ถุงน้ำในรังไข่

ความหมาย ถุงน้ำในรังไข่

ถุงน้ำในรังไข่ คือ ถุงน้ำหรือซีสต์ที่เกิดขึ้นภายในรังไข่ข้างใดข้างหนึ่งหรือบริเวณรอบ ๆ รังไข่ ส่วนใหญ่จะไม่ทำให้เกิดอาการใด ๆ และสามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษา แต่หากถุงน้ำมีขนาดใหญ่ก็อาจทำให้เกิดอาการ เช่น ปวดท้องน้อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นต้น โดยมักเกิดขึ้นเมื่อรังไข่ผลิตไข่ในช่วงที่ผู้หญิงมีรอบเดือน

อาการของถุงน้ำในรังไข่

ตามปกติถุงน้ำในรังไข่ไม่ได้ทำให้เกิดการป่วย หรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อยและไม่เป็นอันตราย แต่หากถุงน้ำแตกจะมีอาการรุนแรงเกิดขึ้นได้ และในกรณีที่ถุงน้ำมีขนาดใหญ่ ผู้ป่วยอาจมีอาการดังต่อไปนี้ด้วย

  • ปวดแปลบหรือปวดตื้อ ๆ บริเวณท้องส่วนล่างข้างที่เกิดถุงน้ำในรังไข่ โดยอาจปวดแบบเป็น ๆ หาย ๆ
  • ปวดท้องน้อยก่อนหรือในระหว่างที่มีรอบเดือน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสม  
  • ท้องผูก ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอ อิ่มเร็ว
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • ปวดหลังส่วนล่างและบริเวณต้นขา
  • เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
  • เจ็บเต้านม

ทั้งนี้ หากพบว่ามีอาการป่วยที่รุนแรง ซึ่งมักแสดงถึงภาวะที่ถุงน้ำในรังไข่แตกหรือรังไข่บิดขั้ว ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที เช่น ปวดท้องหรือปวดท้องน้อยรุนแรงอย่างฉับพลัน ปวดท้องร่วมกับมีไข้หรืออาเจียน มีไข้ ผิวแตกลอก หายใจเร็ว หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ อ่อนแรง เป็นต้น

1870 ถุงน้ำในรังไข่ rs

สาเหตุของถุงน้ำในรังไข่

ถุงน้ำในรังไข่มักเกิดจากการตกไข่ในกระบวนการมีรอบเดือน และเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงตกไข่ด้วย โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

ถุงน้ำที่รังไข่ (Follicular Cyst)

ช่วงที่ผู้หญิงเกิดรอบเดือน ไข่จะเจริญเติบโตในถุงน้ำที่อยู่ภายในรังไข่ ซึ่งตามปกติถุงน้ำจะแตกออกและปล่อยไข่ออกมา แต่หากถุงน้ำไม่แตกจะส่งผลให้ถุงน้ำนั้นยังคาอยู่ในรังไข่ได้

ถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียม (Corpus Luteum Cyst)

โดยปกติแล้ว ถุงน้ำมักหดตัวหลังจากที่ปล่อยไข่ออกมา แต่หากถุงน้ำไม่แตกและไม่ละลายหายไป จะเกิดการสะสมของเหลวภายในถุงน้ำจนเกิดถุงน้ำคอร์ปัสลูเทียม ซึ่งถุงน้ำชนิดนี้จะหายไปได้เองและไม่เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย

นอกจากนี้ ถุงน้ำในรังไข่อาจเกิดขึ้นได้จากปัญหาสุขภาพหรือปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังนี้

  • มีถุงน้ำที่ไม่ได้เกิดจากรอบเดือน อย่างถุงน้ำเดอร์มอยด์ (Dermoid Cyst) ที่เกิดจากเซลล์ต้นกำเนิดตัวอ่อน ซึ่งจะมีทั้งเส้นขน ผิวหนัง หรือฟันอยู่ภายในถุงน้ำ ซึ่งถุงน้ำนี้มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้ยาก และถุงน้ำซิสตาดีโนมา (Cystadenoma) ที่เกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อของรังไข่ และอาจมีของเหลวหรือเมือกอยู่ภายใน
  • เกิดปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน มีความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกาย รวมถึงการใช้ยาที่ช่วยกระตุ้นฮอร์โมนให้เกิดการตกไข่อย่างยาโคลมีฟีน  
  • เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือ ภาวะที่เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญเติบโตภายนอกมดลูก โดยเนื้อเยื่อจะเกาะติดกับรังไข่จนทำให้เกิดเป็นถุงน้ำขึ้นมา
  • เคยเกิดถุงน้ำในรังไข่ ผู้ป่วยที่เคยมีถุงน้ำในรังไข่มาก่อนมีโอกาสที่จะเผชิญภาวะนี้ได้อีกครั้ง  
  • เผชิญกลุ่มอาการมีถุงน้ำจำนวนมากในรังไข่ (PCOS) คือ ภาวะที่รังไข่มีถุงน้ำขนาดเล็กจำนวนมาก โดยจะส่งผลกระทบต่อรังไข่และทำให้เกิดปัญหาในการตั้งครรภ์ได้ด้วย
  • ติดเชื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานอย่างรุนแรง การติดเชื้อในบริเวณดังกล่าวอาจแพร่กระจายไปยังรังไข่และท่อนำไข่ จนทำให้เกิดถุงน้ำขึ้นมาได้
  • ตั้งครรภ์ การตั้งครรภ์อาจเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดถุงน้ำในรังไข่ได้ เพราะตามปกติถุงน้ำในรังไข่จะเกิดขึ้นเพื่อช่วยในการตั้งครรภ์ระยะแรกจนกว่าร่างกายจะสร้างรกขึ้นมา แต่ในบางครั้งถุงน้ำนั้นอาจยังคงอยู่ในรังไข่ต่อไป

การวินิจฉัย

ในเบื้องต้นแพทย์อาจวินิจฉัยภาวะถุงน้ำในรังไข่ได้ด้วยการตรวจภายใน โดยใช้เครื่องมือตรวจช่วยขยายช่องคลอดให้กว้างขึ้น เพื่อให้แพทย์คลำหาว่ามีก้อนเนื้อหรือความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้นบริเวณช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก และรังไข่หรือไม่ หากตรวจพบว่าผู้ป่วยมีถุงน้ำในรังไข่ แพทย์จะเฝ้าดูอาการและวางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับถุงน้ำชนิดนั้นต่อไป

นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจวินิจฉัยโดยใช้วิธีการต่าง ๆ ดังนี้  

  • การอัลตราซาวด์ เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงจับภาพอวัยวะภายในร่างกาย วิธีการนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถรู้รูปร่าง ขนาด และลักษณะของถุงน้ำ รวมทั้งบริเวณที่เกิดถุงน้ำด้วย   
  • การใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์ ช่วยให้ผู้ป่วยทราบว่าตั้งครรภ์หรือไม่ ซึ่งการตั้งครรภ์อาจเป็นสาเหตุของการเกิดถุงน้ำในรังไข่ได้
  • การตรวจเลือด เป็นการตรวจระดับฮอร์โมนในกระแสเลือด เพื่อหาความผิดปกติของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเกิดถุงน้ำอย่างเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน และยังเป็นการทดสอบปริมาณของสารบ่งชี้มะเร็งรังไข่ (Cancer Antigen 125: CA-125) ในเลือดของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนด้วย โดยผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งรังไข่จะมีค่านี้สูง นอกจากนี้ ผู้หญิงในวัยก่อนหมดประจำเดือนที่มีอาการป่วยด้วยโรคอื่น ๆ ก็อาจมีระดับสารบ่งชี้มะเร็งรังไข่สูงขึ้นได้เช่นกัน

การรักษาถุงน้ำในรังไข่

โดยปกติแล้ว ถุงน้ำในรังไข่จะหายไปได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษา ซึ่งแพทย์อาจตรวจร่างกายซ้ำภายใน 1-3 เดือน เพื่อดูว่าถุงน้ำมีขนาดเล็กลงหรือหายไปหรือไม่ หากถุงน้ำในรังไข่ไม่หายไปเอง แพทย์อาจพิจารณาวิธีรักษาอย่างเหมาะสม เช่น

การใช้ยา

หากผู้ป่วยมีถุงน้ำเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แพทย์อาจให้ใช้ยาคุมกำเนิดหรือยาฮอร์โมน เพื่อยับยั้งการตกไข่และลดโอกาสการเกิดซ้ำ

การผ่าตัดส่องกล้อง

แพทย์จะเจาะรูเล็ก ๆ เหนือหรือต่ำกว่าสะดือ เพื่อส่องดูภายในอุ้งเชิงกรานและนำถุงน้ำออกมา โดยวิธีนี้จะใช้รักษาถุงน้ำที่มีขนาดเล็กและไม่ใช่เซลล์มะเร็ง

การผ่าตัดเปิดหน้าท้อง

ในกรณีที่ถุงน้ำมีขนาดใหญ่และอาจกลายเป็นมะเร็งได้ แพทย์จะเลือกใช้วิธีนี้ในการรักษา โดยจะผ่าตัดเปิดหน้าท้องและนำถุงน้ำออกมา และหากถุงน้ำนั้นมีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง ผู้ป่วยอาจต้องไปพบแพทย์ด้านมะเร็งนรีวิทยาด้วย   

ภาวะแทรกซ้อนของถุงน้ำในรังไข่

ถุงน้ำในรังไข่ส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดอาการใด ๆ และสามารถหายไปได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษา อย่างไรก็ตาม ปัญหาถุงน้ำในรังไข่อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ แม้จะพบได้น้อยมาก เช่น

  • ภาวะรังไข่บิดขั้ว เป็นภาวะที่ถุงน้ำขยายใหญ่จนรังไข่บิด หรือถุงน้ำไปเบียดรังไข่ให้ออกจากตำแหน่งเดิม โดยผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรงขึ้นอย่างฉับพลัน คลื่นไส้ และอาเจียน นอกจากนี้ ภาวะนี้อาจส่งผลให้เลือดที่ไปเลี้ยงรังไข่หยุดไหล หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดปัญหากับเนื้อเยื่อรังไข่ได้
  • ภาวะถุงน้ำในรังไข่แตก หากถุงน้ำในรังไข่แตกจะทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรงและมีเลือดออกภายใน โดยถุงน้ำที่มีขนาดใหญ่จะเสี่ยงต่อการแตกมากกว่าถุงน้ำขนาดเล็ก ซึ่งภาวะนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และอาจมีอันตรายถึงชีวิตหากไม่ได้รับการรักษา
  • มะเร็งรังไข่ มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก อาจเกิดกับผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน โดยแพทย์อาจตรวจพบมะเร็งรังไข่ได้จากการตรวจภายในเป็นประจำ

การป้องกันการเกิดถุงน้ำในรังไข่

เนื่องจากยังไม่มีวิธีใดป้องกันการเกิดถุงน้ำในรังไข่ได้ จึงอาจทำได้เพียงป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการเกิดซ้ำ โดยแพทย์อาจให้ผู้ที่มีถุงน้ำในรังไข่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ใช้ยาฮอร์โมนเพื่อยับยั้งการตกไข่ และผู้หญิงควรไปตรวจภายในเป็นประจำ เพื่อให้แพทย์สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงภายในรังไข่ทั้ง 2 ข้าง ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและวางแผนรักษาได้อย่างรวดเร็วหากตรวจพบอาการป่วยใด ๆ

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีความกังวลใจหรือสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น มีอาการผิดปกติในระหว่างที่มีรอบเดือน ปวดท้องน้อยอย่างต่อเนื่อง เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ ท้องอืด เป็นต้น ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาอาการ