คัดจมูกตอนกลางคืน รู้จักสาเหตุและวิธีรับมือง่าย ๆ ด้วยตนเอง

คัดจมูกตอนกลางคืน เป็นอาการแน่นจมูก จมูกตัน หรือรู้สึกเหมือนมีอากาศผ่านเข้าหรือออกจากจมูกน้อยกว่าปกติที่มักเกิดขึ้นในตอนกลางคืน โดยอาการนี้อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ภูมิแพ้ ท่าทางการนอน การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน อากาศภายในห้องนอน 

คัดจมูกตอนกลางคืนอาจส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ เนื่องจากผู้ที่มีอาการคัดจมูกมักมีอาการแย่ลงขณะนอน อีกทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติด้านการนอน เช่น นอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive sleep apnea) ดังนั้น การรับมือกับอาการคัดจมูกตอนกลางคืนอย่างถูกวิธีอาจช่วยให้หายใจสะดวก ป้องกันความผิดปกติต่าง ๆ และช่วยให้นอนหลับได้ดียิ่งขึ้น 

คัดจมูกตอนกลางคืน

รู้จักสาเหตุของอาการคัดจมูกตอนกลางคืน

อาการคัดจมูกตอนกลางคืนเกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดบริเวณเยื่อบุจมูกเกิดการอักเสบ ซึ่งการอักเสบเป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งแปลกปลอม เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ฝุ่น หรือสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย โดยการอักเสบอาจส่งผลให้เยื่อบุจมูกบวม และก่อให้เกิดอาการคัดจมูกต่าง ๆ ตามมา เช่น น้ำมูกไหล จาม คันจมูก จมูกตัน แน่นจมูก จมูกไม่ได้กลิ่น 

โดยอาการคัดจมูกตอนกลางคืนอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น 

1. ภูมิแพ้ 

โรคภูมิแพ้อาจเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีการตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ โดยร่างกายอาจปล่อยสารฮิสตามีนที่ส่งผลให้ส่งผลให้เกิดอาการบวม อักเสบ และเกิดอาการคัดจมูกตามมา ซึ่งสารก่อภูมิแพ้ที่อาจนำไปสู่อาการคัดจมูกตอนกลางคืนเนื่องจากภูมิแพ้มีหลายชนิด เช่น รฝุ่นตามหมอนหรือที่นอน ขนสัตว์ ละอองเกสรดอกไม้ เชื้อราตามผนังกำแพงหรือเพดานห้องนอนที่มีความชื้นและค่อนข้างเก่า

2. การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน

การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนตั้งแต่บริเวณจมูกจนถึงคอ เช่น โรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคไซนัสอักเสบ หรือโรคคออักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้เกิดอาการคัดจมูกตอนกลางคืนได้ โดยเชื้อไวัรสหรือเชื้อแบคทีเรียอาจส่งผลให้ทางเดินหายใจบริเวณจมูกอักเสบ และเกิดอาการคัดจมูกตามมา 

3. อากาศภายในห้องนอน

อากาศภายในห้องนอนอาจส่งผลให้เกิดอาการคัดจมูกตอนกลางคืนได้ โดยเฉพาะในห้องนอนที่เปิดเครื่องปรับอากาศ อุณหภูมิในห้องจะเย็นและแห้งกว่าปกติ ซึ่งอาจทำให้จมูกแห้งและเกิดการระคายเคือง และอักเสบได้ ซึ่งการอักเสบอาจทำให้ ร่างกายสร้างน้ำมูก และก่อให้เกิดอาการคัดจมูกได้

นอกจากนี้ อากาศในห้องนอนที่เต็มไปด้วยฝุ่นหรือควัน ก็อาจส่งผลให้เยื่อบุจมูกเกิดการระคายเคือง และทำให้เกิดอาการคัดจมูกตอนกลางคืนได้เช่นกัน

4. ท่าทางการนอน

การนอนอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้รู้สึกคัดจมูกตอนกลางคืน โดยขณะที่กำลังยืนหรือนั่ง แรงโน้มถ่วงอาจทำให้น้ำมูกจากจมูกไหลลงคอ แต่ขณะที่กำลังนอน แรงโน้มถ่วงอาจทำให้เสมหะหรือน้ำมูกไหลย้อนจากคอกลับไปที่จมูก และทำให้เกิดอาการคัดจมูกได้ โดยปัญหานี้มักพบได้บ่อยในผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับโพรงจมูก

นอกจากนี้ การนอนหงายหรือนอนราบไปกับเตียงก็อาจทำให้มีอาการคัดจมูกตอนกลางคืนเช่นกัน ซึ่งอาจเกิดจากการที่เลือดไหลเวียนไปบริเวณครึ่งบนของลำตัว รวมถึงบริเวณจมูกเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีการไหลเวียนเลือดมากขึ้น อาจส่งผลให้หลอดเลือดภายในจมูกบวม อักเสบ และเกิดอาการคัดจมูกได้

5. การใช้ยา

ยาบางชนิดอาจทำให้เกิดอาการคัดจมูกตอนกลางคืนได้ เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาคุมกำเนิด ยาคลายกังวล หรือยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์ (NSAIDs) เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน

วิธีรับมืออาการคัดจมูกตอนกลางคืนด้วยตนเอง

อาการคัดจมูกตอนกลางคืนสามารถรับมือได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาอาการแน่นจมูก หรือหายใจไม่สะดวกได้ เช่น 

  • ยกศีรษะให้สูงขึ้นขณะนอนหลับ โดยอาจใช้หมอนหนุนศีรษะให้สูงขึ้นกว่าเดิมแทนการนอนราบ การนอนในลักษณะนี้อาจช่วยให้หายใจสะดวกยิ่งขึ้น 
  • ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ การล้างจมูกอาจช่วยกำจัดสิ่งที่อุดตันภายในโพรงจมูก และทำให้เกิดอาการคัดจมูกตอนกลางคืน นอกจากนี้ น้ำเกลือยังอาจช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่จมูก ลดการระคายเคือง และช่วยป้องกันไม่ให้น้ำมูกสะสมอยู่ภายในทางเดินหายใจอีกด้วย
  • ใช้แผ่นแปะจมูก การใช้แผ่นแปะบรรเทาอาการจมูกก่อนนอนอาจช่วยเปิดทางเดินหายใจ ทำให้อากาศสามารถเข้าสู่ร่างกายได้มากกว่าเดิม ซึ่งในบางครั้ง อาจช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกตอนกลางคืนขณะนอนหลับได้
  • กินยาแก้แพ้ ยาแก้แพ้อาจช่วยยับยั้งสารฮิสตามีนที่ส่งผลให้เกิดอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม ดังนั้น การกินยาแก้แพ้อาจช่วยบรรเทาอาการเหล่านี้ได้ 

นอกจากการดูแลตัวเองขณะเกิดอาการคัดจมูกตอนกลางคืนแล้ว การดูแลตัวเองระหว่างวันก็สำคัญเช่นกัน ผู้ที่มีอาการคัดจมูก ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ เพราะการดื่มน้ำอาจช่วยลดความเหนียวข้นของน้ำมูกภายในจมูก ซึ่งอาจทำให้สามารถขจัดน้ำมูกออกจากร่างกายได้ง่ายขึ้น 

ทั้งนี้ ควรใช้กระดาษเช็ดน้ำมูกที่ไหลออกมาหรือสั่งน้ำมูกเบา ๆ แทนการสั่งน้ำมูกแรง ๆ เพราะการสั่งน้ำมูกแรงเกินไปอาจทำให้น้ำมูกไหลย้อนขึ้นไปบริเวณไซนัสได้  

หากมีอาการคัดจมูกตอนกลางคืนนานเกิน 1 สัปดาห์ หรือมีอาการผิดปกติต่าง ๆ เช่น หายใจไม่ออก มีไข้สูง น้ำมูกมีสีเขียวหรือสีเหลือง ปวดไซนัสหรือบริเวณรอบดวงตา ระหว่างคิ้ว หน้าผาก และโหนกแก้ม มีน้ำมูกหรือเสมหะปนเลือดหรือปนหนอง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสมเพื่อป้องกันไม่อาการรุนแรงยิ่งขึ้น