ปวดเอว

ความหมาย ปวดเอว

ปวดเอว (Flank Pain) คืออาการปวดหรือไม่สบายบริเวณท้องด้านบน หลัง หรือด้านข้าง โดยจะเกิดอาการปวดตรงใต้ซี่โครงและเหนือกระดูกเชิงกราน และมักเกิดอาการปวดที่หลังส่วนล่าง ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดทื่อ ๆ หรือปวดอย่างรุนแรง ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นที่เดียวหรือลามไปส่วนอื่นตามร่างกายก็ได้ ซึ่งอาการจะเป็น ๆ หาย ๆ โดยทั่วไปแล้ว อาการปวดเอวมักเป็นสัญญาณของโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ เช่น นิ่วในไต หรือการติดเชื้อที่ไต  

ปวดเอว

อาการปวดเอว

ผู้ที่เกิดอาการปวดเอวมักเกิดอาการปวดตุบ ๆ ปวดบีบ หรือปวดแปลบเหมือนถูกแทงด้วยของมีคม โดยอาการดังกล่าวจะเป็น ๆ หาย ๆ ทั้งนี้ ผู้ที่ปวดเอวอันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับไต มักเกิดอาการอื่นร่วมด้วย ดังนี้

  • ปัสสาวะมีเลือดปนออกมา
  • รู้สึกเจ็บเมื่อปัสสาวะ
  • ไข้ขึ้น
  • มีผื่นขึ้น
  • เวียนศีรษะ
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ท้องผูก
  • ท้องร่วง

ผู้ป่วยควรพบแพทย์ทันที หากเกิดอาการดังกล่าวร่วมกับอาการปวดเอวเรื้อรัง รวมทั้งผู้ที่ปวดเอวมานานและเกิดอาการหรือสัญญาณของภาวะขาดน้ำด้วย เนื่องจากผู้ที่สูญเสียน้ำจากร่างกายออกไปมากจะทำให้อวัยวะ เซลล์ และเนื้อเยื่อทำงานล้มเหลว นำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายจนถึงขั้นช็อคได้ ผู้ที่ประสบภาวะขาดน้ำจะเกิดอาการต่าง ๆ เช่น ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะสีเข้ม ชีพจรเต้นเร็วกว่าปกติ เป็นต้น

นอกจากนี้ หากรู้สึกปวดเอวร่วมกับอาการอื่น และอาการเหล่านั้นแย่ลงเรื่อย ๆ ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที ซึ่งอาการที่ควรรีบไปพบแพทย์ ได้แก่

  • ไข้ขึ้น
  • หัวใจเต้นเร็ว หรือใจสั่น
  • มีเลือดปนมากับปัสสาวะ
  • อาการปวดลามไปที่ท้องน้อยและบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์
  • ปวดอย่างรุนแรงตรงหลังส่วนล่างซึ่งอยู่ใกล้กระดูกสันหลัง
  • รู้สึกเหนื่อยมากกว่าปกติ และเบื่ออาหาร
  • ปวดศีรษะและกล้ามเนื้อกระตุก

สาเหตุของอาการปวดเอว

อาการปวดเอวเกิดได้จากสาเหตุหลายอย่าง โดยสามารถแบ่งอาการปวดเอวออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ อาการปวดเอวที่เกิดขึ้นที่เนื้อไต อาการปวดเอวที่ไม่ได้เกิดขึ้นที่ไต และอาการปวดเอวอื่น ๆ ดังนี้

  • อาการปวดเอวที่เกิดขึ้นที่เนื้อไต อาการปวดเอวกลุ่มนี้เกิดจากเนื้อเยื่อไตอักเสบหรือขาดเลือด  ทั้งนี้ เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่หุ้มรอบ ๆ ไต หรือรีนัลแคปซูล (Renal Capsule) มีขนาดโตขึ้นจากการบวมน้ำ ส่วนเนื้อเยื่อที่มีเลือดออกก็ทำให้เกิดอาการปวดได้ โดยปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับไตที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดเอว ประกอบด้วย กรวยไตอักเสบ ฝีที่ไต ภาวะไตขาดเลือด ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ และเนื้องอกที่ไต โดยมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้
    • กรวยไตอักเสบ โรคนี้ถือเป็นสาเหตุปวดเอวที่พบได้บ่อย โดยผู้ป่วยจะเกิดอาการปวดตุบ ๆ แบบไม่รุนแรง  ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงป่วยเป็นกรวยไตอักเสบและเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคนี้ได้สูง ทั้งนี้ ผู้ที่ป่วยเป็นกรวยไตอักเสบมักเกิดอาการของโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบร่วมด้วย เช่น ปวดเหนือหัวหน่าว ปัสสาวะขัด ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และอาจมีไข้ร่วมด้วย รวมทั้งมักเลี่ยงการเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ เพื่อช่วยให้อาการปวดลดลง  
    • ฝีที่ไต ผู้ป่วยที่มีฝีที่ไตจะเกิดอาการเหมือนโรคกรวยไตอักเสบ แต่อาการดังกล่าวจะรุนแรงกว่าและอาจมีไข้สูง โดยฝีที่ไตเกิดจากการไม่ได้รับการรักษากรวยไตอักเสบให้หายดี หรือติดเชื้อทางกระแสเลือด อย่างไรก็ดี ฝีที่ไตไม่ได้เกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อเท่านั้น แต่อาจเกิดจากไตบวมน้ำได้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงเกิดฝีที่ไตได้สูง
    • ภาวะไตขาดเลือด ภาวะนี้ถือเป็นภาวะที่พบได้ไม่บ่อยนัก โดยเกิดจากไตขาดเลือด ทำให้เนื้อเยื่อตายและนำไปสู่อาการปวดเอวได้ ภาวะไตขาดเลือดมักพบได้ทั่วไปในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) และผู้ที่มีก้อนกดทับเส้นเลือดไต
    • ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ ภาวะนี้เป็นสาเหตุของอาการปวดเอวที่พบได้ไม่บ่อย  โดยเกิดจากลิ่มเลือดอุดตัน หลอดเลือดดำ ทำให้เลือดดำออกจากไตไม่ได้ ส่งผลให้เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่หุ้มรอบไตบวมน้ำและเกิดอาการปวดได้   
    • เนื้องอกที่ไต เนื้องอกจะทำให้เนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่หุ้มรอบไตหรือรีนัลแคปซูลโตหรือบวมขึ้นมาซึ่งก่อให้เกิดอาการปวดเอวได้ นอกจากนี้ เนื้องอกอาจกดเบียดเส้นเลือดไต ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดที่ไตนั้นผิดปกติ ก่อให้เกิดภาวะไตขาดเลือดหรือไตบวมน้ำ
  • อาการปวดเอวที่ไม่ได้เกิดขึ้นที่ไต อาการปวดเอวกลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ เช่น การเกิดนิ่วในไตหรือท่อไต โดยอาการปวดเอวจากนิ่วในท่อไตนั้น เกิดจากท่อไตส่วนต้นขยายเนื่องจากนิ่วอุดตันท่อไต ส่งผลให้ท่อไตบวมและอักเสบหรือขาดเลือดมาเลี้ยงได้ จนนำไปสู่อาการระคายเคืองที่เส้นประสาทบริเวณดังกล่าว  ส่งผลให้เกิดอาการปวดเอว โดยจะยกตัวอย่างปัญหาสุขภาพที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ มาอธิบายพอสังเขป ดังนี้
    • นิ่วในไต หากเกิดนิ่วที่ไตหรือในท่อไต จะทำให้ท่อไตอุดตัน ส่งผลให้ท่อไตส่วนต้นขยายใหญ่ขึ้น และก่อให้เกิดอาการปวดเอว โดยอาการปวดเอวจากนิ่วในไตจะไม่ทำให้ผู้ป่วยไข้ขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดบีบเกร็งที่เอวเป็นพัก ๆ  โดยอาการปวดนั้นลามลงไปถึงหัวหน่าวและมักเกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียนร่วมด้วย ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจมีเลือดปนมากับปัสสาวะ ปัสสาวะออกมาเป็นตะกอนนิ่ว รวมทั้งรู้สึกกดเจ็บเมื่อแพทย์ตรววจร่างกายด้วยการกดหรือเคาะบริเวณเอว
    • ทางเดินปัสสาวะตีบแคบ ผนังทางเดินปัสสาวะตีบแคบอาจเกิดจากนิ่วอุดตันที่ท่อไตและกรวยไต หรือภาวะกระเพาะปัสสาวะอุดกั้น ทั้งนี้ ภาวะทางเดินปัสสาวะตีบแคบอาจเกิดจากการได้รับผลข้างเคียงของกระบวนการทางการแพทย์ เช่น ได้รับการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารหลายครั้ง หรือได้รับบาดเจ็บจากการยิงเลเซอร์ หรือผู้ป่วยอาจประสบภาวะดังกล่าวมาแต่กำเนิด
    • กระเพาะปัสสาวะส่วนคออุดตัน อาการปวดเอวจากภาวะนี้เกิดจากท่อไตและไตเก็บน้ำปัสสาวะไว้มากเกินไป ผู้ป่วยกระเพาะปัสสาวะส่วนคออุดตันมักรู้สึกปวดกระเพาะปัสสาวะและกลั้นปัสสาวะไม่ได้ ทั้งนี้ กระเพาะปัสสาวะอาจขยายขึ้นเฉียบพลัน ส่งผลให้รู้สึกเจ็บปวดร่วมด้วย
  • อาการปวดเอวอื่น ๆ อาการปวดเอวกลุ่มนี้เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อหรือเส้นประสาท ซึ่งมักเป็นปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับการบาดเจ็บกล้ามเนื้อและกระดูก การบาดเจ็บเส้นประสาท การติดเชื้อของอวัยวะบางส่วน หรือโรคเกี่ยวกับทรวงอก โดยมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้
    • การบาดเจ็บกล้ามเนื้อและกระดูก ผู้ที่ยกของหนักมาก ๆ หรือต้องทำกิจกรรมที่ใช้การออกแรงกล้ามเนื้อเป็นเวลานานอย่างสม่ำเสมอ อาจเกิดการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้อหลังและเอวฉีกขาดหรือช้ำได้ โดยจะรู้สึกปวดตุบ ๆ และระบมที่บริเวณกระดูกสันหลังส่วนอกและเอว ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บตรงกระดูกซี่โครงชิ้นที่ 11 หรือ 12 อาจทำให้เกิดอาการปวดเอวรุนแรงและลามไปทั่วคล้ายอาการปวดของโรคนิ่วในไต ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ได้รับบาดเจ็บที่กระดูกซี่โครงเกิดจากการประสบอุบัติเหตุและอาการไอเรื้อรังอย่างรุนแรง
    • การบาดเจ็บเส้นประสาท อาการปวดเอวจากการได้รับบาดเจ็บที่เส้นประสาทเกิดจากรากประสาทตรงกระดูกสันหลังอกส่วนบนหรือกระดูกอกส่วนล่างได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ยังเกิดจากโรคงูสวัด โดยโรคนี้มักทำให้ผิวหนังตามแนวเส้นประสาทพุพองเป็นแผล
    • การติดเชื้อที่อวัยวะภายในช่องท้อง อวัยวะหลังเยื่อบุช่องท้องที่เกิดการติดเชื้อ สามารถทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดเอวตรงบริเวณที่ติดเชื้อได้ ทั้งนี้ หนองหรือฝีที่เกิดจากการติดเชื้อดังกล่าว อาจเกิดจากทางเดินปัสสาวะอักเสบหรือโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
    • โรคเกี่ยวกับทรวงอก ภาวะเยื่อหุ้มปอดอักเสบเกิดได้จากการติดเชื้อ เช่น วัณโรค หรือปอดบวม รวมทั้งสาเหตุอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือลิ่มเลือดอุดกั้นปอด โดยผู้ป่วยจะเกิดอาการปวดแปลบเหมือนถูกแทงด้วยของมีคมที่บริเวณอกและเอว

การวินิจฉัยอาการปวดเอว

แพทย์จะตรวจอาการปวดเอวของผู้ป่วย เพื่อวินิจฉัยสาเหตุของอาการดังกล่าว เบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติการรักษาและอาการของผู้ป่วย โดยแพทย์จะถามเกี่ยวกับอาการปวดเอว ดังนี้

  • ตำแหน่งหรือบริเวณที่เกิดอาการปวดเอว
  • ช่วงที่เริ่มปวดเอว
  • ลักษณะของอาการปวด
  • ความถี่และระยะเวลาที่เกิดอาการ
  • อาการอื่นที่เกิดขึ้นร่วมด้วย

นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจร่างกายโดยกดหรือเคาะเอวหรือบริเวณใกล้เคียงเพื่อตรวจสอบตำแหน่งที่เกิดอาการปวด รวมทั้งตรวจระบบทางเดินปัสสาวะและระบบอื่น ๆ ร่วมด้วย ซึ่งการตรวจเพื่อช่วยประกอบการวินิจฉัยสาเหตุ มีดังนี้

  • ตรวจเลือด แพทย์จะตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของไตและตับ
  • ตรวจด้วยภาพสแกน แพทย์อาจตรวจผู้ป่วยด้วยภาพสแกน โดยแพทย์จะทำอัลตราซาวด์หรือเอกซเรย์ผู้ป่วยเพื่อดูว่าอวัยวะ เนื้อเยื่อ และกล้ามเนื้อภายในร่างกายของผู้ป่วยเกิดความผิดปกติอย่างไร หรือทำซีทีสแกนที่ท้องของผู้ป่วย เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุอาการปวดเอว
  • ส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy) แพทย์จะสอดท่อขนาดเล็กซึ่งติดกล้องเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะผู้ป่วย เพื่อตรวจความผิดปกติภายในกระเพาะปัสสาวะ
  • ตรวจปัสสาวะ แพทย์จะนำตัวอย่างปัสสาวะผู้ป่วยมาตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติเกี่ยวกับไตและกระเพาะปัสสาวะ

การรักษาอาการปวดเอว

ปวดเอวมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพที่หลากหลาย โดยวิธีรักษาปัญหาสุขภาพเหล่านั้นแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกิดอาการปวดเอวสามารถรับการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อบรรเทาอาการดังกล่าวให้ทุเลาลงได้ เบื้องต้นผู้ป่วยทุกรายควรพักผ่อนให้เพียงพอ ผู้ที่ปวดเอวจากกล้ามเนื้อหดเกร็งอาจต้องพักผ่อนควบคู่ไปกับการทำกายภาพบำบัดและการออกกำลังกาย โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะแนะนำวิธีออกกำลังกายที่ผู้ป่วย

สามารถทำได้เองที่บ้าน ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรรับประทานยาพาราเซตามอลหรือยาต้านอักเสบชนิดไม่ผสมสเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drug: NSAIDs) เพื่อลดอาการปวด

ส่วนผู้ที่ปวดเอวอันเนื่องมาจากการอักเสบ การติดเชื้อ หรือข้ออักเสบ จะได้รับการรักษาตามอาการของโรคที่ป่วย ผู้ที่เกิดการติดเชื้อที่ไตหรือทางเดินปัสสาวะ อาจต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยแพทย์จะฉีดยาปฏิชีวนะเข้าทางหลอดเลือดดำ รวมทั้งให้น้ำเกลือและยาแก้ปวดแก่ผู้ป่วย ส่วนผู้ที่ข้ออักเสบจะได้รับยาต้านอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ควบคู่กับการทำกายภาพบำบัด

ผู้ป่วยนิ่วในไตควรรับประทานยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวด รวมทั้งดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อลดจำนวนก้อนนิ่วที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ และช่วยให้ขับก้อนนิ่วออกมาจากไตได้ดีขึ้น ผู้ป่วยบางรายอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดก้อนนิ่ว อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยนิ่วในไตส่วนมากมักไม่ต้องรับการผ่าตัด ผู้ที่มีก้อนนิ่วขนาดใหญ่และไม่สามารถขับก้อนนิ่วออกมาได้ อาจต้องได้รับการสลายนิ่วในไตด้วยคลื่นกระแทก โดยแพทย์จะใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสลายก้อนนิ่วให้มีขนาดเล็กลงจนสามารถเคลื่อนผ่านทางเดินปัสสาวะออกมาได้ ทั้งนี้ หากเกิดอาการปวดเอวอย่างรุนแรงหรือปวดเอวเรื้อรังหลังรับการรักษา ผู้ป่วยควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาทันที

การป้องกันอาการปวดเอว

อาการปวดเอวสามารถป้องกันได้ โดยดูแลตัวเองและปฏิบัติ ดังนี้

  • ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว
  • ควรจำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ดื่มอย่างเหมาะสม
  • หมั่นดูแลสุขอนามัยของตัวเองให้สะอาด และมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยอยู่เสมอ
  • ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง