เวียนหัว ปวดหัวหลังดื่มกาแฟ แพ้คาเฟอีนหรือเปล่า

หลายคนอาจสงสัยว่าตนเองแพ้คาเฟอีน เพราะเคยเจอกับอาการปวดหัว เวียนหัว หรือแม้แต่รู้สึกคลื่นไส้หลังดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน โดยเฉพาะกาแฟ และบางคนอาจเคยพบอาการแบบเดียวกันนี้หลังจากดื่มเครื่องดื่มประเภทอื่น อย่างชาหรือโกโก้ด้วย

คาเฟอีนจัดเป็นสารเคมีและสารอาหารประเภทหนึ่ง พบได้ในพืช อาหาร และเครื่องดื่มมากมาย ทั้งกาแฟ ชา โกโก้ ช็อกโกแลต น้ำอัดลม และอีกหลายเมนู หลายคนทราบกันดีว่า คาเฟอีนและเครื่องดื่มเหล่านี้มักช่วยกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวและเพิ่มสมาธิในการทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเรียน และกิจกรรมอื่น

แพ้คาเฟอีน

ในความเป็นจริง อาการที่เกิดขึ้นหลังดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนเหล่านี้อาจไม่ได้หมายถึงอาการแพ้คาเฟอีนเสมอไป และอาการหรือภาวะแพ้คาเฟอีน (Caffeine Allergy) ก็พบได้ยากมาก ซึ่งในบทความนี้มีข้อมูลเกี่ยวกับอาการแพ้คาเฟอีนและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากดื่มเครื่องคาเฟอีนมาฝากกัน

แพ้คาเฟอีนหรือไวต่อคาเฟอีน?

จุดเด่นของคาเฟอีนคือ เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของสมองและระบบประสาท แต่ขณะเดียวกันก็มีบางคนที่มีอาการปวดหัวหรือเวียนหัวหลังการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน และด้วยอาการที่ไม่พึงประสงค์เหล่านี้จึงอาจทำให้หลายคนคิดว่าตนเองแพ้คาเฟอีนได้

ในความเป็นจริงอาการเหล่านี้อาจไม่ใช่อาการแพ้คาเฟอีน เพราะไม่ใช่ลักษณะของอาการแพ้ แต่เป็นผลกระทบจากอาการไวต่อคาเฟอีน (Caffeine Sensitive) ซึ่งอาการไวต่อคาเฟอีนคือ อาการที่คาเฟอีนสามารถส่งผลต่อสมองและระบบประสาทของคนที่ดื่มได้มากกว่าปกติ เมื่อเทียบกับคนทั่วไปจึงส่งผลให้เกิดอาการปวดหัว เวียนหัว หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น กระวนกระวาย และนอนไม่หลับ

จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์พบว่าคนส่วนใหญ่สามารถรับคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกายได้ประมาณ 400 มิลลิกรัมต่อวัน เทียบเท่ากาแฟราว 3‒5 แก้ว โดยไม่เกิดความผิดปกติ ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณกาแฟ หากได้รับเกินกว่านี้ก็อาจเสี่ยงต่ออาการไวต่อคาเฟอีนได้เช่นกัน

โดยปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมต่อวันนั้นอาจแตกต่างกัน เพราะบางคนอาจไวต่อคาเฟอีนมากกว่าคนทั่วไป การได้รับคาเฟอีนในปริมาณเล็กน้อยก็อาจทำให้เกิดอาการได้

อาการแพ้คาเฟอีนนั้นพบได้น้อยกว่ามาก โดยมีลักษณะเดียวกันกับอาการแพ้อาหาร ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันมองว่าคาเฟอีนที่เข้าสู่ร่างกายว่าเป็นสารอันตราย ระบบภูมิคุ้มกันจึงพยายามกำจัดคาเฟอีนออกจากร่างกายด้วยการหลั่งสารเคมีต่าง ๆ เมื่อสารเคมีเพิ่มสูงขึ้นก็จะส่งผลให้เกิดอาการแพ้ โดยอาการแพ้คาเฟอีนอาจทำให้เกิดอาการ เช่น

  • ผื่นแดงคัน ลมพิษ
  • คัดจมูก น้ำมูกไหล
  • ตาบวมแดง คันตา น้ำตาไหล
  • ผิวหนัง คอ ลิ้น และริมฝีปากบวม

อาการแพ้คาเฟอีนอาจทำให้เกิดอาการแพ้ชนิดรุนแรงที่เรียกว่า ปฏิกิริยาภูมิแพ้รุนแรงหรือแอแนฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) โดยจะพบอาการแพ้ที่รุนแรงขึ้น เกิดร่วมกับอาการหายใจลำบาก หายใจไม่ออก มีหวีดแหลมขณะหายใจ ปวดท้อง ท้องเสีย หรืออาเจียนอย่างรุนแรง เวียนหัว และหมดสติ หากพบอาการหรือสัญญาณของอาการเหล่านี้หลังจากดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน หรืออาหารประเภทอื่น ควรนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที เพราะอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

ไม่ได้ดื่มกาแฟ แต่แค่ได้กลิ่นก็เวียนหัวหรือปวดหัวเกิดจากอะไร?

กาแฟเป็นเครื่องดื่มคาเฟอีนที่ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่บางคนที่ไม่ได้ดื่มกาแฟ แต่แค่ได้กลิ่นก็เกิดอาการเวียนหัวหรือปวดหัวแล้ว ซึ่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์บางส่วนพบว่ากลิ่นของกาแฟอาจส่งผลต่อสมองได้ แต่ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะยืนยันถึงกลไกและผลกระทบจากกลิ่น

การได้กลิ่นกาแฟแล้วเวียนหัวอาจไม่ได้เกิดจากอาการแพ้คาเฟอีนหรืออาการไวต่อคาเฟอีนเสมอไป เพราะลักษณะร่างกายและปัญหาสุขภาพบางอย่างอาจทำให้คนบางคนไวต่อกลิ่นที่มีความเฉพาะจนกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวได้ ดังนั้นหากต้องเผชิญกับอาการปวดหัวหรือเวียนหัวจากการได้กลิ่นกาแฟหรือกลิ่นอื่น ๆ เป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

รับมือกับอาการแพ้คาเฟอีนและอาการไวต่อคาเฟอีนอย่างไร?

วิธีหลีกเลี่ยงอาการผิดปกติหลังดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนสามารถทำได้ดังนี้

1. งดดื่มคาเฟอีนทุกรูปแบบ

หากเคยมีประวัติการแพ้คาเฟอีน เพราะอาจเป็นอันตรายและทำให้เสียชีวิตได้ โดยปกติสำหรับคนที่เคยมีอาการแพ้รุนแรง แพทย์มักจะสั่งจ่ายยาเอพินาเฟรีน (Epinephrine) หรืออะดรีนาลีนในรูปแบบปากกาฉีดยาเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน ร่วมกับสอนวิธีการใช้ที่ถูกต้อง ซึ่งควรพกติดตัวเสมอ

2. อ่านฉลากอาหารและเครื่องดื่มทุกครั้ง

บางครั้งคาเฟอีนอาจไม่ได้มาในรูปแบบของอาหารและเครื่องดื่มคาเฟอีนที่คุ้นเคย แต่อาจผสมมาในเมนูอื่น ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงอาการไม่พึงประสงค์จากคาเฟอีน ควรอ่านฉลากอาหารและเครื่องดื่มทุกครั้ง หากอาหารและเครื่องดื่มไม่มีฉลากก็ควรสอบถามผู้ขายถึงส่วนผสมที่อยู่ภายในเมนูเหล่านั้น

3. ดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนในปริมาณที่เหมาะสม

อย่างที่ได้กล่าวมาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่า ค่าเฉลี่ยของปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมในแต่ละวันของคนส่วนใหญ่อยู่ที่ 400 มิลลิกรัมต่อวัน

ดังนั้นจึงควรควบคุมปริมาณการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนให้เหมาะสม เพื่อป้องกันการได้รับคาเฟอีนเกิน ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการไวต่อคาเฟอีนได้ สำหรับคนที่มีอาการไวต่อคาเฟอีนมากกว่าปกติ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

4. ดื่มเครื่องดื่มดีแคฟ

เครื่องดื่มดีแคฟ (Decaffienated Drink) เป็นเครื่องดื่มที่ผ่านการสกัดเอาคาเฟอีนออก ทำให้หลงเหลือคาเฟอีนในเครื่องดื่มในปริมาณต่ำมาก อย่างไรก็ตาม ควรนึกไว้เสมอว่าเครื่องดื่มดีแคฟก็ยังคงมีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบ และอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้เช่นกัน

5. ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน

คนบางกลุ่มควรปรึกษาแพทย์ก่อนการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน โดยเฉพาะคนที่มีโรคเครียด ภาวะวิตกกังวล โรคไบโพลาร์ โรคเลือด โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคกระดูกพรุน และโรคลำไส้อักเสบ หรือผู้ที่อยู่ระหว่างการใช้ยาเอฟิดรีน (Ephedrine) ยาอะดีโนซีน (Adenisine) ยาทีโอฟิลลีน (Theophylline) และยาปฏิชีวนะ เป็นต้น

นอกจากนี้ หากกำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณคาเฟอีนที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน

อาการแพ้คาเฟอีนและอาการไวต่อคาเฟอีนส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ จึงควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มหรืออาหารที่มีสารดังกล่าว สำหรับคนทั่วไป ควรดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนในปริมาณที่เหมาะสม สำหรับผู้ที่ชอบการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนสูง อย่างชาและกาแฟอยู่เป็นประจำ ควรหาข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวด้วย

สุดท้ายนี้แม้ว่าอาการแพ้คาเฟอีนจะพบได้ยาก แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ ดังนั้น หากพบสัญญาณหรืออาการแพ้หลังได้รับคาเฟอีน เช่น ผื่นแดง ลมพิษ หน้าบวม ปากบวม หายใจไม่ออก หายใจหวีดแหบ หน้ามืด หรือหมดสติ ควรไปพบแพทย์หรือโทรเรียกรถโรงพยาบาลทันที