คัดจมูก

ความหมาย คัดจมูก

คัดจมูก (Nasal Congestion) เป็นภาวะที่รู้สึกมีสิ่งอุดตันอยู่ภายในจมูกจนทำให้หายใจได้ไม่สะดวก ส่วนมากเกิดจากการอักเสบและบวมขึ้นของเยื่อบุในทางเดินจมูกและโพรงอากาศข้างจมูก โดยเกิดขึ้นได้เป็นปกติทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ มักไม่ร้ายแรง เพียงแต่จะสร้างความรำคาญ ทั้งนี้หากเป็นอาการคัดจมูกในทารกนั้นต้องระวัง เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการหายใจหรือการให้นมได้

คัดจมูก

สาเหตุของอาการคัดจมูก

อาการคัดจมูกอาจเกิดจากสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้เกิดความระคายเคืองหรืออักเสบที่เนื้อเยื่อในจมูก เช่น การติดเชื้อ สารก่อภูมิแพ้ หรือโรคต่าง ๆ มักพบว่าสาเหตุที่ทำให้มีอาการคัดจมูก ได้แก่

  • การติดเชื้อโรคหวัดและโรคติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ และไซนัสอักเสบ
  • โรคภูมิแพ้ ซึ่งอาจมีอาการคัดจมูก ร่วมกับน้ำมูกไหล จาม คันตา เป็นต้น
  • ริดสีดวงจมูก เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุภายในจมูกและโพรงจมูก ทำให้มีก้อนเนื้อนิ่ม ๆ ยื่นออกมากีดขวางจนมีอาการหายใจไม่สะดวกได้
  • เยื่อจมูกอักเสบเรื้อรัง

ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจพบได้ เช่น

  • มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในจมูก เช่น ฝุ่น ละอองเกสรดอกไม้ 
  • การได้รับบาดเจ็บที่จมูก
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด
  • ภาวะที่มีการคั่งของน้ำมูกหลังจากหยุดใช้ยาลดน้ำมูก
  • มีเนื้องอกที่โพรงจมูกหรือภายในจมูก
  • ต่อมอะดีนอยด์บวม คือต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่งที่อยู่ด้านหลังโพรงจมูก เมื่อเกิดการอักเสบหรือบวมขึ้นจะทำให้มีอาการหายใจลำบากตามมาได้

นอกจากนี้ อาการคัดจมูกยังสามารถเกิดขึ้นได้ในระหว่างการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วงปลายไตรมาสแรกหรือเดือนที่ 3 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและเลือดที่มาเลี้ยงที่เพิ่มมากขึ้นจนทำให้เยื่อจมูกเกิดการอักเสบ แห้ง หรือมีเลือดออกได้

การวินิจฉัยอาการคัดจมูก

แพทย์มักวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการคัดจมูกด้วยการซักถามอาการและตรวจร่างกายเบื้องต้น ซึ่งโดยมากจะไม่จำเป็นต้องรับการตรวจใด ๆ เป็นพิเศษ แต่หากไม่พบสาเหตุของอาการคัดจมูกที่แน่ชัดหรืออาการยังไม่ดีขึ้นหลังให้การรักษา ก็อาจต้องส่งตรวจเพิ่มเติมกับแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูก

รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้เพื่อรับการตรวจภูมิแพ้หรือตรวจเลือด และเป็นไปได้ว่าแพทย์เฉพาะทางด้านหู คอ จมูกอาจใช้กล้องส่องตรวจดูบริเวณหลังจมูก หรือบางครั้งก็ต้องมีการตรวจด้วยการถ่ายภาพซีทีสแกน (CT Scan) หรือเอมอาร์ไอสแกน (MRI Scan) หากสุดท้ายยังไม่พบสาเหตุของอาการคัดจมูกที่เกิดขึ้น

การรักษาอาการคัดจมูก

อาการคัดจมูก นอกจากจะก่อให้เกิดความรำคาญแล้ว ยังอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอาการเจ็บป่วยที่แฝงอยู่ และแม้โดยทั่วไปอาการที่เกิดขึ้นจะไม่ร้ายแรงอะไร แต่ในกรณีต่อไปนี้ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

  • อาการคัดจมูกที่เป็นมานานมากกว่า 10 วัน
  • มีไข้สูงร่วมด้วยนานกว่า 3 วัน
  • มีน้ำมูกเป็นสีเหลืองหรือเขียว พร้อมกับมีอาการเจ็บโพรงจมูกหรือมีไข้ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อแบคทีเรียและจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
  • มีเลือดออกปนมากับน้ำมูกหรือมีน้ำมูกใส ๆ ไหลอย่างต่อเนื่องหลังได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ
  • เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 เดือนที่มีอาการคัดจมูกร่วมกับมีไข้
  • ทารกที่มีอาการคัดจมูกหรือมีน้ำมูกไหลจนเป็นอุปสรรคต่อการให้นมหรือทำให้หายใจได้ลำบาก
  • ผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแออยู่แล้ว เช่น โรคหอบหืด หรือโรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น
  • คัดจมูกหรือรู้สึกแน่นจมูกเพียงข้างเดียว
  • มีอาการคัดจมูกจนไม่สามารถนอนได้ หรือมีภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจขณะนอนหลับ

การดูแลรักษาตนเอง

อาการคัดจมูกโดยทั่วไปอาจบรรเทาได้ด้วยการดูแลรักษาตนเองตามข้อปฏิบัติต่อไปนี้

  • สั่งน้ำมูกออกมาเบา ๆ เพื่อให้จมูกโล่งขึ้น
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อช่วยให้น้ำมูกไม่จับตัวเหนียวและปิดกั้นโพรงจมูก
  • อาการคัดจมูกในเด็กทารกและเด็กเล็กที่มาจากน้ำมูกที่เหนียวข้นหรือน้ำมูกแห้งให้หยดน้ำเกลือปราศจากเชื้อปริมาณเล็กน้อยเข้าไปในจมูก จากนั้นใช้ลูกยางที่สะอาดดูดเอาน้ำมูกออกมาเบา ๆ
  • ใช้น้ำเกลือล้างจมูกเพื่อให้โพรงจมูกชุ่มชื้น ไม่แห้ง ช่วยขจัดน้ำมูกให้เบาบางลง ชะล้างสิ่งแปลกปลอม สารก่อภูมิแพ้ และอาจช่วยลดการสะสมของเชื้อโรคในโพรงจมูก ซึ่งน้ำเกลือล้างจมูกควรเป็นน้ำเกลือที่ผ่านการฆ่าเชื้อ ใส ไม่มีสี บรรจุในขวดใสเพื่อมองเห็นสิ่งแปลกปลอมในขวดได้ง่าย ส่วนอุปกรณ์สำหรับล้างจมูก อย่างไซรินจ์ ภาชนะรอง และจุกล้างจมูก จะต้องสะอาด หลังการล้างจมูก ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ด้วยการล้าง ตากให้แห้ง และเก็บในที่สะอาดทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงสารก่อความระคายเคืองที่อาจกระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ยิ่งขึ้น เช่น ไรฝุ่น ควันบุหรี่ และอากาศที่เปลี่ยนแปลงกะทันหัน อย่างฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือฝุ่น PM 2.5
  • ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นบิดให้หมาดวางบนใบหน้า เป็นการช่วยเปิดโพรงจมูกที่แน่น เพื่อให้หายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • หายใจโดยอังหน้ากับไอจากหม้อน้ำร้อนจะช่วยให้หายใจได้อย่างเป็นปกติ ทำประมาณ 5–10 นาที
  • ยกศีรษะให้สูงขึ้นจากปกติระหว่างการนอนหลับในเวลากลางคืนจะทำให้หายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • ใช้เครื่องให้ความชุ่มชื้นในบ้าน (Humidifier)

การรักษาด้วยการใช้ยา

อาการคัดจมูกสามารถบรรเทาลงได้ด้วยการใช้ยาตามร้านขายยาทั่วไป อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรและอ่านฉลากให้ละเอียดทุกครั้งก่อนใช้ยารักษาอาการคัดจมูกต่อไปนี้

  • ยาทาที่มีส่วนผสมของการบูร เมนทอล หรือยูคาลิปตัส ใช้ทาบริเวณหน้าอกช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก ทำให้หายใจได้คล่อง แต่ไม่ควรใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี
  • ยาแก้คัดจมูกชนิดเม็ดหรือน้ำเชื่อม ถือเป็นยาชนิดที่ปลอดภัยหากจำเป็นต้องใช้ติดต่อเป็นเวลานาน ที่นิยมใช้กัน ได้แก่ ยาซูโดอีเฟดรีน (Pseudoephedrine) และฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine)
  • ยาพ่นจมูก เช่น ยาเอฟีดรีน (Ephedrine) และออกซีเมตาโซลีน (Oxymetazoline) สามารถช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกได้ดี แต่ไม่ควรใช้ติดต่อนานเกิน 5–7 วัน เพราะหากใช้นานกว่านี้อาจทำให้เกิดการคั่งของน้ำมูกหลังหยุดใช้ได้ และหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ส่วนเด็กอายุ 6–12 ปีอาจใช้ยานี้ได้เป็นเวลานานสุด 5 วัน หากไม่มีการรักษาวิธีอื่น ๆ ที่ได้ผล
  • ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก เป็นยาใช้บรรเทาอาการคัดจมูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีสาเหตุมาจากภูมิแพ้หรือริดสีดวงในจมูก ยานี้จะช่วยลดอาการบวมภายในจมูก ปลอดภัยต่อเด็กและผู้ใหญ่ และการใช้ยาควรได้รับการดูแลจากแพทย์หากใช้ติดต่อเป็นเวลานาน
  • ยาแก้แพ้ ในกรณีที่สาเหตุเกิดจากโรคภูมิแพ้ เช่น มีอาการคัดจมูกร่วมกับมีน้ำมูกใส ๆ ไหลอย่างต่อเนื่อง จาม คันหรือน้ำตาไหล การใช้ยาแก้แพ้ เช่น ยาลอราทาดีน (Loratadine) หรือเซทิริซีน (Cetirizine) จะช่วยลดอาการอื่น ๆ ของโรคที่เกิดขึ้นได้ในคราวเดียว นอกจากนี้ยารักษาโรคหวัดบางชนิดก็อาจพบว่ามีส่วนผสมของยาแก้แพ้เช่นกัน ทั้งนี้ยาแก้แพ้ควรรับประทานตอนกลางคืนก่อนนอนเพราะอาจมีผลข้างเคียงทำให้รู้สึกง่วงนอนได้
  • ยาบรรเทาอาการปวด แม้ว่าจะไม่ช่วยบรรเทาอาการคัดจมูก แต่ยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอล ไอบูโพรเฟน หรือนาพรอกเซนสามารถใช้รับประทานเพื่อช่วยลดอาการเจ็บปวดที่เกิดจากโพรงจมูกอักเสบได้