เอฟีดรีน (Ephedrine)

เอฟีดรีน (Ephedrine)

Ephedrine (เอฟีดรีน) เป็นยาบรรเทาอาการคัดจมูก และอาจใช้ในกรณีอาการหายใจไม่อิ่ม แน่นหน้าอก หรือหายใจมีเสียงหวีดจากโรคหืด ตัวยาจะออกฤทธิ์ช่วยลดอาการบวมของหลอดเลือดภายในโพรงจมูก ขยายทางเดินหายใจปอด ส่งผลให้หายใจสะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังอาจนำยา Ephedrine ไปใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

ปัจจุบัน ยา Ephedrine จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทที่ 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 ทำให้ยาที่่มีส่วนผสมของ Ephedrine จะมีใช้ภายในสถานพยาบาลภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น ไม่มีจำหน่ายตามร้านขายยาทั่วไป 

เอฟีดรีน (Ephedrine)

เกี่ยวกับยา Ephedrine

กลุ่มยา ยาแก้คัดจมูกและยาขยายหลอดลม
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาอาการคัดจมูก อาการจากโรคหืด และภาวะความดันโลหิตต่ำจากการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ เด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาหยดจมูก ยาพ่นจมูก ยาฉีด
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category C จากการศึกษาในสัตว์พบว่า ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรือไม่มีข้อมูลเพียงพอในการศึกษาทดลองในมนุษย์และสัตว์ สตรีมีครรภ์จึงควรใช้ยาเมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่า มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อทารกในครรภ์ เช่นเดียวกันกับสตรีให้นมบุตร เนื่องจากตัวยาอาจซึมผ่านน้ำนมมารดาไปสู่ทารกได้

คำเตือนในการใช้ยา Ephedrine

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา Ephedrine รวมถึงยาและสารอื่น ๆ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยา วิตามิน หรือสมุนไพรทุกชนิดที่ผู้ป่วยกำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้ จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง เช่น ยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blockers) ยากลุ่มเอ็มเอโอไอ (MAOI) ยารักษาโรคหัวใจอย่างยาควินิดีน (Quinidine) ยาแก้หวัดอย่างยาซูโดเอฟีดรีน (Pseudoephedrine)  
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา หากมีประวัติทางสุขภาพ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ เลือด ต่อมลูกหมาก หรือต่อมหมวกไต โรคเบาหวาน ต้อหิน โรคไต โรคความดันโลหิต ชัก โรคหลอดเลือดสมอง ไทรอยด์เป็นพิษ และโรคหืดที่รุนแรง
  • ห้ามใช้ยา Ephedrine หากป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หัวใจเต้นผิดปกติ ปัญหาไทรอยด์ โรคเบาหวาน มีปัญหาการปัสสาวะจากต่อมลูกหมากโตหรือปัญหาหัวใจที่รุนแรง รวมถึงกำลังใช้ยากลุ่มเอ็มเอโอไอในขณะนี้หรือใช้ในช่วง 14 วันที่ผ่านมา อย่างยาเซเลจิลีน (Selegiline) หรือยาฟีเนลซีน (Phenelzine) 
  • ห้ามใช้ยาลดความอ้วนหรือยาลดความอยากอาหารร่วมกับยานี้
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ เพราะตัวยาอาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด  
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนขณะใช้ยานี้
  • หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ ใช้เครื่องจักร หรือทำกิจกรรมที่อาจเสี่ยงอันตราย จนกว่าจะแน่ใจว่ายาไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย เพราะยานี้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเวียนศีรษะได้
  • ผู้ป่วยสูงอายุและเด็กอาจเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงมากกว่าช่วงวัยอื่น 
  • ผู้ปกครองควรดูแลให้เด็กใช้ยาด้วยความระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากยังไม่ทราบเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพที่แน่ชัด

ปริมาณการใช้ยา Ephedrine

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยาดังนี้

อาการคัดจมูก

ตัวอย่างการใช้ยา Ephedrine เพื่อรักษาอาการคัดจมูก

              ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป เริ่มใช้ยาชนิดหยดที่มีความเข้มข้น 0.5% หรือ 1% หยอดจมูกแต่ละข้าง 1–2 หยด สูงสุดวันละ 4 ครั้ง ติดต่อกันนานไม่เกิน 7 วัน หรือใช้ยาชนิดพ่นที่มีความเข้มข้น 0.5% พ่นจมูกแต่ละข้าง 2–3 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ติดต่อกันนานไม่เกิน 3 วัน

              เด็กอายุ 6–11 ปี ใช้ยาชนิดพ่นที่มีความเข้มข้น 0.5% พ่นจมูกแต่ละข้าง 1–2 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ติดต่อกันนานไม่เกิน 3 วัน       

ภาวะความดันโลหิตต่ำจากการฉีดยาชาเข้าน้ำไขสันหลัง    

ตัวอย่างการใช้ยา Ephedrine เพื่อรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำจากการฉีดยาชาเข้าน้ำไขสันหลัง  

              ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี ฉีดยา Ephedrine Hydrochloride เข้าทางหลอดเลือดดำในปริมาณ 3–6 มิลลิกรัม สูงสุดไม่เกิน 9 มิลลิกรัม ทุก 3–4 นาที ปริมาณรวมสูงสุดไม่เกิน 30 มิลลิกรัม หรือฉีดยา Ephedrine Sulfate เข้าทางหลอดเลือดดำในปริมาณ 5–10 มิลลิกรัม ปริมาณรวมสูงสุดไม่เกิน 50 มิลลิกรัม 

การใช้ยา Ephedrine

วิธีการใช้ยาเพื่อความปลอดภัยมีดังนี้

  • ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยไม่เพิ่มหรือลดปริมาณยาด้วยตัวเอง หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
  • รับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้ 
  • ใช้ยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง โดยไม่หยุดใช้ยาด้วยตัวเอง แม้จะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตาม
  • หากผู้ป่วยลืมใช้ยา ให้ใช้ทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า 
  • หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้นภายใน 7 วัน หรือมีไข้สูงขณะใช้ยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • หากผู้ป่วยมีปัญหาในการนอนหลับ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับช่วงเวลาที่เหมาะสมในการใช้ยา
  • การใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดอาจก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ความดันโลหิตสูง มีไข้ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว กระสับกระส่าย มีปัญหาการกดการหายใจ รวมถึงหวาดระแวง หลงผิด และมองเห็นภาพหลอน
  • ห้ามใช้ยาชนิดหยอดจมูกหรือพ่นจมูกร่วมกันกับผู้อื่น เพราะอาจเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค
  • เก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง โดยให้ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด รวมทั้งเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง 

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Ephedrine

หากยาเอฟีดรีนส่งผลให้ผู้ป่วยคลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ จมูกระคายเคือง ปากแห้ง ประหม่า กระสับกระส่าย มีเหงื่อออก อ่อนแรง สั่น ไม่อยากอาหาร กระเพาะอาหารระคายเคือง นอนหลับยาก มีปัญหาในการปัสสาวะ หายใจไม่อิ่ม ใจสั่น หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ หรืออาการเหล่านี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบหรือไปพบแพทย์โดยเร็ว

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาอย่างผื่นคัน ลมพิษ มีปัญหาเรื่องการหายใจ แน่นหน้าอก มีอาการบวมบริเวณปาก ใบหน้า ริมฝีปาก หรือลิ้น และมีปัญหาในการปัสสาวะ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที ยิ่งไปกว่านั้น หากพบความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ก็ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาเพิ่มเติม

โรคที่เกี่ยวข้อง

 

  • โรคหืด
  • คัดจมูก