหญ่ โดยผู้ป่วยจะได้ยินเสียงดังอยู่ในหูเพียงคนเดียว (Subjective Tinnitus) และประเภทที่ 2 เป็นหูอื้อที่แพทย์สามารถได้ยินด้วยการใช้เครื่องช่วยฟังเมื่อฟังที่หูของผู้ป่วย (Objective Tinnitus) ซึ่งแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาเป็นกรณีไป ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการ

หูอื้อ (Tinnitus)

อาการหูอื้อ

ผู้ที่มีอาการหูอื้อจะได้ยินเสียงต่าง ๆ ดังขึ้นในหู ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน โดยมักมีตั้งแต่เสียงต่ำไปยังเสียงสูง เช่น เสียงอื้อ เสียงลม เสียงก้องในหู เสียงดังหึ่ง ๆ เสียงดังตุบ ๆ ตามจังหวะชีพจร เสียงแหลม ๆ หรือเสียงที่คล้ายกับเสียงผิวปาก

เสียงที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพียงชั่วคราวหรือเป็นอย่างต่อเนื่องและอาจเกิดขึ้นเพียงข้างเดียวหรือพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง โดยในผู้ป่วยบางราย เสียงที่เกิดขึ้นอาจดังมากจนส่งผลให้ขาดสมาธิหรือการได้ยินเสียง หรือทำให้ความคมชัดของเสียงลดลงและอาจรู้สึกเหมือนมีอะไรอุดหู

ทั้งนี้ อาการหูอื้อมักไม่ได้เป็นสัญญาณของปัญหาที่ร้ายแรง แต่หากอาการรบกวนมาก ๆ จนกระทบต่อคุณภาพชีวิต ผู้มีอาการควรไปพบแพทย์เพื่อพูดคุยปรึกษาหรือหาทางรักษา

สาเหตุของอาการหูอื้อ

อาการหูอื้อสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ที่พบได้บ่อยมักมาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นบริเวณหูชั้นกลาง เช่น เกิดความเสียหายที่แก้วหูหรือกระดูกชิ้นเล็ก ๆ ในหูชั้นกลาง เนื่องจากหูชั้นกลางมีหน้าที่นำคลื่นเสียงไปยังหูชั้นในเพื่อส่งผ่านไปยังสมอง ซึ่งจะถูกเปลี่ยนไปเป็นเสียงที่เราสามารถได้ยิน

นอกจากนี้ สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น

  • มีเนื้องอกที่เกิดขึ้นในหูหรือประสาทหู
  • การได้ยินเสียงที่ดังมาก ๆ เช่น ผู้ที่ทำงานใช้เครื่องมือที่มีเสียงดังมาก ๆ และการฟังเพลงดัง ๆ หรือการไปชมคอนเสิร์ต
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ยาแก้แพ้ ยาซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) บูมีทาไนด์ (Bumetanide) ยาคลอโรควิน (Chloroquine) ยาอิริโทรมัยซิน (Erythromycin) และยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด  
  • การสูญเสียการได้ยินที่เกี่ยวข้องกับอายุที่มากขึ้น
  • กล้ามเนื้อกระตุกผิดปกติในหูชั้นกลาง
  • โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s Disease)
  • มีขี้หูมากเกินไป โดยอาการหูอื้อ มักเป็นทันทีหลังว่ายน้ำหรือดำน้ำ
  • ความดันโลหิตสูง
  • คอเลสเตอรอลสูง
  • เกิดการบาดเจ็บที่ศีรษะหรือคอ
  • สิ่งแปลกปลอมหรือแมลงเข้าหู ซึ่งอาจเกิดร่วมกับอาการปวดหู
  • หูอื้อที่เกิดหลังจากเป็นหวัด อาจมีสาเหตุมาจากท่อยูสเตเชียนบวมจากโรคติดเชื้อและถ้ามีเยื่อแก้วหูบวมแดงร่วมด้วยอาจเกิดจากหูชั้นกลางอักเสบเฉียบพลัน
  • อาการหูอื้ออาจเกิดขึ้นหลังจากการดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ หรือสูบบุหรี่ 
  • หากมีหูอื้อเป็น ๆ หาย ๆ สัมพันธ์กับโรคภูมิแพ้อาจเกิดจากท่อยูสเตเชียนบวมจากโรคภูมิแพ้
  • ภาวะเครียด วิตกกังวล อารมณ์ซึมเศร้า
  • โรคความผิดปกติที่ข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular Joint Disorders)

การวินิจฉัยของอาการหูอื้อ

ในการวินิจฉัยอาการหูอื้อ แพทย์จะทำการซักประวัติอาการและตรวจหูของผู้ป่วยอย่างละเอียด เพื่อตรวจดูว่า มีความผิดปกติของหูชั้นนอก หูชั้นกลาง หรือหูชั้นใน และผู้ป่วยได้ยินเสียงคนเดียวหรือแพทย์สามารถได้ยินด้วย

จากนั้น แพทย์จะตรวจดูหูทางกายภาพและทำการทดสอบการได้ยิน เพื่อดูว่าหูของผู้ป่วยได้ยินเสียงที่ความถี่ต่าง ๆ เป็นอย่างไรบ้าง และหูแต่ละข้างได้ยินเท่ากันหรือไม่ โดยจะให้ผู้ป่วยฟังเสียงผ่านหูฟัง และให้ผู้ป่วยส่งสัญญาณเพื่อบ่งบอกว่าได้ยินเสียงนั้น ๆ ซึ่งแพทย์จะสามารถวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการจากการเปรียบเทียบกับการได้ยินของคนอื่น ๆ ที่มีอายุและเพศเดียวกันกับผู้ป่วย

นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ทำการตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูความเสียหายหรือความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับหู เช่นการทำ CT Scan หรือ MRI Scan ซึ่ง 2 วิธีนี้จะเป็นการใช้รังสีเอกซเรย์และคลื่นวิทยุเพื่อสร้างภาพของอวัยวะภายในร่างกาย ซึ่งการเอกซเรย์แบบธรรมดาจะไม่สามารถเห็นเนื้องอก ความผิดปกติของหลอดเลือด หรือความผิดปกติอื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อการได้ยิน

การรักษาอาการหูอื้อ

สำหรับการรักษาอาการหูอื้อจะเป็นการรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ เช่น 

  • หากหูอื้อเกิดจากขึ้หูอุดตัน แพทย์จะเอาขี้หูออกด้วยความระมัดระวังหรือให้หยอดยาละลายขึ้หู
  • หากยารักษาโรคเป็นสาเหตุที่ทำให้หูอื้อ แพทย์จะให้หยุดยาและเปลี่ยนยาใหม่ที่ไม่มีผลข้างเคียงต่อการได้ยิน
  • หากหูอื้อเกิดจากสิ่งแปลกปลอมเข้าหู แพทย์จะนำสิ่งแปลกปลอมออกจากหู
  • หากหูอื้อเกิดจากการเป็นหวัดและอาจตรวจพบว่ามีหูชั้นกลางหรือไซนัสอักเสบร่วมด้วย แพทย์ก็อาจให้ยาปฏิชีวนะมารับประทาน
  • หูอื้อที่เกิดจากเนื้องอกในช่องหูก็จะต้องรับการผ่าตัดเนื้องอก

นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้วิธีการรักษาอื่นร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เช่น

การรักษาด้วยยา

ยาบางชนิด เช่น ยาโรคซึมเศร้า ยาคลายวิตกกังวล สามารถช่วยลดเสียงที่เกิดขึ้นในหูได้สำหรับผู้ป่วยบางคน แต่อาจจะไม่ได้ผลกับทุกคนและอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ โดยผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาหูอื้อ ได้แก่ อาการคลื่นไส้ อ่อนเพลีย ท้องผูก มองเห็นไม่ชัด ในบางรายอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับหัวใจได้

การรักษาด้วยตัวเองที่บ้าน

การใช้เครื่องลดเสียงรบกวน สามารถช่วยลดเสียงดังที่เกิดขึ้นในหูเวลาที่หูอื้อได้ ด้วยการให้เสียงแห่งการผ่อนคลายหรือเสียงโทนต่ำ อาจลองใช้อุปกรณ์ที่คล้ายกับเครื่องช่วยฟังที่เรียกว่า Masking Devices ใส่ไว้ในหู ซึ่งเครื่องนี้จะคอยยับยั้งเสียงดังในหู

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

ผู้ที่มีอาการหูอื้อสามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ด้วยการลดความเครียด แม้ความเครียดไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงของอาการหูอื้อ แต่สามารถทำให้อาการแย่ลงได้ สามารถลดความเครียดในชีวิตลงได้ด้วยการหางานอดิเรกที่ชอบทำ หรือปรึกษาพูดคุยกับเพื่อนที่ไว้ใจหรือคนในครอบครัว

นอกจากนั้น สำหรับผู้ที่มักสวมหูฟังที่เปิดเสียงดังบ่อย ๆ ก็ควรลดระยะเวลาการใช้งานหูฟัง หรือลดระดับเสียงลงเพื่อลดความรุนแรงของอาการ

ภาวะแทรกซ้อนของอาการหูอื้อ

อาการหูอื้ออาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ทำให้ไม่สบายตัว และใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างไม่สะดวกอย่างไรก็ตาม อาจมีผลกระทบที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละบุคคล ซึ่งหากมีอาการหูอื้ออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนหรืออาการต่าง ๆ เช่น

  • มีความอ่อนเพลีย อ่อนล้า
  • มีความเครียด หรือมีปัญหาในการนอนหลับ
  • มีปัญหาในการจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือไม่มีสมาธิ
  • มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ
  • มีความวิตกกังวลและความหงุดหงิด
  • เป็นโรคซึมเศร้า 

การรักษาภาวะแทรกซ้อนในข้างต้นอาจจะไม่ส่งผลกับอาการหูอื้อโดยตรง แต่จะช่วยให้รู้สึกดียิ่งขึ้นและไม่ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงไปกว่าเดิม

การป้องกันอาการหูอื้อ

ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการหูอื้อคือการได้ยินเสียงดังติดต่อกันเป็นเวลานาน ดังนั้น หากต้องอยู่ในที่ที่มีเสียงดังในระดับที่ไม่สามารถสนทนาในระดับเสียงปกติได้ หรือมีเสียงที่ดังเกินกว่า 85 เดซิเบล เช่น เสียงปืน เสียงประทัด เสียงระเบิด เสียงเครื่องจักร ควรใส่ที่อุดหูพื่อป้องกันเสียง หรือหลีกเลี่ยงจากที่ที่เกิดเสียงดัง รวมไปถึงการปรับเสียงวิทยุ โทรทัศน์หรือเครื่องฟังเพลงไม่ให้มีเสียงดังเกินไป

นอกจากนี้ ควรป้องกันตนเองจากโรคหวัด หลีกเลี่ยงความเสี่ยงของการได้รับเชื้อหวัด และหากเป็นโรคภูมิแพ้ โรคโพรงจมูกหรือไซนัสอักเสบเรื้อรัง ควรรักษาติดตามอาการกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันอาการกำเริบ แต่หากมีอาการหวัด คัดจมูก น้ำมูกไหลและต้องขึ้นเครื่องบินควรใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการทางจมูกก่อนขึ้นเครื่องบินตามที่แพทย์แนะนำ

และที่สำคัญควรหมั่นสังเกตและหลีกเลี่ยงยารักษาโรคที่ทำให้เกิดอาการหูอื้อ หลีกเลี่ยงการใช้ยาด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์เป็นระยะเวลานาน ๆ และควรพบแพทย์เพื่อทดสอบการได้ยินเป็นประจำ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือหรือป้องกับปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับหูชั้นกลางและหูชั้นใน