Rifampicin (ไรแฟมพิซิน)

Rifampicin (ไรแฟมพิซิน)

Rifampicin (ไรแฟมพิซิน) คือ ยาปฏิชีวนะที่ทางการแพทย์ใช้ป้องกันหรือรักษาวัณโรค รักษาการติดเชื้อในจมูกและลำคอจากแบคทีเรียบางชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคไข้กาฬหลังแอ่นชนิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือโรคติดเชื้อชนิดอื่น รวมทั้งช่วยป้องกันการแพร่เชื้อดังกล่าวไปสู่ผู้อื่น แต่จะไม่นำมาใช้รักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในระยะที่แสดงอาการแล้ว

Rifampicin

เกี่ยวกับ Rifampicin

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ป้องกันหรือรักษาวัณโรค รักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในระยะยังไม่แสดงอาการ
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีดเข้าเส้นเลือด

คำเตือนการใช้ยา Rifampicin

  • หากเคยมีประวัติแพ้ไรแฟมพิซิน ยา อาหาร หรือสารชนิดอื่น ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา
  • ไม่ควรใช้ยาชนิดนี้ หากกำลังใช้ยาต้านเชื้อเอชไอวี เช่น ซาควินาเวียร์ ริโทนาเวียร์ เป็นต้น เนื่องจากยาไรแฟมพิซินอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาต้านเชื้อเอชไอวีลดลง
  • ห้ามฉีดวัคซีนทุกชนิดขณะใช้ยาไรแฟมพิซิน เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง ยกเว้นกรณีที่แพทย์แนะนำ
  • แจ้งประวัติการเจ็บป่วยให้แพทย์ทราบ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคตับ โรคติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ที่มีประวัติติดแอลกอฮอล์ เพราะยาไรแฟมพิซินอาจส่งผลให้อาการของโรคนั้น ๆ รุนแรงขึ้น หรืออาจทำปฏิกิริยากับยาชนิดอื่นที่กำลังรับประทานอยู่
  • หากกำลังใช้ยา สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดใดก็ตาม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาชนิดนี้
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ขณะใช้ยา
  • ห้ามใส่คอนแทคเลนส์ขณะใช้ยา เนื่องจากยาไรแฟมพิซินอาจทำให้สีของน้ำตาเปลี่ยนไป ส่งผลให้เกิดคราบติดบนคอนแทคเลนส์อย่างถาวรได้
  • ผู้ที่กำลังใช้ยาไรแฟมพิซินต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนวางแผนผ่าตัดหรือรับการรักษาทางทันตกรรม
  • ห้ามขับรถ ใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงขณะใช้ยา เพราะยาชนิดนี้อาจมีผลข้างเคียงทำให้รู้สึกวิงเวียนศีรษะหรือง่วงซึม
  • ยาไรแฟมพิซินอาจส่งผลให้ยาคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพลดลง ขณะใช้ยานี้จึงควรใช้วิธีคุมกำเนิดด้วยรูปแบบอื่นที่ไม่ใช้ฮอร์โมนแทน เช่น ถุงยางอนามัย ห่วงคุมกำเนิด เป็นต้น
  • หญิงตั้งครรภ์และหญิงที่กำลังให้นมบุตรควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาและควรใช้ยาเมื่อจำเป็นเท่านั้น เพราะการใช้ยาไรแฟมพิซินในช่วงก่อนคลอด 2-3 สัปดาห์ อาจทำให้มารดาหรือทารกเสี่ยงมีภาวะเลือดออกได้

ปริมาณการใช้ยา Rifampicin

รักษาวัณโรค

ผู้ใหญ่

ยารับประทาน

  • ผู้ที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 50 กิโลกรัม รับประทานวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 450 มิลลิกรัม
  • ผู้ที่มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัมขึ้นไป รับประทานวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 600 มิลลิกรัม

ยาฉีดเข้าเส้นเลือด

  • ฉีดยาวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อวัน

เด็ก

ยารับประทาน

  • รับประทานวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 10-20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อวัน

ยาฉีดเข้าเส้นเลือด

  • ฉีดยาวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อวัน

ป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่นในกรณีเป็นพาหะแพร่เชื้อ

ผู้ใหญ่

ยารับประทาน

  • รับประทานครั้งละ 600 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 2 วัน

ยาฉีดเข้าเส้นเลือด

  • ฉีดยาครั้งละ 600 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 2 วัน

เด็ก

ยารับประทาน

  • ทารกอายุน้อยกว่า 1 เดือน รับประทานครั้งละ 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 12 ชั่วโมง ติดต่อกัน 2 วัน
  • ทารกอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป รับประทานยาครั้งละ 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 12 ชั่วโมง ติดต่อกัน 2 วัน ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อครั้ง

ยาฉีดเข้าเส้นเลือด

  • ทารกอายุน้อยกว่า 1 เดือน ฉีดยาครั้งละ 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 12 ชั่วโมง ติดต่อกัน 2 วัน
  • ทารกอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป ฉีดยาครั้งละ 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก ๆ 12 ชั่วโมง ติดต่อกัน 2 วัน ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัมต่อครั้ง

การใช้ยา Rifampicin

  • ใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรใช้ในปริมาณมากกว่า น้อยกว่า หรือใช้ติดต่อกันนานกว่าที่กำหนด
  • ควรรับประทานยาไรแฟมพิซินขณะท้องว่าง ก่อนรับประทานอาหาร 1 ชั่วโมง หรือหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมง
  • ไม่ควรรับประทานยาลดกรดใน 1 ชั่วโมงแรกหลังจากใช้ยาไรแฟมพิซินชนิดแคปซูล เพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพของยาไรแฟมพิซินลดลง
  • ควรรับประทานยาติดต่อกันให้ครบตามที่แพทย์แนะนำและรับประทานให้ตรงเวลา เพราะการใช้ยาไม่สม่ำเสมอหรือหยุดใช้ยาก่อนครบกำหนด อาจทำให้เสี่ยงต่อการดื้อยาและส่งผลกระทบต่อการทำงานของไตได้
  • หากลืมรับประทานตามเวลาที่กำหนดให้รับประทานทันทีที่นึกได้ หากใกล้ถึงเวลาแล้ว ให้ข้ามไปรับประทานครั้งต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่า
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง ป้องกันไม่ให้ถูกแสงแดด และใส่ในภาชนะที่ปิดฝาสนิททุกครั้งหลังใช้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Rifampicin

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาไรแฟมพิซินที่พบได้บ่อย คือ แสบร้อนกลางอก เกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร ท้องเสีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดศีรษะ มึนงง อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง เจ็บตามแขนหรือขา มองเห็นผิดปกติ ผิวแดง พฤติกรรมเปลี่ยนไป หรือไม่มีสมาธิ รวมทั้งอาจทำให้สารคัดหลั่งของร่างกายเปลี่ยนเป็นสีแดงอมน้ำตาล เช่น เหงื่อ ปัสสาวะ น้ำลาย น้ำตา เป็นต้น ทั้งนี้ ยาไรแฟมพิซินอาจส่งผลข้างเคียงรุนแรง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการต่อไปนี้

  • มีอาการแพ้ เช่น หายใจลำบาก เป็นลมพิษ ใบหน้า คอ ริมฝีปาก หรือลิ้นบวม
  • มีเลือดออก เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน
  • มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ หนาวสั่น ปวดตามร่างกาย ปวดศรีษะ รู้สึกมึนงง เป็นต้น
  • ท้องเสียรุนแรง ถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลวมีเลือดปน
  • ตับทำงานผิดปกติ ส่งผลให้ปวดท้องส่วนบน รู้สึกเหนื่อย เบื่ออาหาร ปัสสาวะมีสีเข้ม มีภาวะดีซ่าน
  • เกิดความผิดปกติทางผิวหนังอย่างรุนแรง เช่น บวมตามใบหน้า ลำคอ ลิ้น หรือริมฝีปาก รู้สึกแสบร้อนบริเวณตา เจ็บปวดตามผิวหนัง ตามมาด้วยผื่นแดงตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณใบหน้าหรือลำตัวช่วงบน และผิวลอก