ตรวจปัสสาวะ รู้ขั้นตอนและการเตรียมตัวอย่างเหมาะสม

การตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) เป็นการตรวจดูลักษณะทางกายภาพ สารเคมี หรือตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ เป็นการตรวจพื้นฐานทางการแพทย์ที่ใช้ในหลายกรณี เช่น เมื่อเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ การตรวจหาสารเสพติด รวมถึงการตรวจการตั้งครรภ์ โดยจะมีการพิจารณาจากองค์ประกอบต่าง ๆ ในปัสสาวะประกอบกัน เช่น สี กลิ่น สารเคมีเซลล์เม็ดเลือดแดง แบคทีเรีย

ปัสสาวะเป็นของเหลวซึ่งเกิดจากการที่ไตขับของเสียออกจากร่างกาย ในปัสสาวะจึงมีสารต่าง ๆ อยู่มากมาย เช่น น้ำ แร่ธาตุ น้ำตาล โปรตีน สารเคมีต่างๆ ซึ่งปริมาณของปัสสาวะและสารเคมีจะขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้ชีวิตและสภาวะร่างกายของผู้เข้าตรวจ การตรวจปัสสาวะจึงใช้ในการประเมินสุขภาพในเบื้องต้นได้ โดยแพทย์จะพิจารณาร่วมกับการตรวจร่างกายและการซักประวัติทางสุขภาพ

รู้ขั้นตอนการตรวจปัสสาวะ

ประโยชน์ของการตรวจปัสสาวะ

การตรวจปัสสาวะมีประโยชน์หลายประการ เช่น 

  • ใช้วินิจฉัยโรคหรือการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะในเบื้องต้น เช่น อาการปวดท้อง ปวดหลัง ปวดเอว ปัสสาวะบ่อย อาการปวดแสบขณะปัสสาวะ หรือปัสสาวะมีเลือดปน เพื่อหาสาเหตุความผิดปกติที่เกิดขึ้น 
  • ช่วยตรวจคัดกรองโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับอวัยวะหลายส่วน เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคตับ ซึ่งสามารถตรวจพบความผิดปกติบางส่วนได้จากน้ำปัสสาวะ 
  • ใช้ในการติดตามผลการรักษาของโรคว่าเป็นไปในทางที่ดีหรือแย่ลง แพทย์จึงมักส่งตรวจปัสสาวะในการตรวจสุขภาพประจำปี การตรวจสุขภาพเพื่อเตรียมตัวก่อนรับการผ่าตัด หรือการตรวจเมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
  • ใช้ตรวจวินิจฉัยภาวะบางอย่าง เช่น การตรวจหาสารเสพติดบางชนิดในร่างกาย หรือตรวจการตั้งครรภ์จากฮอร์โมน ฮิวแมน คอริโอนิก โกนาโดโทรฟิน (Human Chorionic Gonadotropin: HCG) ที่พบในน้ำปัสสาวะ

ขั้นตอนการตรวจปัสสาวะ

การตรวจปัสสาวะมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก สามารถทำได้ทุกช่วงเวลา แต่ในบางกรณีควรเก็บปัสสาวะในช่วงเช้า เนื่องจากน้ำปัสสาวะจะมีความเข้มข้นสูง ก่อนการเก็บปัสสาวะทางโรงพยาบาลจะให้ถ้วยพลาสติกขนาดเล็กสำหรับเก็บน้ำปัสสาวะกับผู้เข้ารับการตรวจ ซึ่งผู้เข้ารับการตรวจปัสสาวะสามารถปฏิบัติได้ตามคำแนะนำดังนี้

  1. ล้างมือให้สะอาดและทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศก่อนการเก็บปัสสาวะ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนที่อาจมีผลต่อการตรวจ
  2. ควรเลือกเก็บเฉพาะน้ำปัสสาวะช่วงกลาง โดยให้ปล่อยปัสสาวะในช่วงแรกและช่วงท้ายทิ้งไป ปริมาณปัสสาวะที่ควรเก็บอยู่ที่ประมาณ 30–60 มิลลิลิตร (1–2 ออนซ์)
  3. ขณะเก็บปัสสาวะไม่ควรนำภาชนะไปสัมผัสโดนกับอวัยวะเพศหรือผิวหนังบริเวณดังกล่าวโดยตรง เพื่อหลีกเลี่ยงเชื้อต่าง ๆ ที่อาจพบได้บริเวณนั้น ซึ่งอาจทำให้ผลการวิเคราะห์คลาดเคลื่อน
  4. ตรวจดูความสะอาดบริเวณรอบภาชนะและปิดฝาให้เรียบร้อย ก่อนนำภาชนะบรรจุน้ำปัสสาวะกลับไปส่งให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ดูแล

อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจจะมีการเก็บปัสสาวะด้วยวิธีอื่น ๆ ในกรณีที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคบางโรค เช่น

การเก็บปัสสาวะแบบ 24 ชั่วโมง (24–hour Urine Collection) 

เป็นการเก็บปัสสาวะสำหรับการตรวจวินิจฉัยบางโรค เช่น การตรวจในผู้ป่วยโรคไต ทางโรงพยาบาลจะให้ภาชนะเก็บปัสสาวะขนาดประมาณ 1 แกลลอน (ประมาณ 4 ลิตร) สำหรับการเก็บน้ำปัสสาวะตลอดช่วงเวลา 24 ชั่วโมง โดยจะเริ่มเก็บน้ำปัสสาวะครั้งแรกหลังจากการถ่ายปัสสาวะทิ้งไป 

จากนั้นจึงเริ่มบันทึกเวลาการเก็บเริ่มต้นและมีการเก็บปัสสาวะครั้งต่อไปเรื่อย ๆ จนครบระยะเวลา 24 ชั่วโมง ในช่วงระหว่างการเก็บปัสสาวะควรเก็บขวดปัสสาวะไว้ในตู้เย็นอยู่เสมอ เมื่อครบกำหนดเวลาในการเก็บปัสสาวะครั้งสุดท้ายจึงจะนำไปส่งให้แพทย์เมื่อมีการนัดครั้งต่อไป

การเก็บตัวอย่างปัสสาวะโดยใส่สายสวน (Catheter Collection) 

สามารถเก็บได้ 2 แบบ คือ เก็บโดยใส่สายสวนแบบชั่วคราว หรือเก็บจากสายสวนปัสสาวะเดิมที่คาอยู่ในท่อปัสสาวะผู้ป่วย ขั้นตอนการใส่สายสวนจะต้องมีการทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อก่อน จากนั้นจึงสอดสายสวนผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะเพื่อเก็บปัสสาวะ 

หากเป็นการเก็บจากสายสวนปัสสาวะเดิมที่คาอยู่ในท่อปัสสาวะของผู้ป่วย จะต้องมีการทำความสะอาดบริเวณสายสวนด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อก่อนเช่นกัน จากนั้นจึงใช้ไซริงค์ (Syringes) ดูดน้ำปัสสาวะออกมา 

การเก็บปัสสาวะโดยใส่สายสวนนี้จะช่วยให้ได้น้ำปัสสาวะที่ไม่มีการปนเปื้อน เพื่อนำไปเพาะเชื้อในกรณีที่คาดว่าเกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ หรืออาจใช้ในกรณีอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยไม่สามารถปัสสาวะได้เอง มีอาการปวดอย่างรุนแรงขณะปัสสาวะ

การเก็บปัสสาวะด้วยการเจาะหน้าท้อง (Suprapubic Aspiration) 

เป็นวิธีการเก็บปัสสาวะด้วยการเจาะบริเวณหน้าท้องและดูดเอาน้ำปัสสาวะออกมาจากกระเพาะปัสสาวะโดยตรง ซึ่งทำให้น้ำปัสสาวะเกิดการปนเปื้อนได้น้อยเมื่อเทียบกับวิธีอื่น แต่วิธีการทำอาจส่งผลรุนแรงได้ ส่วนใหญ่จะเหมาะสำหรับทารกแรกเกิด ผู้ที่ไม่สามารถปัสสาวะได้เอง หรือผู้ที่มีอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะไม่ออกหรือปวดอย่างรุนแรงขณะปัสสาวะ

นอกเหนือจากการตรวจในโรงพยาบาล การตรวจปัสสาวะยังสามารถตรวจได้จากที่บ้านด้วยชุดตรวจแบบสำเร็จรูป ออกแบบให้ใช้งานง่าย สามารถหาซื้อได้ทั่วไป เช่น การตรวจการตั้งครรภ์ ซึ่งใช้หลักการเก็บปัสสาวะคล้าย ๆ กับการตรวจในโรงพยาบาล แต่หลักการแปลผลจะใช้แถบจุ่มที่เคลือบสารเคมี ซึ่งจะมีการเปลี่ยนสีเมื่อผสมกับปัสสาวะ

การเตรียมตัวก่อนการตรวจปัสสาวะ

การตรวจปัสสาวะไม่ต้องมีการเตรียมตัวเป็นพิเศษ แต่มีข้อควรระวังบางประการที่ทำให้ผลการตรวจปัสสาวะคลาดเคลื่อนได้ เช่น

  • การรับประทานยาหรือวิตามินเสริมบางชนิด เช่น วิตามินบี ยาฟีนาโซไพริดีน (Phenazopyridine) ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ยาเฟนิโทอิน (Phenytoin) วิตามินซีที่มีการรับประทานคู่กับยาปฏิชีวนะ จึงควรมีการแจ้งหรือสอบถามเบื้องต้นก่อนการตรวจ
  • ผู้ที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือนหรือใกล้มีประจำเดือนควรหลีกเลี่ยงการตรวจปัสสาวะ แพทย์หรือพยาบาลจะแนะนำให้รอตรวจหลังจากหมดประจำเดือนเพื่อให้ได้ผลตรวจที่คลาดเคลื่อนน้อยที่สุด
  • การตรวจปัสสาวะไม่จำเป็นต้องมีการอดอาหารและน้ำก่อนการตรวจ แต่ในกรณีที่มีการตรวจอย่างอื่นในช่วงเวลาเดียวกับการตรวจปัสสาวะ แพทย์อาจสั่งให้งดน้ำและอาหาร ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและภาวะสุขภาพของแต่ละบุคคล
  • ผู้ที่มีการตรวจเอกซเรย์และใช้สารทึบรังสีในช่วงระยะเวลา 3 วันก่อนการตรวจปัสสาวะควรหลีกเลี่ยงการตรวจปัสสาวะ

การดูแลและติดตามผลหลังการตรวจปัสสาวะ

หลังการตรวจปัสสาวะสามารถกลับบ้านได้ตามปกติ ไม่มีความเสี่ยงและอันตรายในการตรวจ ขั้นตอนการตรวจใช้เวลาไม่นาน แต่ต้องรอผลตรวจประมาณ 1–2 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล ตัวอย่างปัสสาวะจะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์ตามขั้นตอน

การตรวจดูลักษณะทางกายภาพทั่วไป (Visual Examination) 

เป็นการสังเกตดูสี กลิ่น และความใสของน้ำปัสสาวะที่บ่งบอกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นในร่างกาย เช่น การติดเชื้อที่อาจทำให้น้ำปัสสาวะขุ่น มีกลิ่นฉุนเหม็น หรือสีปัสสาวะที่เปลี่ยนแปลงไปอาจบ่งบอกภาวะร่างกายขาดน้ำหรือการมีเลือดปนมาในปัสสาวะ อย่างไรก็ตามก็อาจมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อลักษณะของน้ำปัสสาวะ ทั้งประเภทอาหารที่รับประทาน ปริมาณน้ำที่ดื่ม ยา หรือโรคประจำตัว

การตรวจสอบสารเคมีในน้ำปัสสาวะ (Chemical Examination) 

เป็นการตรวจดูสารเคมีที่พบในน้ำปัสสาวะ ซึ่งสารเหล่านี้จะเป็นตัวบ่งบอกถึงสุขภาพและความผิดปกติของร่างกายในขณะนั้น เช่น

  • คีโตน (Ketones) เป็นสารเคมีที่เกิดจากการเผาผลาญไขมันให้เป็นน้ำตาลในกรณีที่ร่างกายไม่สามารถใช้น้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตมาเป็นพลังงานได้เพียงพอ หากตรวจพบสารคีโตนในน้ำปัสสาวะเป็นปริมาณมากอาจเป็นตัวบ่งบอกสภาวะร้ายแรงบางอย่างที่เกิดขึ้นในร่างกาย เช่น โรคเบาหวาน การรับประทานอาหารในกลุ่มของน้ำตาลและคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอ การอาเจียนอย่างรุนแรง ซึ่งต้องมีการติดตามผลหรือตรวจในขั้นต่อไปเพื่อหาสาเหตุความผิดปกติ
  • กลูโคส (Glucose) กลูโคสเป็นน้ำตาลประเภทหนึ่งที่พบในเลือด โดยปกติแทบจะไม่มีน้ำตาลกลูโคสหรือมีน้อยมากในน้ำปัสสาวะ แต่หากตรวจพบน้ำตาลในน้ำปัสสาวะเป็นปริมาณมากอาจเป็นสัญญาณของโรคเบาหวานหรือความผิดปกติเกี่ยวกับไต
  • โปรตีนหรือไข่ขาวในน้ำปัสสาวะ อาจพบโปรตีนในน้ำปัสสาวะได้ แต่โดยทั่วไปมีน้อยมาก หากผลตรวจแสดงถึงปริมาณโปรตีนในปริมาณมากอาจเป็นตัวชี้ได้ว่าเกิดปัญหาความผิดปกติเกี่ยวกับไต

การตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ (Microscopic Examination) 

ทำโดยการหยดน้ำปัสสาวะประมาณ 1-2 หยด ก่อนนำไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งทำให้มองเห็นเซลล์เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง จุลชีพ แบคทีเรียต่าง ๆ ว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือมีปริมาณมากเกินไปหรือไม่ เพราะจะเป็นตัวชี้ให้เห็นถึงภาวะผิดปกติของร่างกาย เช่น

  • เซลล์เม็ดเลือดขาว (White Blood Cells/Leukocytes) โดยปกติแทบจะไม่พบเซลล์เม็ดเลือดในน้ำปัสสาวะ หากผลตรวจออกมาพบเซลล์เม็ดเลือดขาว อาจเป็นการบ่งบอกว่ามีการติดเชื้อเกิดขึ้น
  • เซลล์เม็ดเลือดแดง (Red Blood Cells/Erythrocytes) อาจบอกได้ว่าพบความผิดปกติหรือการบาดเจ็บของไต ท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ หรือความผิดปกติของเลือด ซึ่งปกติแทบจะไม่พบเซลล์เม็ดเลือดแดงในน้ำปัสสาวะ  
  • แบคทีเรีย เชื้อรา ปรสิต (Bacteria/Yeasts/ Parasites) แสดงถึงภาวะการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะ
  • คาสท์ (Casts) เป็นแท่งโปรตีนชนิดหนึ่งที่แสดงถึงความผิดปกติในการทำงานของไต
  • ผลึก (Crystal) การตรวจพบผลึกต่าง ๆ ในปริมาณมากหรือผลึกบางประเภทในน้ำปัสสาวะอาจมีความเป็นไปได้ของการเกิดนิ่วในไตหรือความผิดปกติของระบบเผาผลาญในร่างกาย เพราะในคนปกติทั่วไปจะพบผลึกได้น้อยในน้ำปัสสาวะ

การตรวจสารเสพติดในน้ำปัสสาวะ 

เป็นการตรวจหาสารเสพติดบางประเภทที่ผิดกฎหมาย ยาบางชนิด หรือแอลกอฮอล์ที่อาจเป็นปัญหาต่อสุขภาพได้ เช่น แอมเฟตามีน เบนโซไดอะซีปีน โคเคน หรือโอปิออยด์ที่เป็นสารจากฝิ่น ซึ่งมักตรวจเมื่อแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจได้รับสารเหล่านี้เข้าไปในร่างกาย ส่งตรวจในกรณีทางกฎหมาย หรือใช้ในการตรวจเบื้องต้นก่อนการเข้าทำงานตามบริษัทต่าง ๆ

การตรวจคัดกรองมะเร็งบางประเภท

การตรวจปัสสาวะยังช่วยให้พบสารต่าง ๆ ที่อยู่ในเกณฑ์สูงผิดปกติหรือแทบไม่พบในน้ำปัสสาวะในคนสุขภาพดี อาจช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคมะเร็งบางประเภท เช่น โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะจากการตรวจพบเซลล์เม็ดเลือดปริมาณมากในน้ำปัสสาวะ จนทำให้น้ำปัสสาวะมีสีแดงหรือชมพู 

หรือการตรวจพบโปรตีนที่เรียกว่า เบนซ์โจนส์โปรตีน (Bence Jones Protein) สูง อาจจะเป็นสัญญาณของมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า โรคมัลติเพิล มัยอิโลมา (Multiple Myeloma: MM)

การติดตามผลหลังการตรวจปัสสาวะ

แพทย์ผู้สั่งตรวจปัสสาวะจะเป็นผู้ที่ประเมินความผิดปกติของผลตรวจที่ออกมา ซึ่งอาจเป็นแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาที่แต่ละบุคคลไปพบ เช่น สูตินรีแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน แพทย์ที่เชี่ยวชาญระบบทางเดินปัสสาวะ 

โดยแพทย์จะมีการประเมินร่วมกับการตรวจร่างกายทั่วไป อาการผิดปกติ ประวัติการเจ็บป่วยของผู้เข้ารับการตรวจ ก่อนที่จะสรุปผลการตรวจ จากนั้นจึงค่อยนัดผู้เข้ารับการตรวจกลับมาฟังผลและพูดคุยกับแพทย์อีกครั้ง

หากผลตรวจเป็นปกติก็สามารถกลับบ้านได้ตามปกติ แต่ในกรณีที่ผลการตรวจออกมาผิดปกติ แพทย์อาจจะทำการตรวจในขั้นต่อไปเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุของความผิดปกติที่อาจทำให้เกิดความเจ็บป่วยของร่างกายขึ้นในอนาคตขึ้น เช่น 

  • การตรวจเลือด 
  • การถ่ายภาพทางรังสี (เช่น ซีทีสแกนหรือเอ็มอาร์ไอ
  • การตรวจสารเคมีในเลือด (Comprehensive Metabolic Panel: CMP) 
  • การตรวจนับความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) 
  • การเพาะหาเชื้อในปัสสาวะ (Urine Culture) 
  • ตรวจการทำงานของตับหรือไต