จมูกตัน รู้จักสาเหตุและวิธีบรรเทาอาการที่ได้ผล

อาการจมูกตันหรือคัดจมูก เป็นภาวะที่รู้สึกเหมือนมีสิ่งอุดตันติดอยู่ในจมูกจนหายใจได้ไม่สะดวก มักเกิดขึ้นเมื่อเราเป็นไข้หวัด หรือเมื่อร่างกายมีอาการแพ้ต่อบางสิ่ง เช่น สภาพอากาศ ฝุ่น เกสรดอกไม้ ส่งผลให้เกิดอาการคัดจมูก ระคายเคืองในจมูก น้ำมูกไหล ไอ จาม และหายใจลำบาก ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดการอักเสบที่รุนแรงมากขึ้นได้

โดยปกติอาการจมูกตันจะดีขึ้นภายใน 2–3 วัน แต่อาจนานกว่านั้นหากมีการติดเชื้อร่วมด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดความรำคาญหรือส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ อย่างไรก็ตาม วิธีการรักษาอาการจมูกตันที่ปลอดภัยและได้ผลมีอยู่หลายวิธี และวิธีส่วนใหญ่คุณสามารถทำได้เองง่าย ๆ ที่บ้านด้วย

จมูกตัน

สาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการจมูกตัน

อาการจมูกตันสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยแตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละคน โดยสาเหตุที่มักทำให้เกิดอาการจมูกตัน มีดังนี้

1. อาการภูมิแพ้

อาการภูมิแพ้เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ เช่น เชื้อโรค หรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย โดยการผลิตเมือกในระบบทางเดินหายใจเพื่อดักจับสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดอาการน้ำมูกไหล คัดจมูก และจมูกตันตามมา อาการภูมิแพ้สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศ มลภาวะ ฝุ่น ไรฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ รวมถึงสะเก็ดผิวหนังของสัตว์เลี้ยงด้วย

2. อาการไข้หวัด 

ไข้หวัดตามฤดูกาลทั่วไป รวมถึงโรคระบาดที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจอย่างโรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคโควิด (COVID-19) มักเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการจมูกตันได้ โดยส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อภายในจมูก และมีอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ เป็นไข้ ปวดศีรษะ หรือปวดเมื่อย

3. อาการไซนัสอักเสบ

ไซนัสอักเสบคืออาการอักเสบบริเวณโพรงอากาศที่อยู่ด้านหน้าของกระโหลกศีรษะหรือใบหน้าบริเวณหน้าผาก แก้ม และจมูก สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส หรือสารก่อภูมิแพ้อื่น ๆ อย่างฝุ่น ควัน หรือสะเก็ดผิวหนังของสัตว์ โดยไซนัสอักเสบจะทำให้เกิดอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล จมูกตัน และรู้สึกปวดแบบตื้อ ๆ แน่น ๆ บริเวณใบหน้าด้วย

4. ภาวะผนังกั้นช่องจมูกคด (Deviated Septum)

ภาวะผนังกั้นช่องจมูกคดอาจเป็นความผิดปกติแต่กำเนิดที่เกิดขึ้นบริเวณกระดูกและกระดูกอ่อนที่เป็นผนังกั้นจมูกทั้งสองข้าง หรืออาจเกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้ได้รับกระแทกอย่างรุนแรงบริเวณจมูกก็ได้เช่นกัน โดยภาวะนี้จะทำให้เกิดอาการจมูกตัน คัดจมูก ปวดจมูก ปวดศีรษะ เลือดกำเดาไหล หรือเกิดปัญหาในการหายใจตามมาได้ 

5. อาการริดสีดวงจมูก (Nasal Polyp)

ริดสีดวงจมูกเกิดจากการอักเสบของเยื่อบุโพรงจมูกหรือไซนัส จนเกิดเนื้องอกที่มีลักษณะเป็นก้อนบวมขึ้นมาภายในโพรงจมูก ริดสีดวงจมูกอาจไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด แต่เมื่อริดสีดวงจมูกมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จะทำให้เกิดอาการคัดจมูกมากขึ้นจนเกิดอาการจมูกตัน และส่งผลต่อการหายใจ การรับรู้กลิ่น หรือการรับรู้รสชาติตามมา 

6. ภาวะจมูกอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากภูมิแพ้ (Vasomotor Rhinitis)

ภาวะจมูกอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากภูมิแพ้ อาจเกิดขึ้นจากสารกระตุ้นบางอย่างที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองในโพรงจมูก เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ความเครียด การใช้ยาบางชนิด การรับประทานอาหารรสเผ็ด หรือการดมกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ทำให้เกิดอาการคล้ายโรคภูมิแพ้ คือมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล รวมถึงอาการจมูกตันตามมา

6 วิธีง่าย ๆ ช่วยบรรเทาอาการจมูกตันได้ด้วยตัวเอง

เมื่อเกิดอาการจมูกตันขึ้น วิธีการเหล่านี้อาจสามารถช่วยบรรเทาอาการได้

1. อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด

การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาดจะช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ จนทำให้เกิดอาการจมูกตันตามมา เช่น การทำความสะอาดที่นอนและเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยจำกัดไรฝุ่นที่อาจทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้ รวมถึงการใช้เครื่องฟอกอากาศเพื่อกำจัดฝุ่น PM 2.5 และช่วยให้อากาศที่เราต้องหายใจเข้าสู่ร่างกายมีความสะอาดมากขึ้น

2. เพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ร่างกาย

การเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ร่างกายสามารถช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกและอาการจมูกตันได้ โดยวิธีที่ง่ายที่สุดคือการดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ซึ่งร่างกายของคนเราจะต้องการน้ำในปริมาณที่แตกต่างกันออกไปตามน้ำหนักตัว นอกจากนี้ หากพักอาศัยในห้องปรับอากาศ การใช้เครื่องทำความชื้นก็สามารถช่วยให้อากาศในห้องไม่แห้งเกินไป และทำให้ร่างกายสามารถคงความชุ่นชื้นเอาไว้ได้

3. ประคบร้อน

การประคบร้อนสามารถช่วยบรรเทาอาการจมูกตันได้ โดยนำผ้าชุบน้ำอุ่นบิดให้หมาด จากนั้นนำมาวางบริเวณจมูก แก้ม และหน้าผากทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที เพราะความร้อนจะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ช่วยบรรเทาอาการอักเสบหรืออาการระคายเคืองที่เกิดขึ้นจากอาการจมูกตัน นอกจากนี้ การอาบน้ำอุ่นก็สามารถช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกได้เช่นกัน

4. ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือจะช่วยทำความสะอาดโพรงจมูก ทำให้น้ำมูกที่เหนียวข้นอยู่ภายในอ่อนนุ่มลง และจำกัดออกไปได้ง่าย รวมถึงช่วยกำจัดสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองภายในโพรงจมูกด้วย การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเองโดยใช้น้ำเกลือทางการแพทย์ที่สะอาด ปราศจากการปนเปื้อน และในปัจจุบันก็มีอุปกรณ์ล้างจมูกแบบสำเร็จรูปด้วยเช่นกัน

5. รับประทานอาหารบางชนิด

อาหารบางชนิดอาจสามารถช่วยบรรเทาอาการจมูกตันได้ โดยเฉพาะอาหารหรือเครื่องดื่มร้อน ๆ อย่างต้มซุปไก่ ชาร้อน หรือน้ำขิง โดยงานวิจัยพบว่าต้มซุปไก่อาจช่วยบรรเทาอาการอักเสบในโพรงจมูกที่เกิดจากไข้หวัดได้ อีกทั้ง ไอความร้อนจากอาหารหรือเครื่องดื่มเหล่านี้ สามารถช่วยให้หายคัดจมูกและหายใจได้โล่งขึ้นด้วย

6. รับประทานยาที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป

ยาที่สามารถหาซื้อได้ตามร้ายขายยาทั่วไปหลายชนิดสามารถช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกได้ ไม่ว่าจะเป็นยาแก้คัดจมูกหรือยาแก้แพ้ เช่น ยาลอราทาดีน (Loratadine) อย่างไรก็ตาม ควรรับประทานยาตามคำแนะนำบนฉลาก หรือคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอัตรายต่อสุขภาพตามมา

แม้ว่าอาการจมูกตันโดยส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง และสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ข้างต้น แต่หากมีอาการจมูกตันนานเกิน 2 สัปดาห์ หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น มีไข้สูงนานเกิน 3 วัน เจ็บคออย่างรุนแรง มีอาการไอต่อเนื่อง มีอาการบวมบริเวณข้างจมูก ดวงตา หรือหน้าผาก และมีปัญหาในการหายใจ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสม