ยาคุมกำเนิด (Contraceptive Pill)

ยาคุมกำเนิด (Contraceptive Pill)

ยาคุมกำเนิด (Contraceptive Pill หรือ Birth Control Pill) เป็นยาเม็ดบรรจุฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งออกฤทธิ์ต่อการทำงานของอวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิงอย่างปากมดลูก ผนังมดลูก และรังไข่ ผู้หญิงที่รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดอย่างถูกวิธีสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ได้ 

นอกจากใช้ในการป้องกันการตั้งครรภ์แล้ว ยาคุมที่บรรจุฮอร์โมนเพศยังใช้ในการรักษาผู้ที่มีอาการปวดประจำเดือนมาก ประจำเดือนมามาก กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน และอาการเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ได้อีกด้วย

ยาคุมกำเนิด

ยาคุมกำเนิดแบ่งตามคุณสมบัติได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้ 

1. ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม (Combined Pill)

ตัวยาจะบรรจุฮอร์โมนสังเคราะห์เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ช่วยยับยั้งกระบวนการตกไข่ในเพศหญิง สร้างเมือกที่บริเวณปากมดลูก ทำให้ให้สเปิร์มเข้าไปผสมกับไข่ได้ยากขึ้น และทำให้ผนังมดลูกบาง เพื่อไม่ให้ไข่ฝังตัวที่ผนังมดลูกได้สำเร็จ 

2. ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนตัวเดียว (Progestogen-only Pill) 

ตัวยาจะบรรจุฮอร์โมนโปรเจสโตเจนไว้เพียงชนิดเดียว ยาจะทำให้เกิดการสร้างเมือกหนาบริเวณปากมดลูก ป้องกันไม่ให้สเปิร์มเข้าไปผสมกับไข่ ส่งผลต่อระบบท่อนำไข่ ให้ไข่ผ่านเข้าไปในท่อนำไข่ได้ยากขึ้น และทำให้ผนังมดลูกบางลงจนไม่เอื้อต่อการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว 

ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนตัวเดียวยังถูกแนะนำให้ใช้ในกรณีของผู้หญิงที่ต้องให้นมบุตรและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอย่างลิ่มเลือดอุดตัน เพราะการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมจะได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อทารกผ่านการให้น้ำนมรวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวด้วย

คำเตือนและข้อควรระวังในการใช้ยาคุมกำเนิด

เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยาคุมกำเนิด ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาคุมกำเนิด 
  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนใช้ยาคุมกำเนิดหากมีประวัติทางสุขภาพ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคลิ่มเลือดอุดตัน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง มีเลือดออกมาก ไมเกรนในระยะเตือน โรคเบาหวาน โรคตับ โรคถุงน้ำดี หรือมะเร็งเต้านม 
  • ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาคุมกำเนิดหากอยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะแพทย์อาจแนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับลิ่มเลือดมาก่อนควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาคุมกำเนิด เนื่องจากยาคุมกำเนิดโดยเฉพาะชนิดฮอร์โมนรวมอาจไปเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด หรือภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึก 
  • ผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไปที่สูบบุหรี่ มีน้ำหนักตัวมาก หรือกำลังรับยาหรือการรักษาอื่นอยู่ ไม่ควรใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวม
  • ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนตัวเดียวอาจส่งผลกระทบต่อประจำเดือน เช่น ประจำเดือนอาจมาผิดปกติ มาน้อยลง หรือมาบ่อยขึ้น
  • ผู้หญิงบางรายอาจมีเลือดไหลก่อนถึงรอบประจำเดือนหลังใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนตัวเดียว
  • หากกำลังป่วย คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียอย่างรุนแรง ไม่ควรใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนตัวเดียว 
  • การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดอย่างถูกวิธีสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้

การใช้ยาคุมกำเนิด

ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดด้วยการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด ควรเริ่มรับประทานยาเม็ดแรกในเวลาที่สะดวกและเหมาะสม เพราะต้องรับประทานยาในเวลาเดิมทุกวัน หากมีข้อสงสัย ควรศึกษาข้อมูลบนฉลาก รวมทั้งปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนเริ่มใช้ยา

หากเป็นยาเม็ดคุมกำเนิดแบบ 1 แผง 21 เม็ด ให้รับประทานวันละ 1 เม็ด โดยเริ่มจากเม็ดแรกตามวันในสัปดาห์ที่มีสัญลักษณ์อยู่บนแผง จากนั้นรับประทานเม็ดต่อไปตามลำดับติดต่อกันทุกวัน เมื่อยาหมดแผงให้หยุดรับประทานยา 7 วัน ซึ่งเป็นวันที่ประจำเดือนมา เมื่อเข้าสู่วันที่ 8 ไม่ว่าประจำเดือนจะหมดแล้วหรือไม่ ให้เริ่มรับประทานยาแผงใหม่ต่อไปได้ทันที โดยต้องรับประทานยาทุกวันในเวลาเดียวกันเสมอ

หากลืมรับประทานยาตามเวลาเดิมภายใน 24 ชั่วโมง ให้รับประทานยาเม็ดที่ลืมทันทีที่รู้ตัว แม้จะใกล้กับช่วงเวลาของยาเม็ดต่อไปก็ตาม และรับประทานยาเม็ดต่อไปตามเวลาปกติ แต่หากลืมรับประทานยานานเกินกว่า 48 ชั่วโมง ให้ข้ามไปรับประทานยาตามวันปัจจุบัน และใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นช่วยในการป้องกันหากมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลา 7 วันหลังกลับมารับประทานยา

ส่วนยาเม็ดคุมกำเนิดแบบ 1 แผง 28 เม็ด ให้รับประทานวันละ 1 เม็ด ติดต่อกันทุกวัน เมื่อยาหมดแผง สามารถเริ่มรับประทานยาแผงใหม่ได้ทันที โดยต้องรับประทานยาทุกวันในเวลาเดียวกันเสมอ หากลืมรับประทานยาภายใน 3 หรือ 12 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดของยา ให้รับประทานยาเม็ดที่ลืมทันทีที่รู้ตัว แม้จะใกล้กับช่วงเวลาของยาเม็ดต่อไปก็ตาม

ในกรณีที่ลืมรับประทานยาหลายเม็ด ให้รับประทานเพียงเม็ดเดียว และรับประทานยาเม็ดต่อไปตามเวลาปกติ และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงเวลา 2 วันถัดมา หรือใช้วิธีอื่นช่วยในการคุมกำเนิดด้วย เพราะยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนตัวเดียวจะใช้ระยะเวลา 2 วันในการสร้างเมือกที่หนาเพื่อป้องกันไม่ให้สเปิร์มไปผสมกับไข่ได้

ปฏิกิริยาระหว่างยาคุมกำเนิดกับยาอื่น

ยาคุมกำเนิดอาจทำปฏิกิริยากับยาที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ ยาที่หาซื้อได้เอง วิตามิน หรือสมุนไพรบางชนิดจนก่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์หรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง หากกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เช่น

  • ยาปฏิชีวนะ เช่น ยาไรแฟมพิน (Rifampin) และยาไรฟาบูติน (Rifabutin) 
  • ยาต้านเชื้อไวรัสและยาต้านเอชไอวี เช่น ยาเอฟฟาไวเร็นซ์ (Efavirenz)
  • ยาต้านชัก เช่น ยาคาร์บามาซาปีน (Carbamazepine) ยาออกคาร์บาซีปีน (Oxcarbazepine) หรือยาเฟนิโทอิน (Phenytoin)
  • สมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ต (St. John's Wort)

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาคุมกำเนิด

ปกติแล้วยาคุมกำเนิดมักปลอดภัยต่อร่างกาย แต่ผู้ใช้ยาบางรายอาจพบผลข้างเคียงได้ สำหรับยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนรวมอาจทำให้เกิดอาการ เช่น มีเลือดไหลก่อนรอบประจำเดือน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ ปวดหน้าอก อารมณ์แปรปรวน ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพอย่างลิ่มเลือดอุดตันหรือมะเร็งเต้านม

ส่วนยาเม็ดคุมกำเนิดแบบฮอร์โมนตัวเดียวอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงเช่นกัน เช่น มีเลือดไหลก่อนรอบประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ อารมณ์แปรปรวน สิวอุดตัน น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน ปวดหน้าอก หน้าอกขยายใหญ่ขึ้น ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้นหรือลดลง หรือเกิดถุงน้ำที่รังไข่

ทั้งนี้ ผลข้างเคียงจากการใช้ยาคุมกำเนิดมักดีขึ้นภายใน 2–3 เดือน หากอาการยังคงอยู่หรือพบความผิดปกตินอกเหนือจากที่กล่าวมาควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมและเปลี่ยนไปใช้การคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ