ฝุ่น PM 2.5 ภัยร้ายใกล้ตัวที่ควรรู้วิธีรับมืออย่างเหมาะสม

ในปัจจุบันนี้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ถือว่าเป็นปัญหาที่มีความรุนแรงในประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือของประเทศที่มีฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน การรู้วิธีรับมืออย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ ผู้สูงอายุ และเด็ก

ฝุ่น PM 2.5 (Particulate Matter 2.5) เป็นฝุ่นขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร จัดเป็นมลพิษทางอากาศที่พบมากในปัจจุบัน โดยฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทยส่วนใหญ่เกิดจากไฟป่า การเผาขยะในที่โล่ง การทำโรงงานอุสาหกรรมอย่างโรงงานโม่หินและโรงงานปูน การก่อสร้าง การจราจร รวมถึงฝุ่นหรือหมอกควันที่พัดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน

ฝุ่น PM 2.5 ภัยร้ายใกล้ตัวที่ควรรู้วิธีรับมืออย่างเหมาะสม

ฝุ่น PM 2.5 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีภาวะสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจอย่างโรคภูมิแพ้หรือโรคหอบหืดเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีสุขภาพดี ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ รวมถึงอาจสะสมจนนำไปสู่การเกิดโรคที่ร้ายแรงหรือเรื้อรังอื่น ๆ ตามมาได้ด้วย

ฝุ่น PM 2.5 กับผลกระทบต่อสุขภาพ

เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า สามารถลอยอยู่ในอากาศได้นาน และอาจมีสารพิษปะปนมาพร้อมกับฝุ่น จึงอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้หลายประการ 

การสูดดมฝุ่น PM 2.5 ในระยะสั้น อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น

  • อาการไอ 
  • จาม 
  • น้ำมูกไหล 
  • ปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ 
  • กระตุ้นให้เกิดอาการภูมิแพ้หรือโรคหืด (Asthma) ในบางคน

ส่วนในระยะยาว การสูดดมฝุ่น PM 2.5 อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น

  • ปอดทำงานผิดปกติ 
  • ผู้ที่มีโรคทางระบบทางเดินหายใจหรือโรคหัวใจและหลอดเลือดมีอาการแย่ลง 
  • สตรีมีครรภ์เสี่ยงต่อการแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนด 
  • เด็กทารกมีพัฒนาการที่ผิดปกติ

วิธีรับมือกับฝุ่น PM 2.5 ง่าย ๆ ด้วยตัวเอง

เนื่องจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลงหรือหายไปอย่างถาวร และฝุ่น PM 2.5 ก็สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้อย่างมากมาย ดังนั้นเราจึงควรป้องกันตัวเองเท่าที่ทำได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นขณะที่ใช้ชีวิตอยู่ภายนอกอาคาร หรือเมื่อใช้ชีวิตอยู่ภายในอาคาร เช่น ที่พักอาศัย ออฟฟิศ โดยวิธีรับมือกับฝุ่น PM 2.5 อย่างเหมาะสม มีดังนี้

1. เมื่ออยู่ภายนอกอาคารหรือที่เปิดโล่ง ควรสวมหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานและระบุชัดเจนว่าสามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ เช่น หน้ากากอนามัย N95 หรือ KF94 เพราะหน้ากากอนามัยแบบทั่วไปหรือประเภทกันซึม (Surgical Mask) อาจไม่สามารถป้องกันฝุ่นที่มีขนาดเล็กมากได้ 

2. หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัดหรือมีการจราจรคับคั่ง และหากต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูง ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ภายนอกบ้านและลดการทำกิจกรรมกลางแจ้งให้น้อยลง 

3. หากต้องการออกกำลังกายควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้หายใจแรงหรือเร็วมาก เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน และการเล่นฟุตบอล เพราะอาจทำให้ต้องหายใจเอาฝุ่นเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น และไม่ควรสวมหน้ากากอนามัย N95 ขณะออกกำลังกายเพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อการขาดออกซิเจน

4. หลีกเลี่ยงการเผาใบไม้ ขยะ หรือกระดาษเงินกระดาษทองในพื้นที่โล่งแจ้งแม้จะเป็นขยะหรือกิ่งไม้กองเล็ก ๆ ก็ตาม เพราะการเผาสิ่งเหล่านี้สามารถทำให้เกิดฝุ่นละอองในอากาศมากขึ้น 

5. หากที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูง ควรปิดประตูและหน้าต่างเพื่อป้องกันไม่ให้ละอองฝุ่นจากภายนอกเข้ามาในบ้าน 

6. ติดตามรายงานค่าฝุ่น PM 2.5 จากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือทุกวัน เพื่อช่วยในการวางแผนการใช้ชีวิตให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM 2.5

7. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่หรือการประกอบอาหารที่ต้องใช้ฟืนหรือถ่าน เพื่อช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอากาศ 

8. หมั่นทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านให้สะอาดและปราศจากฝุ่นอยู่เสมอ รวมถึงควรใช้เครื่องดูดฝุ่นที่มีแผ่นกรอง HEPA (High Efficiency Particulate Air) เพราะสามารถดักจับฝุ่น ควัน ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ หรือสิ่งแปลกปลอมในอากาศได้ดีกว่าแผ่นกรองทั่วไป 

9. ใช้อุปกรณ์หรือตัวช่วยในการลดปริมาณฝุ่นภายในบ้าน เช่น เครื่องฟอกอากาศ หรือต้นไม้ฟอกอากาศขนาดเล็ก

10. หากออกไปข้างนอกบ้าน เมื่อกลับถึงบ้านควรเปลี่ยนเสื้อผ้าและนำเสื้อผ้าไปซักทันที รวมถึงควรล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ฝุ่นหรือมลภาวะเข้าสู่ร่างกายอีกทางหนึ่ง

แม้ว่าฝุ่น PM 2.5 จะเป็นภัยร้ายขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ก็สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราได้อย่างใหญ่หลวง อย่างไรก็ตาม หากเราทราบเกี่ยวกับความอันตรายของฝุ่น PM 2.5 และปฏิบัติตามวิธีการป้องกันอย่างเหมาะสมอยู่เสมอ ก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 ได้

นอกจากนี้ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ หายใจมีเสียงหวีด หรือหายใจลำบาก อาจเป็นอาการที่มีสาเหตุมาจากฝุ่น PM 2.5 จึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม