ฉี่แล้วแสบ สาเหตุและสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

ฉี่แล้วแสบ เป็นอาการหนึ่งที่พบได้ค่อนข้างบ่อย โดยอาการสามารถพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิงในทุกช่วงวัย แต่จะยิ่งพบได้มากในผู้หญิงและผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีภาวะเบาหวาน และผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับกระเพาะปัสสาวะ

อาการฉี่แล้วแสบ หรือที่ทางการแพทย์จะเรียกว่าอาการปัสสาวะขัด (Dysuria) เป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่สาเหตุที่ไม่ค่อยมีความรุนแรงที่อาจค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปเอง ไปจนถึงโรคหรือภาวะผิดปกติบางชนิดที่ควรได้รับการรักษาจากแพทย์ โดยการรักษาอาการนี้จะขึ้นอยู่กับสาเหตุเป็นหลัก

ฉี่แล้วแสบ เกิดจากอะไร ควรไปพบแพทย์หรือไม่

รู้จักกับสาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการฉี่แล้วแสบ

อาการฉี่แล้วแสบเป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ตัวอย่างสาเหตุที่พบได้บ่อย เช่น

1. การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ

การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะมักเป็นผลมาจากเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่อาจจะพบในผู้หญิงได้มากกว่า  โดยทางเดินปัสสาวะเป็นบริเวณที่ประกอบไปด้วยอวัยวะหลายอย่าง ได้แก่ ไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ ซึ่งการติดเชื้อในอวัยวะเหล่านี้ถือเป็นสาเหตุที่พบได้ค่อนข้างบ่อยของอาการฉี่แล้วแสบ

โดยอาการอื่นที่มักพบร่วมกับอาการฉี่แล้วแสบของผู้ป่วยในกลุ่มนี้ เช่น ปวดปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะขุ่น และปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ

2. ภาวะท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis)

ภาวะท่อปัสสาวะอักเสบเป็นภาวะที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่โดยส่วนใหญ่มักเป็นผลมาจากอาการระคายเคืองต่อสารเคมีบางชนิดหรือการใช้สายสวนทางการแพทย์ หรือบางกรณี อาจเป็นผลมาจากโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อย่างหนองในแท้ (Gonorrhea) หรือหนองในเทียม (Chlamydia)

โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักพบอาการอื่นในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่น รู้สึกเจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน หรือมีหนองหรือเลือดไหลออกมาจากอวัยวะเพศ

3. กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)

กระเพาะปัสสาวะอักเสบเป็นภาวะที่มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด โดยสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ก็เช่น การได้รับสารบางชนิดที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด หรือผลข้างเคียงจากการใช้รังสีรักษา (Radiation Theraphy)

โดยอาการอื่นของภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบที่ผู้ป่วยอาจพบได้ เช่น ปัสสาวะบ่อยขึ้นแต่น้ำปัสสาวะแต่ละครั้งมีปริมาณน้อยผิดปกติ มีเลือดปนมากับปัสสาวะ ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน มีไข้อ่อน ๆ หรือรู้สึกแน่นบริเวณใต้สะดือ

4. นิ่วในไต

นิ่วในไต เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อแร่ธาตุต่าง ๆ และเกลือที่อยู่ในไตจับตัวกันเป็นก้อน ซึ่งก้อนนิ่วที่จับตัวกันอาจไปอุดกั้นการไหลของปัสสาวะ จนส่งผลให้ไตบวม ทางเดินปัสสาวะหดตัวลง และนำไปสู่อาการแสบขณะปัสสาวะตามมาได้

โดยนอกจากอาการแสบขณะปัสสาวะแล้ว ผู้ป่วยในกลุ่มนี้อาจพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อาการปวดบริเวณด้านข้างเอวและหลัง ปัสสาวะเป็นสีแดงหรือน้ำตาล ปัสสาวะเหม็นผิดปกติ ปัสสาวะบ่อยแต่ในปริมาณที่น้อยลง มีไข้ คลื่นไส้ และอาเจียน

ทั้งนี้ นอกจากสาเหตุที่ได้ยกตัวอย่างไป อาการฉี่แล้วแสบยังอาจเป็นผลมาจากสาเหตุอื่น ๆ ได้อีกเช่นกัน เช่น ภาวะติดเชื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน เริมที่อวัยวะเพศ ภาวะกรวยไตอักเสบ ภาวะท่อปัสสาวะตีบแคบ ต่อมลูกหมากอักเสบ หรือการใช้ยาบางชนิด โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ และการทำเคมีบำบัด 

ฉี่แล้วแสบ สิ่งที่ควรทำเมื่อมีอาการและสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

โดยส่วนใหญ่แล้ว อาการฉี่แล้วแสบมักค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปเองโดยไม่ต้องทำการรักษา แต่ผู้ที่อยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม ได้แก่

  • ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์
  • ผู้ที่อาการไม่ดีขึ้นหลังจากผ่านไป 24 ชั่วโมง
  • อาการเกิดแบบเป็น ๆ หาย ๆ ติดต่อกันหลายเดือน
  • ผู้ที่พบอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีเลือดปนมากับปัสสาวะ มีของเหลวที่ไม่ใช่ปัสสาวะไหลออกมาจากอวัยวะเพศ ปัสสาวะขุ่น ปัสสาวะมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ มีไข้ หรือมีอาการปวดข้างลำตัวบริเวณเอวหรือหลัง

ทั้งนี้ แม้อาการฉี่แล้วแสบจะสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ จนทำให้การป้องกันอาจทำได้ยาก แต่ในเบื้องต้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเพียงเล็กน้อยก็อาจช่วยลดความเสี่ยงได้ เช่น ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ หลังมีเพศสัมพันธ์ควรปัสสาวะและทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศให้สะอาด 

สำหรับเพศหญิงควรทำความสะอาดอวัยวะเพศทุกครั้งหลังปัสสาวะ โดยเริ่มทำความสะอาดจากด้านหน้าไปทางบริเวณทวารหนักที่อยู่ด้านหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้แบคทีเรียจากทวารหนักแพร่เข้าสู่ช่องคลอดและท่อปัสสาวะ

นอกจากนั้น ควรควบคุมปริมาณการบริโภคอาหารที่เป็นกรด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน และแอลกอฮอล์ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการฉี่แล้วแสบได้