ดีแคฟ กาแฟคาเฟอีนต่ำทางเลือกใหม่ของคอกาแฟ

กาแฟ เครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างมากด้วยรสชาติและกลิ่นที่มีความโดดเด่น รวมถึงสรรพคุณช่วยกระตุ้นร่างกายให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่า แต่สารคาเฟอีนจากการดื่มกาแฟในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ ดีแคฟ หรือกาแฟคาเฟอีนต่ำจึงอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการจำกัดปริมาณคาเฟอีน บทความนี้ได้รวบรวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ดีแคฟ ตัวเลือกใหม่สำหรับคอกาแฟมาให้ได้ศึกษากัน

ดีแคฟ ย่อมาจาก Decafeiented หรือ Decaf coffee ใช้เรียกกาแฟที่ผ่านกระบวนการสกัดเอาคาเฟอีนออกจนเหลือปริมาณเพียงเล็กน้อย ซึ่งอาจใช้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ชื่นชอบรสชาติกาแฟแต่ต้องการควบคุมปริมาณคาเฟอีน อย่างผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางชนิด รวมทั้งผู้ที่ดื่มกาแฟหลายแก้วต่อวัน ให้สามารถดื่มด่ำกับรสชาติกาแฟได้

ดีแคฟ

กาแฟดีแคฟต่างจากกาแฟปกติอย่างไร ?

กาแฟคาเฟอีนต่ำผ่านกระบวนการสกัดคาเฟอีน ซึ่งลดปริมาณคาเฟอีนลงได้ถึง 97 เปอร์เซ็นต์ โดยหากถ้าเปรียบเทียบกัน การดื่มกาแฟปกติในปริมาณ 12 ออนซ์จะได้รับคาเฟอีนประมาณ 180 มิลลิกรัม แต่หากเป็นดีแคฟ ปริมาณคาเฟอีนจะเหลืออยู่ประมาณ 5.4 มิลลิกรัมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การสกัดคาเฟอีนไม่เพียงแต่ลดปริมาณคาเฟอีนลงเท่านั้น แต่ยังทำให้สารอาหารที่มีประโยชน์อื่น ๆ ลดลงด้วยเช่นกัน

ในด้านของรสชาติ กลิ่น หรือสีของกาแฟนั้นอาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างเล็กน้อย เช่น รสชาติหรือความเข้มที่อ่อนลง สีที่แตกต่างไปจากเดิม เป็นต้น โดยการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของรสชาติหรือกลิ่นของกาแฟอาจขึ้นอยู่กรรมวิธีที่ใช้สกัดคาเฟอีน

กาแฟดีแคฟดีกว่ากาแฟปกติจริงหรือไม่ ?

การดื่มกาแฟที่ไม่ผ่านการสกัดคาเฟอีนออกอาจช่วยให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์มากกว่ากาแฟดีแคฟ เนื่องจากกาแฟโดยทั่วไปอุดมไปด้วยสารอาหารและสารต้านอนุมูลอิสระซึ่งเชื่อกันว่ามีส่วนช่วยในการทำงานร่างกาย ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคตับแข็ง โรคพาร์กินสัน และโรคมะเร็งหลายชนิด นอกจากนี้ สารคาเฟอีนในกาแฟยังช่วยให้สมองปลอดโปร่งและตื่นตัว ปรับสมดุลด้านอารมณ์ เพิ่มความสามารถด้านความจำ กระตุ้นการเผาผลาญของร่างกาย และลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้บริโภคที่มีโรคประจำตัวหรือภาวะความเจ็บป่วยที่จำเป็นต้องควบคุมปริมาณคาเฟอีน กาแฟดีแคฟอาจเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับการดื่มกาแฟได้

กลุ่มคนที่ควรดื่มกาแฟดีแคฟแทนกาแฟปกติมีใครบ้าง ?

แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อไปนี้ให้หลีกเลี่ยง ควบคุม หรือเลือกดื่มกาแฟคาเฟอีนต่ำแทนกาแฟปกติ

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว
    เนื่องจากคาเฟอีนอาจกระตุ้นให้อาการของโรคกำเริบหรือรุนแรงขึ้นได้ โดยโรคหรือภาวะผิดปกติที่ควรเลี่ยงหรือลดคาเฟอีน เช่น โรคเกี่ยวกับการนอนหลับ โรคไมเกรนหรือโรคปวดหัวเรื้อรังชนิดอื่น โรควิตกกังวล โรคกรดไหลย้อน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ภาวะความดันโลหิตสูง และผู้ที่มีแผลในกระเพาะ เป็นต้น 
  • ผู้ที่กำลังใช้ยารักษาโรค
    คาเฟอีนและยารักษาโรคบางชนิดอาจทำปฏิกิริยาต่อกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือส่งผลให้ยาไม่สามารถออกฤทธิ์รักษาได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกลุ่มยากระตุ้นที่ออกฤทธิ์เร่งการทำงานของระบบประสาท กลุ่มยาปฏิชีวนะ และกลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด 
  • เด็กและสตรีมีตั้งครรภ์
    ทารก เด็ก และหญิงตั้งครรภ์ควรจำกัดการดื่มกาแฟหรือการรับคาเฟอีนในรูปแบบต่าง ๆ เนื่องจากอาจส่งผลต่อเด็กหรือทารกในครรภ์ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากคาเฟอีนขณะตั้งครรภ์ได้ นอกจากนี้ ยังรวมถึงคุณแม่ที่กำลังให้นมบุตรเนื่องจากคาเฟอีนอาจเข้าสู่กระแสเลือดและส่งผ่านน้ำนมไปยังทารกได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากาแฟดีแคฟจะมีปริมาณคาเฟอีนที่ต่ำมาก แต่ก็อาจเป็นอันตรายได้หากร่างกายอยู่ในภาวะที่ไม่พร้อมหรือไวต่อคาเฟอีน ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

กาแฟดีแคฟปลอดภัยหรือไม่ ?

กาแฟดีแคฟและกาแฟปกตินั้นมีคาเฟอีนเหมือนกัน เพียงแต่ปริมาณคาเฟอีนในกาแฟดีแคฟจะต่ำกว่ามาก ผลกระทบที่อาจได้รับจากการดื่มจึงลดลงตามไปด้วย ทั้งกาแฟปกติหรือกาแฟคาเฟอีนต่ำหากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมย่อมปลอดภัยต่อร่างกาย ในทางตรงกันข้ามหากรับประทานมากเกินไปก็อาจเป็นอันตรายได้เช่นกัน สำหรับปริมาณที่มากเกินไปในที่นี้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล โดยเฉพาะผู้ที่ไวต่อคาเฟอีน นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยบางส่วนที่พบว่าคาเฟอีนอาจเพิ่มความเสี่ยงจากโรคนอนไม่หลับ โรควิตกกังวล รวมทั้งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างปวดศีรษะ หน้ามืด กระสับกระส่าย หรือตัวสั่นได้หลังดื่มกาแฟ

นอกจากนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดจากการรับประทานกาแฟควรบริโภคโดยหลีกเลี่ยงการผสมน้ำตาลหรือครีมเทียมเพิ่ม เนื่องจากอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคอ้วน ภาวะไขมันสูง ภาวะน้ำตาลสูง และโรคอื่น ๆ ได้

สุดท้ายนี้ คนทั่วไปควรได้รับคาเฟอีนไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่า กาแฟปกติ 1-2 แก้ว โดยกาแฟ 1 แก้วอาจมีคาเฟอีนประมาณ 150 มิลลิกรัม แต่ก็อาจแตกต่างกันไปตามชนิดกาแฟ กรรมวิธีการผลิต และวิธีการชง