รู้จักกับแอสไพริน ยาแก้ปวดที่หลายคนเลือกใช้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แอสไพรินเป็นหนึ่งในยาแก้ปวดยอดนิยมที่นำมาใช้บรรเทาอาการปวด ลดไข้ หรืออาการอักเสบทั่วไป ทว่าหลายคนอาจขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ยาอย่างถูกต้องและเหมาะสม จึงมักเป็นเหตุให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือเสี่ยงต่อผลข้างเคียงหลังการใช้ยา

แอสไพรินอยู่ในกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ซึ่งออกฤทธิ์ยับยั้งสารเคมีในร่างกายที่ก่อให้เกิดอาการอักเสบ ทำให้อาการปวด บวม และไข้ลดลง และยังจัดเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดเนื่องจากคุณสมบัติช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือด

แอสไพริน

จากคุณสมบัติในข้างต้น แอสไพรินจึงเป็นยาที่ช่วยลดไข้ บรรเทาอาการปวดและอาการอักเสบ อาทิ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดฟัน ปวดศีรษะ ไข้หวัด และข้ออักเสบ รวมทั้งนำมาใช้รักษาหรือป้องกันลิ่มเลือด ภาวะหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะเจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือดโดยอยู่ภายใต้คำสั่งจากแพทย์ผู้ดูแล 

ข้อควรรู้ก่อนการใช้แอสไพริน

แอสไพรินเป็นยาที่มีข้อจำกัด ข้อควรระวัง และผลข้างเคียงไม่น้อย จึงควรศึกษาหรือขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยา เพื่อเพิ่มเปอร์เซ็นต์ความปลอดภัยในการใช้ให้มากขึ้น โดยรายละเอียดทั่วไปที่ควรรู้มีดังนี้

1. ข้อจำกัดของแอสไพริน 

แอสไพรินไม่ได้เหมาะกับคนทุกวัยและทุกสภาพร่างกาย ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางประการจึงไม่ควรรับประทานยานี้ อาทิ อาการแพ้แอสไพรินหรือยาตัวอื่นในกลุ่มเอ็นเสด โรคหอบหืด โรคเลือดอย่างโรคเลือดไหลไม่หยุด มีประวัติเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ รวมไปถึงสตรีมีครรภ์ในระยะท้ายและผู้ที่ให้นมบุตรเนื่องจากตัวยาอาจส่งผลต่อแม่และทารกในระหว่างการคลอด และอาจซึมผ่านน้ำนมแม่ไปสู่ลูกน้อยจนเป็นอันตราย 

การใช้แอสไพรินในเด็กควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะเด็กมีอายุต่ำกว่า 12 ปี และในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่มีปัญหาสุขภาพ อย่างโรคอีสุกอีใส ไข้หวัด มีไข้ มีอาการป่วยที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือเพิ่งได้รับการฉีดวัคซีนไม่ควรรับประทานแอสไพริน เพราะตัวยาอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตแต่พบได้น้อยมาก อย่างกลุ่มอาการราย (Reye’s Syndrome) ซึ่งอาจสังเกตได้จากการเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมร่วมกับอาการคลื่นไส้และอาเจียน

2. ข้อควรระวังขณะใช้แอสไพริน

การใช้แอสไพรินร่วมกับยาตัวอื่น ๆ อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อกันหรือทำให้เกิดผลข้างเคียง ก่อนใช้ยาจึงควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชทราบเกี่ยวกับยาหรือสมุนไพรใด ๆ ที่กำลังใช้อยู่ โดยเฉพาะ

  • ยากลุ่มเอ็นเสด อย่างยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ที่อาจทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดของยาแอสไพรินลดลง
  • ยาแก้ปวด ยาแก้แพ้ และยาแก้หวัดบางชนิด ที่อาจมีส่วนผสมของยาแอสไพรินหรือยาในกลุ่มเอ็นเสดอยู่ด้วย ทำให้ผู้ป่วยรับประทานยาซ้ำซ้อนจนร่างกายอาจได้รับยาเกินขนาด
  • ยาต้านเศร้าหรือยารักษาโรคซึมเศร้า เพราะหากรับประทานร่วมกับยาในกลุ่มเอ็นเสดอาจทำให้ผู้ป่วยมีรอยฟกช้ำหรือมีเลือดออกง่ายขึ้น
  • ยาอื่น ๆ อย่างยาต้านการแข็งตัวของเลือดและยากลุ่มซาลิไซเลต (Salicylates)

นอกจากนี้ ควรจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่ขณะใช้แอสไพรินด้วย เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงของการมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร

3. ปริมาณการใช้แอสไพริน

ปริมาณยาที่เหมาะสมของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน เพราะขึ้นอยู่กับอายุ อาการที่เกิดขึ้น หรือดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา อีกทั้งยายังมีหลายรูปแบบให้เลือกใช้ อาทิ ยาเม็ด ยาเม็ดชนิดเคี้ยว และยาเหน็บทางทวารหนัก แต่สำหรับการลดไข้และบรรเทาอาการปวดทั่วไปจะแนะนำให้รับประทานยาชนิดเม็ด ปริมาณ 300–900 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง โดยปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 4 กรัมต่อวัน  

4. วิธีใช้แอสไพริน 

สิ่งสำคัญในการรับประทานแอสไพรินคือ ควรอ่านฉลากยาอย่างถี่ถ้วนและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด ไม่ควรปรับปริมาณยาด้วยตัวเองหรือใช้ติดต่อกันนานเกินกว่าที่แพทย์กำหนดหรือที่ระบุบนฉลากยา เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกายมากที่สุด 

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรรับประทานยาพร้อมมื้ออาหารเพื่อป้องกันการระคายเคืองกระเพาะอาหาร และไม่ควรรับประทานยาแอสไพรินที่มีกลิ่นคล้ายน้ำส้มสายชู เนื่องจากตัวยาอาจเสื่อมประสิทธิภาพ

5. ผลข้างเคียงของแอสไพริน 

การใช้แอสไพรินอาจทำให้ท้องไส้ปั่นป่วน แสบร้อนกลางอก ง่วงซึม หรือปวดศีรษะเล็กน้อย แต่หากมีอาการแย่ลงหรืออาการไม่หายไปควรแจ้งให้แพทย์ทราบ ในกรณีที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงซึ่งอาจพบได้น้อย ควรหยุดใช้ยาแล้วไปพบแพทย์โดยเร็ว โดยผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจพบได้ เช่น 

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก เวียนศีรษะอย่างรุนแรง อาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ เป็นต้น 
  • ฟกช้ำหรือมีเลือดออกได้ง่าย 
  • หูอื้อ รู้สึกสับสน หลอน 
  • หายใจเร็ว  
  • คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดท้องอย่างรุนแรง
  • เหนื่อยล้าโดยไม่ทราบสาเหตุ เวียนศีรษะ 
  • ปัสสาวะเป็นสีเข้ม ดีซ่าน
  • มีสัญญาณการมีเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดหรือมีลักษณะคล้ายยางมะตอย ไอเป็นเลือด หรืออาเจียนมีสีกาแฟ มีปัญหาในการพูด ร่างกายอ่อนแรงครึ่งซีก เป็นต้น
  • มีไข้นานเกินกว่า 3 วัน หรือมีอาการปวดหรือบวมนานเกินกว่า 10 วัน  
  • ชัก

ผู้ป่วยสามารถเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในการใช้แอสไพรินได้ เพียงแค่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยา และทำตามคำแนะนำที่ได้รับอย่างเคร่งครัด ในกรณีที่ยาใช้ไม่ได้ผล อาการของผู้ป่วยไม่ดีขึ้นหรือมีความผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น ควรหยุดใช้ยาแล้วไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาโดยเร็ว