โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah Virus)

ความหมาย โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah Virus)

Nipah Virus หรือโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ เป็นการติดเชื้อไวรัสที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้หลังจากสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะ โดยเฉพาะหมูและค้างคาวผลไม้ หรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อดังกล่าว ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเกิดอาการทางประบบประสาทอย่างไข้สมองอักเสบเป็นหลัก ซึ่งอาจรุนแรงจนก่อให้เกิดการเสียชีวิตได้  

โรคนี้พบการระบาดครั้งแรกที่ประเทศมาเลเซียในปี พ.ศ. 2541-2542 และพบการระบาดล่าสุดที่ประเทศอินเดีย แม้ในปัจจุบันจะยังไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสนิปาห์ในประเทศไทย แต่ก็ได้วางมาตรการเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสนิปาห์และคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศอินเดียอย่างต่อเนื่อง โดยได้ยกระดับโรคนี้ให้เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อปี พ.ศ. 2558 หากพบผู้ป่วยติดเชื้อจริงต้องรายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใน 3 ชั่วโมง เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดต่อไป

nipah-virus

อาการของ Nipah Virus

ผู้ติดเชื้อไวรัสนิปาห์อาจไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมา แต่บางรายอาจมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่หลังจากเชื้อเข้าสู่ร่างกายไปแล้วประมาณ 4-14 วัน เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ตามมาด้วยอาเจียน เจ็บคอ เวียนศีรษะ ซึมลง การรู้สึกตัวเปลี่ยนไป รวมทั้งอาจมีอาการทางระบบประสาทอย่างไข้สมองอักเสบเฉียบพลันหรือชัก ซึ่งผู้ป่วยที่ชักและเป็นไข้สมองอักเสบอย่างรุนแรงอาจเกิดภาวะโคม่าภายใน 24-48 ชั่วโมง ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ป่วยบางรายยังอาจต้องเผชิญกับปอดบวมหรือมีภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงร่วมด้วย  

สาเหตุของ Nipah Virus

โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในสกุล Henipaviruses วงศ์ Paramyxovidae ซึ่งเข้าสู่ร่างกายได้จากการสัมผัสผิวหนัง มูลสัตว์ และสารคัดหลั่งของสัตว์พาหะนำโรคหรือสัตว์ที่กำลังป่วยโดยตรง โดยเฉพาะหมูและค้างคาวผลไม้ รวมทั้งรับประทานอาหารหรือผลไม้ที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสจากปัสสาวะและน้ำลายของค้างคาวผลไม้หรือจากสัตว์ชนิดอื่นที่สามารถติดเชื้อได้ เช่น แมว สุนัข ม้า แพะ แกะ เป็นต้น 

การวินิจฉัย Nipah Virus

โรคนี้อาจวินิจฉัยเบื้องต้นได้จากการพิจารณาหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น อาการของผู้ป่วยเข้าข่ายไข้สมองอักเสบ มีประวัติเคยสัมผัสสัตว์ที่ติดโรค Nipah Virus โดยเฉพาะค้างคาวและหมู หรือสัตว์อื่นที่มีอาการทางระบบประสาทหรือระบบทางเดินหายใจ เคยรับประทานผลไม้ที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค คลุกคลีกับผู้ป่วยไข้สมองอักเสบมาก่อน หรือมีประวัติเดินทางไปยังสถานที่ที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัส 

โดยการทดสอบหลักที่แพทย์ใช้ในการตรวจวินิจฉัย มีดังนี้

  • วิธี RT-PCR (Real Time Polymerase Chain Reaction)
    แพทย์จะเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยเพื่อนำไปตรวจในห้องปฏิบัติ ได้แก่ น้ำลาย ปัสสาวะ สารคัดหลั่งที่คอหรือโพรงจมูก น้ำไขสันหลัง เลือด รวมไปถึงตัวอย่างชิ้นเนื้อของเนื้อสมอง ปอด ไตและม้าม โดยวิธีนี้อาจรู้ผลการตรวจได้ภายใน 8 ชั่วโมง
  • วิธี ELISA (Enzyme-Linked Immunosorbent Assay)
    โดยให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจเลือด เพื่อตรวจหาแอนติบอดีหรือภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสดังกล่าว

การรักษา Nipah Virus

เนื่องจาก Nipah Virus เพิ่งถูกค้นพบมาได้ไม่นาน ในปัจจุบันจึงยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยเฉพาะ ดังนั้น ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการรักษาตามอาการ ภาวะแทรกซ้อน หรือความผิดปกติอื่น ๆ ของโรคที่เกิดขึ้นตามคำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด

ภาวะแทรกซ้อนของ Nipah Virus

โดยทั่วไป โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบทางเดินหายใจและระบบประสาทที่รุนแรง เช่น ปอดบวม ไข้สมองอักเสบ ชัก โคม่า และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

การป้องกัน Nipah Virus

Nipah Virus ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโดยตรง ในเบื้องต้นจึงทำได้เพียงหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อและแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นโดยไม่รู้ตัวตามคำแนะนำ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสคอกหรือฟาร์มปศุสัตว์ สัตว์ที่ป่วย และสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะหมู และค้างคาวผลไม้ หากมีความจำเป็นควรสวมถุงมือก่อนทุกครั้ง 
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่อาจปนเปื้อนน้ำลาย ปัสสาวะ มูลค้างคาวผลไม้ รวมถึงสารคัดหลั่งของสัตว์อื่นที่เป็นพาหะนำโรค 
  • ควรล้างผลไม้ให้สะอาดและปลอกเปลือกก่อนรับประทานทุกครั้ง หากพบรอยกัดแทะของสัตว์บนผลไม้ไม่ควรเก็บมารับประทาน    
  • ควรล้างมือด้วยสบู่หลังจากสัมผัสกับสัตว์ เนื้อสัตว์ และซากสัตว์ทุกครั้งโดยเฉพาะค้างคาวผลไม้ หมู ม้า แมว แพะ และแกะ
  • ควรล้างมือให้สะอาดหากต้องไปเยี่ยมหรือดูแลผู้ป่วย เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค
  • หากต้องเดินทางไปยังประเทศที่พบการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ ควรหลีกเลี่ยงเมืองที่มีการระบาดโดยตรง โดยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้จากสายด่วนกรมควบคุมที่เบอร์ 1422 หรืออ่านข้อมูลจากการประกาศขององค์การอนามัยโลก
  • หากพบสัตว์มีอาการผิดปกติหรือตายสามารถติดต่อสำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ที่เบอร์โทรศัพท์ 063-225-6888